11 ก.ค. 2024 เวลา 13:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ข้อเสนอในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศลาว

ได้อ่านบทความของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ได้เขียนเกี่ยวกับลาวเมื่อกลางปี 2023 ไว้ได้อย่างน่าสนใจครับ โดยผู้ใหญ่ท่านนั้นได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในลาวขณะนี้ และแนวทางแก้ไขที่ world bank แนะนำ และตัวท่านเองก็ได้แนะนำเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ลาวต้องเข้าโครงการ IMF เพราะกังวลว่าการต้องทำมาตรการตามที่ IMF แนะนำอาจจะส่งผลให้ลาวฟื้นตัวช้า
1
หลังจากได้อ่านบทความดังกล่าว ผมเลยมีแนวคิดเพิ่มเติมที่คิดว่าน่าจะเป็นผลดีกับประเทศลาว ทั้งนี้ผมขอนำบางส่วนของบทความดังกล่าวมาเรียบเรียงไว้ ณ ที่นี้ และขอเติมความเห็นส่วนตัวเข้าไปดังนี้ครับ
จากบทความ
อาการทางเศรษฐกิจของลาวในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา
1. ค่าเงินกีบ/บาทลดลงเกือบ 100% เมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อนมีการระบาดของโควิด หมายความว่า คนลาวที่เคยรับเงินเดือนปกติประมาณ 1.5 ล้านกีบ ได้เงินเดือนเท่ากับ 6,000 บาท แต่ตอนนี้เหลือแค่ 3,000 บาท ค่าเงินกีบที่ลดลง ดอลลาร์ที่แข็งขึ้น ทำให้ราคาน้ำมัน (ที่ต้องนำเข้าเป็น USD แต่ขายเป็นกีบ) แพง ทำให้ของแพง ในกรณีของไทยปีที่แล้วเงินเฟ้อขึ้นไป 6% กว่า กรณีของลาวเงินเฟ้อของลาวขึ้นไป 22%
2. 4 เดือนแรกของปีนี้ (2023) อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปแล้วถึง 40% ดังนั้นหากคนลาวคนเดิมที่ก่อนโควิดได้เงินเดือน 1.5 ล้านกีบ โดนอัตราแลกเปลี่ยนกินไปครึ่งนึงเหลือเงินเทียบเท่า 3,000 บาท และยังโดนเงินเฟ้อกินไปอีก 40% เขาจะเหลือเป็นกำลังซื้อจริง 1,517 บาท
3. คนหนุ่มสาวลาว เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือไปประเทศอื่น เพราะทำงานในต่างประเทศมีรายได้ดีกว่า ทำงานในลาว และรับเงินเดือนเป็นกีบ
รัฐบาลลาวพยายามตั้งเป้าหมายกดเงินเฟ้อให้เหลือ 9% ในปีนี้ พร้อมดำเนินมาตรการต่าง ๆ แต่คนทั่วไปก็เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ในขณะเดียวกันเสียงจากนักวิเคราะห์ที่เปรียบเทียบลาวกับศรีลังกาที่มีวิกฤตจนต้องเข้าไอเอ็มเอฟ เริ่มมีมากขึ้นและดังขึ้น
สาเหตุของปัญหา
ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา มี 4 ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา
1. ปี 2019 สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้ปริมาณการค้าโลกลดลง กระทบกับประเทศเล็กอย่างลาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. ปี 2020 – 2021 เกิดวิกฤตโควิด – 19 ทำให้รัฐบาลต้องปิดประเทศ ลาวขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 12% ของ GDP
3. ปี 2022 สงครามยูเครนกับรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันแพงทั่วโลก ต้องเข้าคิวเติมน้ำมัน และตื่นตระหนกทั่วประเทศ แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ เข้ามาคุมราคา อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงเกินควบคุมที่ 22.7% เงินสำรองระหว่างประเทศลดลงเหลือเพียง 1,121 ล้านเหรียญสหรัฐ (พอซื้อของนำเข้า 1.5 เดือน)
4. การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ทำให้เงินทั่วโลกไหลกลับเข้าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา
ซึ่งในบทความมองว่า เนื่องจากเป็นปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น จึงตำหนิรัฐบาลลาวหรือรัฐบาลอื่นของประเทศที่มีปัญหาไม่ได้เต็มปาก
ข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจจากธนาคารโลก
ธนาคารโลกเห็นว่าลาวจะหมดปัญหาและเข้าสู่การฟื้นตัวในปีนี้ (2023) และธนาคารโลกประมาณการเงินเฟ้อของลาวปีนี้ (2023) ไว้ที่ 16.8% แต่ปรากฎว่าตัวเลขจริงในไตรมาสแรกอัตราเงินเฟ้อจริงสูงถึง 40% และค่าเงินกีบยังอ่อนตัวประมาณ 10%
อาจเป็นเพราะคาดการณ์ในเชิงดี ข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจของธนาคารโลกจึงเป็นแบบเดิม ๆ เป็นนโยบายชุดเดิม ๆ ที่แนะนำกับทุกประเทศ คือ
1) ลดการใช้จ่ายภาครัฐ (เก็บภาษีธุรกิจให้มากขึ้น ขี้น VAT เป็น 10% ลดการใช้จ่ายภาครัฐแต่ให้เพิ่มรายจ่ายเพื่อการศึกษาและสาธารณสุข)
ต่อข้อเสนอนี้ เจ้าของบทความดังกล่าวเห็นว่า จากประสบการณ์ของไทยและหลายประเทศ การขึ้นภาษี และการลดการใช้จ่ายของรัฐ ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังแย่จะทำให้เศรษฐกิจอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน อาจเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งระบบเศรษฐกิจ
2) ลดภาระหนี้ภาครัฐ (เจรจาเลื่อน/ลดหนี้ กับเจ้าหนี้ต่างประเทศ บริหารหนี้สินภาครัฐให้รัดกุม ให้การลงทุนใช้การร่วมทุนกับเอกชนที่มีระเบียบกำกับความโปร่งใส)
ต่อข้อเสนอนี้ เจ้าของบทความดังกล่าวเห็นว่า การเจรจาหนี้เมื่อทำจริงทำได้จำกัด จะทำได้เฉพาะหนี้รัฐบาลซึ่งก็คงทำเต็มที่อยู่แล้วโดยเฉพาะกับจีน กรณีเจ้าหนี้เอกชนต่างประเทศมองว่า เป็นระยะความไม่แน่นอน ประเมินความเสี่ยงลำบาก
3) กำกับดูแลความเสี่ยงสถาบันการเงิน ให้ควบคุมปริมาณเงินและสินเชื่อไม่ให้ระบบธนาคารมีหนี้เสีย
ต่อข้อเสนอนี้ เจ้าของบทความดังกล่าวเห็นว่า ระบบการเงินเป็นผู้รับผลจากการบริหารเศรษฐกิจ หากรัฐบาลลดการใช้จ่าย ขึ้นภาษี เศรษฐกิจหดตัว การเจรจาหนี้ทำได้ยากขึ้น และสินเชื่อมีปัญหาจะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า หากประเมินว่าขณะนี้เศรษฐกิจยังเปราะบาง ต้องประคับประคอง การลดหรือตัดสินเชื่อกับธุรกิจและชาวบ้านที่กำลังมีปัญหา ซึ่งจะทำระบบเศรษฐกิจทั้งบนและล่างยุบตัวลง (เราเรียกกันว่า ทฤษฎีร่ม คือตอนเศรษฐกิจดี ฝนไม่ตก ก็ให้สินเชื่อ ให้ยืมร่ม แต่พอเศรษฐกิจไม่ดี ฝนตก เอาร่มคืน)
4) สุดท้าย ธนาคารโลกได้เขียนไว้ว่า “เปิดให้รัฐลาวเตรียมตัวขอความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องจากจากความตกลงต่าง ๆ” (the Government may need to mobilize liquidity facilities and emergency liquidity assistance arrangements) เรื่องการขอความช่วยเหลือทางการเงินนี้ไม่ได้ขยายความไว้แต่อย่างไร
