12 ก.ค. เวลา 02:16 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

ยูเรนัส 2324 : “เศรษฐกิจอวกาศ” ภาพฝันของคนไทยที่อาจไม่ไกลเกินเอื้อม

“ถ้าวันหนึ่ง คนที่เรารักต้องจากเราไป แล้วอีกคนที่ยังอยู่นั้นจะอยู่ที่แห่งไหน”
ยูเรนัส 2324 เป็นหนังเรื่องแรกของไทยแนวไซไฟอวกาศ ที่พาเราไปเห็นอาชีพที่เด็กไทยอาจจะเคยฝันถึงแต่ไม่เคยเอื้อมถึงอย่าง “นักบินอวกาศ” และยังเลือกให้ตัวละครหญิงเป็นนักบินอวกาศซึ่งลบภาพจำแบบเดิมๆ ว่าผู้หญิงจะเป็นนักบินอวกาศไม่ได้ไปอย่างสิ้นเชิง
การออกไปสำรวจอวกาศ ดูเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เห็นได้จากหลายประเทศ และบริษัทหลายแห่งก็ให้ความสนใจในการลงทุนกับเศรษฐกิจอวกาศ โดยมีการลงทะเบียนดาวเทียมในวงโคจรกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ทั้งจากภาครัฐและเอกชน
กลุ่มประเทศ G20 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่รวมกันเท่ากับ 90% ของเศรษฐกิจโลก ถือได้ว่าเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญ สำหรับงบประมาณรัฐในการวิจัยและนวัตกรรมในอวกาศ กลุ่มประเทศเหล่านี้มุ่งหวังที่จะพยายามทำความเข้าใจถึงภาคส่วนอวกาศ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการดำเนินนโยบายให้เกิดเป็นเศรษฐกิจอวกาศที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
1
ในวันนี้ Bnomics จึงอยากจะมาเล่าเรื่องเศรษฐกิจอวกาศ ที่แม้จะดูเหมือนอยู่นอกโลก แต่ก็ไม่ได้ไกลตัวเราเลย โดยเราจะเล่าเรื่องนี้ผ่านหนังเรื่องยูเรนัส 2324 หนังไซไฟอวกาศที่ตั้งต้นจากคอนเซ็ปง่ายๆ ว่า “ถ้าวันหนึ่ง คนที่เรารักต้องจากเราไป แล้วอีกคนที่ยังอยู่นั้นจะอยู่ที่แห่งไหน”
🚀เศรษฐกิจอวกาศ คืออะไร?
เศรษฐกิจอวกาศ (Space economy) ถูกนิยามไว้ว่าคือ “กิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรที่สร้างและให้ประโยชน์แก่มนุษยชาติในแง่ของการสำรวจ, การเข้าใจ, การบริหารจัดการและใช้อวกาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ซึ่งขอบเขตกว้างไปกว่าแค่เรื่องของการผลิตในอวกาศ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงผลกระทบที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ และบริการทางอากาศ ตลอดจนความรู้ในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบหลักๆ คือ
อุตสาหกรรมขั้นต้น (Upstream sector) ประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนา, การผลิตและลงมือทำ
อุตสาหกรรมขั้นปลาย (Downstream sector) ประกอบด้วย การดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ และในส่วนของผลิตภัณฑ์และบริการทางฝั่งภาคพื้นดินที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลดาวเทียม
กิจกรรมที่สืบเนื่องมาจากกิจกรรมที่เกี่ยวกับอวกาศ เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภาคส่วนอวกาศ ไปยังภาคส่วนยานยนต์หรือการแพทย์
🚀รายได้เชิงพาณิชย์ของเศรษฐกิจอวกาศ
จากรายงานของ OECD ประมาณการว่ารายได้เชิงพาณิชย์ทั่วโลกจากภาคส่วนอวกาศอยู่ที่ราวๆ 2.8 - 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากบริการทางด้านดาวเทียมเชิงพาณิชย์ คิดเป็นมูลค่าราว 1.26 - 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นกับสัญญาณโทรคมนาคมของดาวเทียม ส่วนรายได้ที่ใหญ่รองลงมา คือ รายได้จากอุปกรณ์สำหรับผู้บริโภค ซึ่งผู้ที่ควบคุมตลาดนี้ ก็คือบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เช่น อุปกรณ์ และชิปเซ็ตเพื่อรับสัญญาณระบุตำแหน่ง, จานรับสัญญาณดาวเทียม
จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ ประมาณการว่าเพียงแค่สหรัฐฯ ประเทศเดียว ระบบ GPS สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมถึงกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่เริ่มใช้งานในช่วงทศวรรษ 1980
