12 ก.ค. เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยโตเต็มที่ให้ตายก็ได้ไม่เกิน 3%

เศรษฐกิจไทยปี 66-71 โตเต็มที่ให้ตายก็ได้ไม่เกิน 3%
ยากที่จะโต 4-5% แบบเพื่อนบ้านถ้าไม่เปลี่ยนโครงสร้าง
ต่อให้กระตุ้นให้ตาย แต่เทคโนโลยีได้แค่นี้ ก็โตได้แค่นี้
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าแบบจำลองของ ธปท. มองภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 66-71 คาดว่าจะเติบโตได้แค่ราว 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพของไทยในปัจจุบันที่ลดลงจากในอดีต และยากที่จะกลับไปเติบโตได้สูงถึง 4-5% อย่างเช่นในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
โดยเมื่อมองในภาพรวมเศรษฐกิจไทย แม้จะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ แต่เป็นการฟื้นตัวในภาพรวม และยังซ่อนความยากลำบากของประชาชนอยู่อีกไม่น้อยที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่ ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้รายได้อาจจะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด แต่ยังมี “หลุมรายได้” ที่เกิดจากรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นไปตามกาลเวลา แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพสูงขึ้น
1
ทั้งนี้ ธปท.ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส ในช่วงที่เหลือของปี 67 ไว้ดังนี้ ไตรมาส 2 คาดเติบโตใกล้เคียง 2% ไตรมาส คาดเติบโตใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 คาดเติบโตใกล้เคียง 4% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 1.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนในปี 68 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 3%
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และเมื่อมองไปในปีหน้า คาดว่าจะโตได้ถึง 3% ในระดับศักยภาพ”
ผู้ว่า ธปท.มองว่า การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่านี้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีการลงทุนมากขึ้น มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งคงไม่ใช่เพียงแค่การใช้มาตรการกระตุ้นแต่เพียงเท่านั้น หากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการยกระดับประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจัง
ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็จะเติบโตอยู่ได้ในระดับที่ 3% ไม่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ ทั้งนี้มองว่าการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
“ศักยภาพของเรา ถ้าปล่อยไปแบบนี้ก็จะได้แค่ 3% ถ้าจะให้มากกว่านี้ ต้องปรับโครงสร้าง ไม่ใช่แค่การกระตุ้น เพราะกระตุ้นแล้ว สักพักก็กลับมาเท่าเดิม เรากระตุ้นกันมาเยอะแล้ว ซึ่งมันไม่ได้ยั่งยืน ไม่ได้ยกระดับศักยภาพที่แท้จริง เราต้องยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งก็จะนำมาซึ่งการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานของทั้งรัฐและเอกชน ลงทุนด้านเทคโนโลยี เพิ่มคุณภาพแรงงาน ด้าน R&D เหล่านนี้ จะช่วยยกระดับจาก 3% ขึ้นได้” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
“หากกระตุ้นให้ตาย แต่เทคโนโลยีได้แค่นี้ ศักยภาพการฟื้นตัว ก็ได้แค่ 3%” ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ
ผู้ว่าฯ ธปท. ยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงิน แต่ ธปท.ก็ไม่ได้ปิดประตูการปรับลดดอกเบี้ย หาก Outlook มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ พร้อมมองว่าการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่การใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเพียงเครื่องมือเดียว แต่ต้องมีเครื่องมืออื่นเข้ามาช่วยเสริมด้วย เช่น มาตรการการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน
ด้าน ธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือนกรกฎาคม 2567 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 2.4% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าจะโต 2.8%
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ภายในประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 เติบโตเพียง1.5% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) การส่งออกและภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง 2% และ 3% ตามลำดับ ท่ามกลางอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอ สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ความล่าช้าของงบประมาณส่งผลให้การลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาครัฐหดตัว 27.7% และ 2.1% ตามลำดับ ขณะที่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการค้าภาคบริการทั่วโลกใกล้จะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 86% ของระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดอย่างมีนัยสำคัญ (58.2%)
ทั้งนี้ ความล่าช้าของงบประมาณประกอบกับการพึ่งพาการท่องเที่ยวและการค้าส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าและแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซียและฟิลิปปินส์
ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว (91.6% ของ GDP ณ ไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2566) และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ องค์ประกอบของหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เนื่องจากมีสัดส่วนของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันสูงถึง 44% ของ GDP โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง
หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 64.6% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 โดยคาดว่ารัฐบาลจะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ของ GDP เนื่องจากการลงทุนภาครัฐกลับมาเป็นปกติประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อส่งเสริมการบริโภคซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลาง แม้หนี้สาธารณะคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับเสถียรภาพ แต่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่สูงขึ้นในการใช้จ่ายด้านสังคมและการลงทุนภาครัฐในด้านทุนมนุษย์เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ
โฆษณา