ซึ่งบทความได้กล่าวสรุปความเห็นส่วนตัวต่อข้อเสนอของ world bank ไว้ว่า ข้อเสนอให้ลดขนาดของภาครัฐ และลดสินเชื่อภาคเอกชน มักฟังดีในทางทฤษฎี แต่ไม่ดีมากเมื่อนำมาใช้จริง หากเศรษฐกิจยังเปราะบาง จะยิ่งทำให้คนไข้ซึ่งก็คือภาคการผลิตและประชาชน ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวดี กลับไปป่วยได้อีก สิ่งที่ควรทำคือค่อย ๆ ผ่อนให้เข้าที่ใช้เวลา 1-2 ปี ดีกว่ากระชากให้ระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ Hard Lading (ตกลงมาโดยไม่รู้ตัว) ฝากไว้ว่าต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และอย่าให้ตึงเกินไป
2
สุดท้าย บทความได้สรุปไว้ว่า เพื่อให้ลาวอยู่รอด ลาวควรต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศอีกอย่างน้อยที่สุดอีก 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อ
1. 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐรองรับการนำเข้า 3 เดือนในอนาคต
2. 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้พอจ่ายหนี้และดอกเบี้ย 1,900 และ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีนี้ และ ปีหน้า
3. 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ไว้เผื่อยามฉุกเฉิน
รวมถึงมีข้อเสนอว่า แม้รัฐบาลลาวได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะเร่งหาเงินต่างประเทศอยู่แล้ว แต่ควรดำเนินการเพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้ เพื่อจะมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นโดยไม่ต้องเข้า IMF
1. เร็วที่สุดคือเร่งรัดการท่องเที่ยว จาก 300 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับไปเท่ากับก่อนโควิดที่ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,500 ล้านเหรียญใน 12 เดือนข้างหน้า (กลางปี 2024) อาศัยค่าเงินที่ลดลงเป็นแรงจูงใจให้รายได้ลงไปถึงชุมชน
2. ดึงการลงทุนทางตรง แม้ต้องใช้เวลาแต่ก็ได้สร้างกำลังให้กับระบบเศรษฐกิจ ลาวมีความได้เปรียบที่มีพลังงานเยอะและราคาไม่แพง สามารถตั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิต Solar Cell เพราะใช้พลังงานเยอะ เป็นต้น ในระยะนี้การประกาศให้ 3 ปีข้างหน้าเป็นช่วงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ลดอุปสรรคการลงทุนครั้งใหญ่ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
3. ที่สำคัญที่สุด คือการเจรจาหนี้ และหาแหล่งเงินกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดย
3.1 เจรจาทวิภาคีกับจีน ซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้รายใหญ่ และพร้อมให้ความช่วยเหลือสภาพคล่อง ซึ่งลาวก็ได้ดำเนินการอยู่แล้วเป็นระยะ ๆ เรื่องนี้มีข้อด้อยคือประชาคมโลกดูไม่ค่อยดี กลายเป็นว่ารัฐบาลจีนทำให้ลาวเป็นหนี้เยอะ (กับดักหนี้จีน) และคนลาวก็รู้สึกว่าต้องไปขอร้องจีน
3.2 เจรจาภายใต้กรอบ Chiangmai Initiative (CMI) เพราะขนาดของกองทุนดังกล่าวในปัจจุบันขยายเป็น 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อ 2012 (10 ปีมาแล้ว) โดยลาวสามารถกู้ยืมได้ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่อกรณีนี้ บทความเสนอให้เพิ่มขนาดกองทุน เพื่อรองรับการมีปัญหาของประเทศสมาชิกอื่นด้วย
นอกจากนี้ ยังเสนอบทบาทของไทยในการช่วยลาว ดังนี้
1. สนับสนุนการท่องเที่ยวของไทย-ลาว ทำโครงการร่วมกับกระทรวงท่องเที่ยวลาวให้คนไทยไปเที่ยวลาวในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า หรือโครงการร่วมสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยให้เดินทางไปเที่ยวลาวด้วย
