12 ก.ค. 2024 เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“Marimekko” แบรนด์สัญชาติฟินแลนด์ที่คนเข้าใจผิดว่ามาจากญี่ปุ่น!

ย้อนจุดเริ่มต้น “Marimekko” แบรนด์แฟชั่นจากฟินแลนด์ ผู้สร้างชุดที่เต็มไปด้วยอิสรเสรี ลวดลายแอ็บสแตร็กต์ และสีสันสดใส
สำหรับผู้ใช้สินค้าแบรนด์ต่าง ๆ คงมีหลายคนไม่น้อยที่เข้าใจผิดว่าแบรนด์ที่ตัวเองใช้อยู่นั้นมาจากอีกประเทศหนึ่ง และแบรนด์ที่ถูกเข้าใจผิดในลักษณะนี้บ่อยที่สุดเชื่อว่าต้องมี “Marimekko” (มารีเม็กโกะ) รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เพราะแม้แต่ในกูเกิลยังมีคนเสิร์ชว่า “Is Marimekko a Japanese brand?”
นั่นเพราะตามการรับรู้ของคนทั่วไป ชื่อของ Marimekko ฟังดูแล้วเหมือนจะต้องมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้วนี่เป็นแบรนด์ในตำนานจาก “ฟินแลนด์” ต่างหาก!
ร้าน Marimekko สาขากรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์
Marimekko เป็นแบรนด์สิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย และของตกแต่งบ้าน มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือผ้าพิมพ์ลายสีสันสดใสและสไตล์ที่เรียบง่าย
Marimekko ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่การออกแบบมีความก้าวล้ำนำสมัยและแหวกธรรมเนียม จนเรื่องราวและแรงบันดาลใจของพวกเขาถึงขั้นถูกนำไปบรรจุไว้ในพิพิธภัณฑ์การออกแบบ (Design Museum) ที่กรุงเฮลซิงกิเลยทีเดียว และจุดเริ่มต้นของแบรนด์อายุกว่า 70 ปีนี้ มีที่มาจากสามีภรรยาคู่หนึ่ง
จากโรงงานพิมพ์ลายผ้าสู่ผู้แหวกขนบวงการแฟชั่น
แม้คู่สามีภรรยา “วิลโย ราเทีย” และ “อาร์มี ราเทีย” จะก่อตั้ง Marimekko ขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1951 แต่เรื่องราวของบริษัทนี้มีจุดเริ่มต้นที่ต้องย้อนไปนานกว่านั้นเล็กน้อย
ก่อนจะเป็นบริษัทผ้า วิลโยเคยทำบริษัทผ้าน้ำมัน (Oilcloth) มาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขากับภรรยาจึงหันมาเปิดโรงงานพิมพ์ลายผ้าด้วยมือที่ชื่อว่า Printex แทน
กระทั่งปี 1949 อาร์มีเกิดไอเดียบรรเจิด ไปจ้างให้ศิลปินรุ่นใหม่ออกแบบลวดลายแพตเทิร์นใหม่ ๆ ให้กับลายผ้าของบริษัท โดยเธอบอกว่า “เราต้องฝัน และจะต้องโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ”
ชาวฟินแลนด์ชื่นชมลายผ้าที่โดดเด่นทันสมัยของ Printex แต่พวกเขาไม่รู้ว่าพวกเขาจะต้องการลายผ้าเหล่านี้ไปทำไม อาร์มีและวิลโยจึงจัดงานแฟชั่นโชว์ขึ้นในปี 1951 เพื่อแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่า สิ่งทอของพวกเขาสามารถนำมาใช้ทำเสื้อผ้าได้
คอลเลกชันแฟชั่นชุดแรกของ Marimekko ออกแบบโดย รีตตา อิมโมเนน รวมถึง ไมยา อิโซลา ซึ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกประทับใจกับลวดลายสีสันสดใสและการตัดเย็บที่สะอาดตา และประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะเสื้อผ้าถูกขายออกเกือบทั้งหมดในวันนั้น!
