Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
12 ก.ค. 2024 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หนี้สนทนาฉบับกูรู โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ และรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท.
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้มาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) ในเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน และตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้เปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพราะตระหนักว่าความเห็นที่หลากหลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยให้ ธปท. สามารถยกระดับมาตรการและปรับปรุงนโยบายให้ตรงจุดและตอบโจทย์ประชาชนมากยิ่งขึ้น
วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE ขอพาทุกท่านไปพูดคุยกับคุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ “โค้ชหนุ่ม Money Coach” ในฐานะ “กูรูด้านการเงิน” และคุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ในฐานะ “กูรูผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน” เพื่อมาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนและมาตรการแก้หนี้กัน
Q: จากที่ได้ให้คำปรึกษาลูกหนี้มานาน โค้ชหนุ่มคิดว่าอะไรคือเหตุผลหลักที่ทำให้ “คนไทย” เป็นหนี้?
โค้ชหนุ่ม : จากประสบการณ์ ลูกหนี้อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ “คนที่วางแผนทางการเงินมาเป็นอย่างดี” มีความระมัดระวัง มีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นหนี้เพื่ออะไร จึงไม่ได้มองแค่การขอสินเชื่อให้ผ่านแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะคำนึงถึงภาระการผ่อนด้วย ฉะนั้น ไม่ว่าจะผ่อนสินค้า 10 เดือน หรือผ่อนบ้าน 360 เดือน ต้องมั่นใจว่าผ่อนไหว คนกลุ่มนี้มักจะได้ประโยชน์จากสินเชื่อ เพราะทำให้ได้สินทรัพย์ที่อยากได้และยังมีเครดิตทางการเงินที่ดีอยู่
กลุ่มที่สอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างใหญ่และน่ากังวล คือ “คนที่วางแผนการเงินไม่ดีนักหรือมีปัญหาต้องการใช้เงินเร่งด่วน” เพราะขาดทักษะและความรู้ทางด้านการเงิน กลุ่มนี้มักมองไม่เห็นต้นทุนที่แท้จริงของหนี้ เช่น เห็นโฆษณาดอกเบี้ย 6 บาทต่อวัน ก็คิดว่าดอกเบี้ยถูก ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะที่ถูกต้องแล้ว ควรต้องมีความเข้าใจทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และแผนการเงินของตัวเอง ฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาหนี้ ต้องมองทั้ง 2 กลุ่มนี้
คุณรณดล : ดังนั้น ความเข้าใจและความรับผิดชอบของผู้กู้มีความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อความสามารถในการปิดจบหนี้ อย่างที่เห็นในหลายกรณีที่มีการกู้จนเกินศักยภาพในการผ่อนของตัวเอง ทำให้ตัดยอดไปไม่ถึงเงินต้นสักที เพราะจ่ายได้แต่ดอกเบี้ย จนกลายเป็น “ลูกหนี้เรื้อรัง” ในที่สุด
Q: มีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นปัญหาหนี้ของตนเอง และอยากแก้หนี้ให้สำเร็จ แต่กลับทำไม่ได้ตามเป้าหมาย อะไรเป็น pain point ของคนกลุ่มนี้?
โค้ชหนุ่ม : อันดับแรกคือการ “โฟกัสผิดจุด” เพราะส่วนใหญ่มักสนใจแค่เรื่องทำอย่างไรหนี้จึงหมดเร็ว แต่ผมมักจะชวนเขาคิดเรื่อง “สภาพคล่อง” ก่อน นั่นก็คือ มีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายประจำและจ่ายหนี้หรือไม่ หาก “พอ” แสดงว่าหนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ “ไม่พอ” นั่นหมายความว่าคุณกำลังมีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งคำถามที่ต้องคิดต่อก็คือ ทำอย่างไรปัญหาเงินติดลบจึงจะเหลือศูนย์ได้
เมื่อโฟกัสถูกจุดกับสภาพคล่องแล้ว โจทย์ในการบริหารเงินก็จะเปลี่ยนไป เราต้องถอยกลับมาดูงบการเงินของตัวเอง หลายครั้งผมพบว่า คนที่มาปรึกษาส่วนใหญ่เน้นเล่นเกมรับ แม้มีหนี้อยู่หลายก้อน แต่พอเจ้าหนี้รายไหนโทรมาก็คุยเป็นราย ๆ ไป ไม่เคยเอาตัวเลขมากางและวางแผนจัดการทั้งหมดแบบองค์รวม
Q: แม้จะรู้ว่าตัวเองมีปัญหาสภาพคล่อง แต่ก็อาจจะจ่ายหนี้ไม่ได้อยู่ดีหรือเปล่า?
