11 ก.ค. เวลา 14:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อินโดนีเซียเตรียมขึ้นภาษีเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ

อินโดนีเซียเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 100 - 200%
ครอบคลุมทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง ถึงเซรามิก
เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ ไม่ให้ล่มสลาย
แม้ทุกวันนี้เกือบทุกชาติทั่วโลกจะมีการติดต่อค้าขาย นำเข้า ส่งออกกันอย่างเสรี แต่หลายประเทศที่มีเศรษฐกิจเล็กกว่าชาติมหาอำนาจต่างเริ่มมองหน้ากันแล้วว่า จะต้องลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองเพราะที่ผ่านมาการเสียดุลการค้าจำนวนมหาศาลติดต่อกันหลายปีจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าสูงกว่าการส่งออก กำลังสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งอำนาจการต่อรองทางการค้าบนเวทีโลก
มาตราการกำแพงภาษีนำเข้าจึงถูกหยิบขึ้นมาเป็นนโยบายเพื่อถ่วงดุลการค้าอีกครั้ง โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่ผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ของโลกอย่างจีนกำลังทุ่มตลาดสินค้าราคาถูกไปยังประเทศต่างๆ จนผู้ประกอบการภายในได้รับผลกระทบ
1
อินโดนีเซีย ประเทศที่มีทั้งขนาดเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนับเป็นตลาดการค้าที่สำคัญที่หลายประเทศให้ความสนใจ ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายประเทศต่างอยากส่งออกสินค้าเข้าไปทำตลาด
ผลที่ตามมาคือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียเผชิญกับการขาดดุลการค้าสูง โดยเฉพาะกับจีนซึ่งเคยขาดดุลการค้าสูงถึง 4 ล้านล้านบาทในปี 2022 ดังนั้นรัฐบาลอินโดนีเซียจึงออกมาตรการใหม่เพื่อสะกัดกั้นการไหลทะลักของสินค้านำเข้าด้วยการ เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 100 - 200% ครอบคลุมตั้งแต่เสื้อผ้า ไปจนเซรามิก เพื่อปกป้องให้ผู้ประกอบการในประเทศยังคงแข่งขันได้
ซุลกิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับทาง Nikkei Asia ว่ามีแผนเก็บภาษีนำเข้าที่ระดับมากกว่า 100%
"ถ้าตลาดของเราถูกท่วมไปด้วยสินค้านําเข้า เหล่าบรรดาผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศของเราอาจล่มสลายได้"
สำหรับอินโดนีเซียซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ออกกฎระเบียบเมื่อปลายปีที่แล้วเพื่อเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านําเข้ามากกว่า 3,000 รายการ ตั้งแต่ส่วนผสมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงเคมีภัณฑ์
1
แต่กระนั้น กฎระเบียบดังกล่าวชะลอการประกาศใช้ หลังจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ แสดงความกังวลว่านโยบายดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการไหลของวัสดุนําเข้าที่จําเป็นสําหรับอุตสาหกรรมในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าล่าสุดคือ จะมีการเรียกเก็บภาษีในไม่ช้า ซึ่งสินค้านำเข้าที่อาจจะได้รับผลกระทบบางประเทศทั้ง รองเท้า เสื้อผ้า สิ่งทอ เครื่องสําอาง และเซรามิก ซึ่งคณะกรรมการปกป้องการค้าของอินโดนีเซียกําลังพิจารณาเพื่อกําหนดอัตราภาษีใหม่นี้
ข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า สำหรับอินโดนีเซียมีการนําเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับโดยส่วนใหญ่จากจีน รองลงมาคือเวียดนาม และบังคลาเทศ
ที่ผ่านมาอินโดนีเซียสามารถลดการขาดดุลการค้ากับประเทศจีนลงได้ ด้วยกระบวนการที่รัฐบาลออกกฎหมายระเบียบที่เข้มงวดด้วยกัน 2 เรื่องใหญ่
ด้านเกษตรกร รัฐบาลได้ออกกฎหมาย "Protection of Farmer" หรือกฎหมายปกป้องเกษตรกร กล่าวคือการที่จำนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีนเข้ามาจำหน่ายในอินโดนีเซีย จะต้องไม่ตรงกับช่วงที่ผลผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศออกสู่ท้องตลาด ซึ่งแตกต่างจากไทยที่สามารถนำเข้ามาได้แทบจะตลอดเวลา
ด้านการจำหน่ายสินค้าบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ กฎหมายอินโดนีเซียระบุกว่า สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,500 บาท ห้ามจำหน่ายบนแพล็ตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ทั้งหมด ขณะที่กฎหมายไทยเปิดช่องเสรีให้สินค้าเกือบทุกประเภทสามารถซื้อขายบนแพล็ตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ได้ และสินค้าที่นำเข้าผ่าน Free Trade Zone ราคาไม่เกิน 1,500 บาท จะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat 7%
1
นอกจากนี้มาตรการทางภาษี อินโดนีเซียยังคงมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าอยู่ แม้แต่กับประเทศจีนที่มีการทำข้อตกลงทางการค้าร่วมกันระหว่างอาเซียกับจีน ที่ทำให้การนำเข้าสินค้ามีภาษีต่ำไปจนถึง 0% แต่กฎหมายศุลการกรของอินโดนีเซียระบุว่า หากสินค้าที่ถูกนำเข้ามามีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ จะต้องเสียภาษีนำเข้าโดยไม่มีข้อยกเว้น
โฆษณา