อาร์มี มารี ราเทีย ผู้ก่อตั้ง Marimekko
นั่นทำให้หลังจากการแสดงไม่กี่วัน มาร์มีและวิลโยจดทะเบียน Marimekko เป็นบริษัทอย่างเป็นทางการ และเปิดร้าน Marimekko สาขาแรกที่เมืองเฮลซิงกิในปีถัดมา
สำหรับชื่อแบรนด์ ตอนแรกอาร์มีจะใช้ชื่อของเธอเองเป็นชื่อของบริษัท แต่ชื่อ Armi มีคนนำไปจดทะเบียนธุรกิจแล้ว เธอจึงนำชื่อกลางของเธอคือ มาเรีย ย่อให้เหลือเป็นคำว่า มารี (Mari) แต่วิลโยอยากได้ชื่อที่สื่อถึงความเป็นเสื้อผ้าสตรีมากกว่านี้
ท้ายที่สุด อาร์มีได้คนพูดถึง “ชุดเดรส” ซึ่งในภาษาฟินแลนด์คือคำว่า “เม็กโกะ” จึงตัดสินใจนำชื่อมารีและเม็กโกะมารวมกันจนกลายเป็น Marimekko นั่นเอง
Marimekko ก่อตั้งขึ้นในช่วงที่วงการแฟชั่นค่อนข้างจำกัด บริษัทจึงปรากฏตัวในฐานะแบรนด์ที่แหวกขนบ ด้วยการสร้างชุดเดรสที่เต็มไปด้วยอิสรเสรี รูปแบบนามธรรมแอ็บสแตร็กต์ และใช้สีสันสดใส เพื่อสะท้อนภาพของผู้หญิงที่กล้าแสดงออกผ่านการเลือกเครื่องแต่งกาย
ผลงานเด่นของ Marimekko เกิดขึ้นได้จากนักออกแบบรุ่นบุกเบิกสองคน คือ อิโซลา ที่เป็นหนึ่งในผู้ออกแบบคอลเลกชันแรก และอีกคนคือ ว็อกโก เอสโคลิน-นูร์เมสเนียมี
นูร์เมสเนียมีออกแบบเสื้อเชิ้ต “Jokapoika” เป็นเสื้อลายทางเรียบง่ายสลับสีแดงและขาวในปี 1956 ซึ่งยังเป็นรุ่นที่ผลิตอยู่แม้กระทั่งในปัจจุบัน ส่วนอิโซลาออกแบบลาย Unikko (ดอกป็อปปี้) อันเป็นเอกลักษณ์ในปี 1964 ซึ่งผลิตจนถึงช่วงทศวรรษ 2010
เสื้อผ้าของ Marimekko ยังได้รับเลือกไปจัดแสดงในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของ จอร์จิโอ อาร์มานี ในอิตาลีด้วย ช่วยกรุยเส้นทางความสำเร็จของแบรนด์จากฟินแลนด์นี้
เสื้อเชิ้ต Jokapoika ของ Marimekko ผลิตมาตั้งแต่ปี 1956 จนถึงปัจจุบัน
ลาย Unikko (ดอกป็อปปี้)
แบรนด์ที่สตรีหมายเลข 1 เลือกใช้
ในช่วงแรก Marimekko ยังทำตลาดอยู่แค่ในยุโรป แต่อาร์มีได้พา Marimekko ไปร่วมงานบรัสเซลส์เวิลด์แฟร์ จนได้รับโอกาสให้นำสินค้าไปโชว์ที่สหรัฐฯ และในที่สุด Design Research ซึ่งเป็นร้านค้าไลฟ์สไตล์และการออกแบบที่ปฏิวัติวงการ ตัดสินใจขายปลีกและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าและผ้าของ Marimekko ในปี 1959
Marimekko ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯ เนื่องจากในปี 1960 แจ็กเกอลีน เคนเนดี ภรรยาของ จอห์น เอฟ เคนเนดี ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ซื้อชุด Marimekko ทีเดียว 7 ชุดพร้อมกัน และสวมใส่ตลอดการหาเสียง จนกลายเป็นพาดหัวข่าว และทำให้ Marimekko กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในชั่วข้ามคืน
ว่าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งยังปรากฏตัวในชุดฤดูร้อนของ Marimekko บนหน้าปกนิตยสาร Sports Illustrated ทำให้แบรนด์จากฟินแลนด์กลายเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว และส่งผลถึงการขยายตัวของบริษัท
ลายผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของ Marimekko
สิ้น “อาร์มี” สู่ยุคของ “เคิร์สติ”
ในช่วงเวลาที่บริษัทกำลังไปได้สวย Marimekko ต้องเผชิญกับข่าวร้าย เมื่ออาร์มีซึ่งเป็นทั้งสมองและหัวใจของแบรนด์เสียชีวิตด้วยวัย 67 ปีในปี 1979 ทำให้หลังจากนั้นบริษัทเกิดอาการเป๋ จนในปี 1985 ต้องขายให้กับ Amer-yhtymä บริษัทอุปกรณ์กีฬา
ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 Marimekko อยู่ในสภาพทางการเงินที่ไม่ดีและใกล้จะล้มละลาย นักธุรกิจชาวฟินแลนด์ เคิร์สติ ปักคาเนน จึงเข้าซื้อกิจการต่อในปี 1991 และช่วยฟื้นฟูธุรกิจและความนิยมกลับคืนมา
เธอนำ Marimekko เข้าสู่ยุคใหม่ของการเติบโตและความสามารถในการทำกำไร ด้วยการนำนักออกแบบหน้าใหม่เข้ามาเสริมทัพ เช่น ริตวา ฟัลลา ที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องแต่งกายผู้หญิง หรือ จักกา รินทาลา และจานา พาร์กคิลา รวมถึง แมตติ เซปปาเนน ที่ออกแบบเสื้อผ้าผู้ชาย และมาร์ยา ซูนา ผู้สร้างคอลเลกชั่นเสื้อถักชุดแรกของ Marimekko
Kirsti ยังมีแนวคิดที่จะจัดงานแฟชั่นโชว์ในสวนสาธารณะเอสพลานาดใจกลางกรุงเฮลซิงกิ และกลายเป็นงานที่จัดเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