โค้ชหนุ่ม : ก็ต้องปรับสภาพคล่องก่อน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การเจรจากับเจ้าหนี้ เหมือนเวลาเลือดไหล เราก็ต้องหยุดเลือดก่อน ซึ่งมาตรการของ ธปท. กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมาเจรจากับลูกหนี้ทั้งก่อนและหลังที่จะเป็นหนี้เสีย ก็ถือว่าตอบโจทย์และตรงจุด เช่น เคยจ่ายเดือนละ 15,000 บาท แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่สู้ดีขอผ่อน 4,000 บาท สัก 6 เดือน ได้ไหม และเมื่อพร้อมจึงค่อยกลับมาจ่ายเท่าเดิม แบบนี้ก็จะมีสภาพคล่องแต่ละเดือนพอไปได้ ไม่ติดลบ และดำเนินชีวิตต่อไปได้
คุณรณดล : ตามเกณฑ์ Responsible Lending นั้น หากลูกค้าเริ่มค้างชำระหนี้จนกำลังจะเป็นหนี้เสีย สถาบันการเงินต้องมาไกล่เกลี่ยเจรจากับลูกหนี้ก่อน 1 ครั้ง แต่ถ้าเป็นหนี้เสียแล้วก็ต้องเข้ามาเจรจาอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะถูกบังคับขายหรือถูกฟ้อง เพราะฉะนั้นจะมีอย่างน้อย 2 ครั้ง ที่ลูกหนี้กับเจ้าหนี้ได้มีโอกาสเจรจากัน
โค้ชหนุ่ม : การเจรจาเป็นการแสดงความรับผิดชอบของฝั่งลูกหนี้ด้วย ไม่ต้องรอให้เจ้าหนี้มาเจรจาก่อน เมื่อรู้ว่าสภาพคล่องของตัวเองติดลบ ก็ควรเดินเข้าไปขอเจรจากับเจ้าหนี้เลย แม้ว่าหนี้จะยังไม่หมด แต่ความเครียดในชีวิตก็น้อยลง
Q: มักจะเห็นในข่าวว่า ลูกหนี้หลายคนผ่อนดอกเบี้ยจนเกินเงินต้นไปแล้ว แบบนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง?
คุณรณดล : ภายใต้มาตรการ Responsible Lending ธปท. กำหนดให้เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินตรวจสอบว่า มีลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นวงเงินหมุนเวียนคนไหนจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ให้ถือว่าเป็น “ลูกหนี้เรื้อรัง” ซึ่งเจ้าหนี้ต้องยื่นข้อเสนอเปลี่ยนเงื่อนไขให้ปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี โดยลดดอกเบี้ยให้เหลือไม่เกิน 15% ต่อปี เพื่อช่วยให้ลูกหนี้หลุดออกจากวัฏจักรของหนี้ได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าลูกหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลมักมีหนี้หลายก้อน เช่น อาจมีบัตรเครดิต 5-6 ใบ ตรงจุดนี้ ธปท. ก็มีคลินิกแก้หนี้ที่เป็นช่องทางที่ลูกหนี้สามารถเข้าไปเจรจาแบบครบจบในที่เดียว โดยช่วยประสานกับเจ้าหนี้ให้ ลูกหนี้ไม่จำเป็นต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละราย และช่วยให้มีโอกาสผ่อนเฉพาะเงินต้น (นานสูงสุดถึง 10 ปี) ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ได้
โค้ชหนุ่ม : มาตรการแบบนี้ช่วยลูกหนี้ได้มาก เพราะคนเป็นหนี้หลายคนไม่มีคนช่วยแนะนำการวางแผนทางการเงิน พอเจ้าหนี้เจ้าไหนโทรมาก่อน ก็จ่ายก่อน ไม่ได้ถอยมาวางแผนและจัดสรรให้เหมาะสม แต่มาตรการนี้ช่วยให้ลูกหนี้มองเห็นภาพรวมหนี้ของตัวเองและบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น
Q: หัวใจหลักในการแก้ไขหนี้คือ การเจรจากับเจ้าหนี้ แต่หลายคนก็กลัวว่าจะถูกบันทึกประวัติและเสียเครดิต ความกังวลแบบนี้สมเหตุสมผลไหม?
