10 ก.ค. เวลา 23:45
ขออนุญาตแชร์ค่ะ ข่าวจากเมืองเชียงใหม่
ย่อหน้ารองสุดท้ายพูดถึงเศรษฐกิจไทย
ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจในเชียงใหม่ทยอยกันปิดร้านกันหลายแห่ง เมื่อขับรถผ่านจะเห็นป้ายเซ้งร้านขึ้นอยู่ตามสองข้างทาง รวมทั้งใน Facebook Group กลุ่ม เซ้งธุรกิจในเชียงใหม่ เซ้งร้านเชียงใหม่ เซ้งกิจการ มีคนออกมาโพสต์ประกาศเซ้งร้านเฉลี่ยวันละมากกว่า 10 ร้าน บางร้านเป็นร้านที่ดังมาก ๆ และเปิดมานาน บางร้านก็พึ่งเปิดตัวได้ไม่กี่เดือน แต่ก็ปิดกิจการอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าช่วงนี้ผ่านไปทางไหน ก็เจอร้านเดิม ๆ ปลิวหาย แล้วก็ขึ้นป้ายให้เช่าแทนร้านเดิม
จากการนับโพสต์ปล่อยเซ้งร้านภายใน กลุ่ม เซ้งธุรกิจในเชียงใหม่ เซ้งร้านเชียงใหม่ เซ้งกิจการ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2567 พบว่ามีจำนวนกว่า 194 ร้าน ที่มีการปล่อยเซ้ง โดยสาเหตุหลักคือ ไม่มีเวลาดูแลร้าน ไปทำงานต่างประเทศ มีปัญหาสุขภาพ
ย้ายสถานที่ และขยายกิจการ โดยมีข้อสังเกตอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจคือร้านค้าส่วนใหญ่ที่ปล่อยเซ้งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจและเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของนักท่องเที่ยว อาทิ ย่านนิมมานเหมินทร์บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนท่าแพ ย่านช้างม่อย ย่านเจ็ดยอด เป็นต้น
ซึ่งอาจจะต้องมองภาพให้กว้างกว่าตัวเลขร้านที่ปล่อยเซ้ง 194 ร้าน เนื่องจากจำนวน 194 ร้าน นั้นนับแค่ 1 เดือน และจาก 1 กลุ่มเฟสบุ๊ค ซึ่งยังมี Facebook Group เซ้งร้านอีกหลายกลุ่ม รวมไปถึงการปล่อยเซ้งร้านบนพื้นที่ Offline ที่ยังมีอีกหลายร้านที่ไม่ได้มีการนับจำนวน
อาจจะเป็นสัญญาณที่น่ากังวล หากอิงตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุล่าสุดเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ทั้ง 17 จังหวัดทั่วภาคเหนือได้มีการจดทะเบียนเลิกกิจการไปแล้ว 190 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 285.51 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือมีการปิดตัวกิจการไปแล้ว 926 ราย
แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 487 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด 438 ราย ห้างหุ้นส่วนสามัญ 1 ราย โดยจังหวัดเชียงใหม่ มีการปิดกิจการมากที่สุดในภาคเหนือ 362 ราย แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 232 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด 129 ราย และห้างหุ้นส่วนสามัญ 1 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567)
“หม่าล่ามาก็จบ จบก็เซ้ง เซ้งไป ๆ มา ๆ ร้านกาแฟมันก็อยู่ 3 เดือน 6 เดือน ก็ไป พี่ว่าปัญหามันอยู่ที่แลนด์ลอร์ดมันขึ้นค่าเช่าตลอดเวลา ซึ่งก็คือคนเก่าแก่คนเชียงใหม่ที่ไปอยู่แม่ริม อยู่สันผีเสื้อ แล้วเขาก็ปล่อยเช่า เดือน 20,000 30,000 40,000 50,000 โดยไม่สนใจอยู่แล้วว่าคุณจะรอดหรือไม่รอด”
จากการพูดคุยกับผู้ที่ประกอบธุรกิจในเชียงใหม่ ได้ความคิดเห็นว่าต่อให้ทำร้านดี ลูกค้าเยอะ หรือยอดขายมากเท่าไหร่ แต่สุดท้ายชะตากรรมก็อยู่ที่แลนด์ลอร์ดหรือเจ้าของที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่หรือเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ เพราะถ้าแลนด์ลอร์ดขึ้นค่าเช่าแบบพรวดพราด ธุรกิจก็สามารถปิดตัวไปได้ ซึ่งเจ้าของธุรกิจหลายคนกำลังประสบพบเจออยู่ในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม แม้หลายร้านจะทยอยปิดกิจการของตัวเองไป แต่กลับมีร้านอยู่ประเภทหนึ่งที่ทยอยเปิดสวนกระแสเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งก็คือร้านอาหารจีน ในบทความสัญญาณแห่งอนาคตจังหวัดเชียงใหม่ 2023
ระบุว่านักลงทุนจีนเข้ามาครอบครองธุรกิจจำนวนมากในเชียงใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม-ที่พัก ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจขนส่งหรือโลจิสติกส์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีข้อมูลตัวอย่างว่านักลงทุนจีนรวมตัวกัน 5-6 คน ลงขันราว 240-280 ล้านบาทเพื่อมาซื้อกิจการโรงแรมที่ย่านถนนท่าแพ รวมทั้งสร้างโรงแรมขนาดเล็ก ทั้งนี้ การเปิดกว้างให้ตลาดผู้ซื้อชาวจีนเข้ามามีบทบาทสำคัญในปัจจุบันอาจมีความเสี่ยงในอนาคต เพราะมีแนวโน้มที่จะเกิดการกระจุกตัวของรายได้จากการใช้จ่ายของคนจีนไปที่ธุรกิจที่ยึดครองโดยคนจีนเอง
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาถดถอยอย่างต่อเนื่อง (โดยมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น การปิดตัวของธนาคารใหญ่ในต่างประเทศ ความซบเซาของตลาดทุนและสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ และการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำและบิทคอยน์)
ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ธุรกิจจึงต้องปรับตัวเพื่อลดต้นทุนและรักษากำไร รวมทั้ง ต้องเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงแบบก้าวกระโดด จนมาถึงของผู้ค้าอย่างประเทศจีน ที่ทำให้แข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก
แท้จริงแล้ว อาจจะไม่ใช่แค่เชียงใหม่ที่เป็นเมืองปราบเซียน หรือปราบเพียงผู้ประกอบการรายย่อย แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันอาจกำลังปราบทุกคน..
อ่าน เชียงใหม่ไม่ได้ปราบแค่เซียน แต่ปราบทุกคน ได้ที่ https://www.lannernews.com/08072567-02/
เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน
โฆษณา