ต่อมา Marimekko ได้ไปปรากฏในซีรีส์ทางโทรทัศน์ยอดนิยมเรื่อง Sex and the City ตัวละครหลักของซีรีส์นี้ ได้แก่ แคร์รี แบรดชอว์ คอลัมนิสต์เรื่องเพศและความสัมพันธ์ สวมบิกินี Marimekko ในซีซันที่ 2 จากนั้นจึงสวมชุด Marimekko ในซีซันที่ 5 รวมถึงซีรีส์นี้ได้โชว์ผ้าปูโต๊ะพิมพ์ลาย Marimekko ด้วย
การเข้ามากอบกู้ธุรกิจของปักคาเนนทำให้รายได้ของ Marimekko เพิ่มขึ้น 4 เท่าในเวลาเพียง 10 กว่าปี และขยายฐานการผลิตไปยังประเทศจีน อินเดีย ไทย โปรตุเกส ลิทัวเนีย ฯลฯ
ร้าน Marimekko สาขาเซ็นทรัลเวิร์ล ประเทศไทย
โฟกัสการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย
ปัจจุบัน Marimekko มีพนักงานอยู่ราว 470 คน โดยทั่วโลกมีร้านของ Marimekko อยู่มากกว่า 170 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในประเทศไทย 13 แห่ง และมีร้านค้าออนไลน์ให้บริการลูกค้าใน 35 ประเทศ
ทั้งนี้ ตลาดหลักของบริษัท ได้แก่ ยุโรปเหนือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอเมริกาเหนือ ซึ่งโดยภาพรวมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรายได้ปี 2023 ซึ่งอยู่ที่ 174.1 ล้านยูโร (ราว 6.8 พันล้านบาท) โตขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 5%
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ Marimekko และทางบริษัทมีเป้าหมายที่จะโฟกัสภูมิภาคนี้มากขึ้น เนื่องจากตลาดอื่นได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
โดยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโดยทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อ มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กำลังซื้อ และพฤติกรรม และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ Marimekko
โดยเฉพาะในตลาดภายในประเทศประเทศฟินแลนด์ ที่สถานการณ์พิเศษต่าง ๆ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน และการหยุดชะงักของการขนส่งในทะเลแดงจากสงครามอิสราเอล อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักที่สำคัญในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ และอาจส่งผลเสียต่อยอดขาย ความสามารถในการทำกำไร และกระแสเงินสดของบริษัท
เดิมที Marimekko ในฟินแลนด์มียอดขายสุทธิประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัท แต่ปัจจุบันยอดขายส่วนนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต่ำ
นั่นทำให้ Marimekko มุ่งเป้าไปที่ยอดขายในต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะเติบโตขึ้น และจะมุ่งเน้นไปที่เอเชียซึ่งเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญที่สุดสำหรับการเติบโตในระดับสากล และญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่สำคัญที่สุด แต่ในภาพรวมมีแผนจะเปิดสาขาในเอเชียอีกราว 10-15 แห่ง
นอกจากนี้ Marimekko ยังจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ NASDAQ ในชื่อ Marimekko Oyj (MKKOF) มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 14 ยูโร (ราว 550 บาท) ต่อหุ้น โดยเคยมีมูลค่าสูงสุดที่ 17.96 ยูโร (ราว 700 บาท) ต่อหุ้น เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2021
ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ศิลปินของ Marimekko ได้สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบกว่า 3,500 ชิ้น ซึ่งรวมถึงเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ เซรามิก เครื่องนอน ของตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าปูโต๊ะ และอื่น ๆ โดยถือเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์เจ้าแรก ๆ ที่ผสมผสานแฟชั่นลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ลงบนสิ่งของเหล่านี้ เพื่อแสดงออกถึงการใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน
Marimekko ยังเคยคอลแลบกับแบรนด์แฟชั่นอื่น ๆ เช่น อาดิดาส คอนเวิร์ส รวมถึงสายการบินฟินน์แอร์ ด้วยการนำลวดลายผ้าของแบรนด์ไปไว้บนตัวเครื่องบิน
เมื่อครั้งที่อาร์มียังอยู่ เธอเคยบอกไว้ว่า “จริง ๆ ฉันไม่ได้ขายเสื้อผ้า ฉันขายวิถีชีวิต มันเป็นการออกแบบ ไม่ใช่แฟชั่น ... ฉันขายไอเดียมากกว่าชุดเดรส”
ประวัติ Marimekko
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV บันเทิง : https://www.facebook.com/PPTVHD36Entertainment
โฆษณา