แต่กิจกรรมทางอวกาศที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบในวงกว้างที่มากกว่ารายได้เชิงพาณิชย์เพียงเท่านั้น เนื่องจากเทคโนโลยีทางอวกาศต่างๆ ได้ก่อให้เกิดผลพลอยได้ (Spillover effect) ต่อหลายๆ ภาคส่วนทางเศรษฐกิจ อาทิ เกษตรกรรม, การคมนาคม และสิ่งแวดล้อม
ผลประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางอวกาศ
จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางอวกาศไปในหลายแขนง ผลกระทบของเทคโนโลยีทางอวกาศจึงยิ่งมากเป็นทวีคูณ อย่างหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเลยคือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ GDP ผ่านทางการจ้างงาน ,รายได้, และก่อให้เกิดนวัตกรรมต่อยอดใหม่ๆ
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางอวกาศถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเกี่ยวกับอวกาศ (Space-related official development assistance) ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเกี่ยวกับการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และระบบให้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์แก่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกไกล และแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา โดยมีกลุ่มประเทศ G20 เป็นผู้ให้เงินช่วยเหลือองค์กรนี้เป็นมูลค่ากว่า 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่ช่วงปี 2000 - 2018
นอกจากนี้ยังมีโครงการ SERVIR ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง NASA และ USAID ที่ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก เพื่อมาช่วยบริการจัดการสภาพแวดล้อมให้แก่ประเทศกำลังพัฒนากว่า 30 ประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร, ความปลอดภัยทางสุขภาพ, พัฒนาระบบตอบสนองต่อภัยธรรมชาติ, บริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงแก้ปัญหาดิน และสภาพอากาศที่แปรปรวน
ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานบนอวกาศยังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนระบบการทำงานต่างๆ ที่คนในสังคมใช้กัน อาทิ โทรคมนาคม, การเงิน, และสาธารณูปโภค อย่างในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทางด้านผู้ผลิตและหน่วยงานด้านอวกาศ ต่างก็ทำหน้าที่อย่างแข็งขันผ่านการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์, จัดหาที่จัดเก็บ รวมถึงจัดทำแบบจำลองและงานวิจัยที่จำเป็น ช่วยสร้างระบบเชื่อมโยงโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล และนำระบบออนไลน์มาปรับใช้กับการเรียนการสอน
🚀บทบาทของรัฐบาลกับการลงทุนในภาคส่วนอวกาศในอนาคต
รัฐบาลยังคงมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องในภาคส่วนอวกาศตั้งแต่ตอนเริ่มต้น นโยบายเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศส่วนใหญ่ประกอบด้วยการให้เงินทุนแก่ภาคเอกชนและนักวิชาการ และช่วยเหลือในด้านกลไกการจัดซื้อ ทั้งนี้ความช่วยเหลือก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ โดยงบประมาณที่จัดไว้สำหรับภาคส่วนอวกาศนี้จะคิดเป็นราวๆ 0.1 - 0.2% ของ GDP ประเทศในประเทศที่มีการใช้จ่ายในด้านอวกาศสูงๆ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาเติมเต็มในการพัฒนาภาคส่วนอวกาศเช่นกัน
ภาพจินตนาการในหนังเรื่อง ยูเรนัส 2324 ทำให้เราเห็นว่า คนไทยยังคงมีภาพฝันถึงการไปอวกาศ ไปปักธงชาติไทยบนอวกาศสักครั้ง และหากรัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาทางอวกาศ สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางอวกาศ ในอีกหลายปีต่อจากนี้ สักวันหนึ่งเรื่องราวของอวกาศกับประเทศไทยอาจไม่ใช่เพียงภาพฝันอีกต่อไป
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
โฆษณา