2. จัดการแรงงานลาวให้ทำงานในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ จัดระเบียบอย่าให้อยู่ในลักษณะลักลอบแบบที่เป็นอยู่ และจัดระเบียบทุกองค์กรอย่าให้มีการเรียกเก็บค่าคุ้มครองแบบที่เป็นอยู่
3. ประเทศไทยเสนอการเพิ่มขนาดของกองทุน CMI และการจัดตั้ง AMF
แต่จนถึงปัจจุบัน (ก.ค. 2024) ปัญหาของลาวก็ยังคงรุนแรงอยู่ เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ผมเลยขอเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้การแก้ไขปัญหาของลาวทำได้เร็วขึ้นครับ ซึ่งเป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาเร็วๆ โดยไม่ได้สืบค้นเพิ่มเติมว่าลาวได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง
1. เจรจาแปลงหนี้เป็นทุน ทั้งกรณีเจ้าหนี้ที่เป็นรัฐและเอกชน และเจรจา haircut หนี้กับเจ้าหนี้ทุกประเภท ทุกราย
2. ขอรับบริจาคจากมิตรประเทศเพื่อรวมเงินเข้าช่วยในแบบมิยาซาว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคเอกชนใน sector ที่ยังพอแข่งขันได้และมี income distribution ดี (เช่น เกษตร ท่องเที่ยว) และเจรจาเพื่อนๆ นำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มเติม ( กรณีท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งทำตามที่ผู้เขียนบทความข้างต้นเสนอ)
รวมถึงนำไปฝึกทักษะสมัยใหม่ให้กับประชาชนที่มีศักยภาพเพื่อสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศในรูปแบบการผลิตและบริการใหม่ๆ ที่เป็นทักษะศรรตวรรษที่ 21 และรองรับการลงทุนใหม่ เพราะหากยังทำแบบเดิม ก็เปลี่ยนประเทศไม่ได้ หากต้องการใช้หนี้ ต้องเปลี่ยนประเทศ ต้อง transform ถ้าทำแบบเดิม ก็เหมือนเดิม
3. กรณี FDI ต้องเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้าถือกิจการในสัดส่วนสูงขึ้นและปรับ incentive อื่นเพื่อสร้างแรงจูงใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้คนต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กับประเทศ ไปพร้อมๆ กับ on the job training ให้กับคนลาว เพื่อสร้าง demand จากต่างประเทศให้กับสินค้าและบริการ (รวมท่องเที่ยว) ของลาวในระยะสั้นและเพิ่มความสามารถระยะยาวให้กับแรงงานและธุรกิจของลาวในระยะยาว (ทำให้คนลาวสามารถซื้อกิจการคืนในภายหลัง)
4. ต่อวงเงินสินเชื่อให้กับธุรกิจเดิมที่มีศักยภาพ ให้สินเชื่อใหม่กับธุรกิจใหม่ที่ต่อ supply chain กับ FDI หรือการลงทุนในการผลิตใหม่ที่เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ
5. ปรับโครงสร้างการศึกษาอย่างทันทีและรุนแรง เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่สอดคล้องความต้องการของโลกในปัจจุบัน แม้กระบวนการพัฒนาคนจะช้า แต่การปรับโครงสร้างต้องการการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวนมากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่เกิดผลดีมากในระยะยาว
6. สำหรับ CMI เนื่องจากกองทุนมี 240,000 ล้าน ให้ขอเจรจาเพิ่มวงเงินเฉพาะกิจให้ลาว จาก 200 ล้าน เป็น 3,000 ล้าน ทันที ซึ่งน้อยมากสำหรับกองทุน
ทั้งหมดนี้คือที่คิดเร็วๆ เพื่อลดเงินไหลออก เพิ่มเงินไหลเข้า สร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ครับ
โฆษณา