โค้ชหนุ่ม : ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยยังค่อนข้างกังวลกับคำว่า “ติดเครดิตบูโร” แต่ก่อนคนที่เดินเข้าไปเจรจาขอปรับเงื่อนไขชำระหนี้ สถาบันการเงินก็มักจะบอกว่าต้อง “รอให้เป็นหนี้เสีย” ก่อน ซึ่งทำให้ลูกหนี้เกรด A ที่ผ่อนจ่ายชำระดีเยี่ยมที่อาจจะเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าบางอย่าง ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ เพราะต้องรอให้ติด F ก่อน
นี่เป็นเหตุผลที่มาตรการ Responsible Lending เข้ามาช่วยตอบโจทย์ เมื่อ ธปท. กำหนดว่า ลูกหนี้ที่กำลังลดระดับลงมาอยู่ที่เกรด B เข้ามาเจรจาได้ ซึ่งเป็นการช่วยรักษาเครดิตให้กับลูกหนี้ เพราะทางเครดิตบูโรจะจำแนกว่าลูกหนี้เข้ามาคุยก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย และบันทึกว่าเป็นการปรับปรุงโครงสร้างเชิงป้องกัน ขณะที่คนที่มาคุยหลังเป็นหนี้เสียแล้วจะระบุเป็นลักษณะของการแก้ไขปัญหา แต่เมื่อแก้ปัญหาได้แล้วก็สามารถกลับมาเป็นเกรด A ได้อีกครั้งหนึ่ง ไม่ได้เป็นอะไรที่น่ากลัวหรือรุนแรงขนาดนั้น
คุณรณดล : อยากจะเสริมว่า กรณีนี้อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องหลักการอยู่พอสมควร เพราะหลายคนคิดว่า การมีข้อมูลเครดิตทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก และตั้งคำถามว่าการมีข้อมูลเครดิตดีหรือไม่ดีต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบกันแน่
ในข้อเท็จจริง ข้อมูลเครดิตก็คล้ายกับสมุดพก ถ้าเราไม่มีประวัติการชำระหนี้เลย เจ้าหนี้ก็จะประเมินยากมากว่าควรให้สินเชื่อเราหรือไม่ จึงไม่อยากเสี่ยงและปฏิเสธสินเชื่อ แต่ถ้าใครมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี มีความรับผิดชอบ เมื่อมีปัญหาอะไรก็พร้อมเข้ามาพูดคุยเจรจา อันนี้รับรองว่าการเข้าถึงสินเชื่อก็จะง่ายขึ้นในราคาที่สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้เอง ฉะนั้น คำว่าข้อมูลเครดิต จึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
Q: ในฐานะ “โค้ชการเงิน” และ “ผู้กำกับดูแล” คิดว่าคนที่กำลังติดกับดักหนี้ต้องการอะไรมากที่สุด?
โค้ชหนุ่ม : มี 2 มุม มุมแรกคือความรู้ในการจัดการและวางแผนทางการเงิน ซึ่งลูกหนี้ควรศึกษาหาข้อมูลไว้ อีกมุมหนึ่งคือโอกาสในการเจรจากับเจ้าหนี้ ที่ผ่านมาผมและทีมได้ทำงานกับคนที่มีปัญหาหนี้มามากพอสมควร และได้เห็นมาตรการของ ธปท. ที่ออกมาล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจรจาแบบหน้า 1 หลัง 1 หรือการแก้หนี้เรื้อรัง ต้องชื่นชมว่าตีโจทย์ได้ถูกต้องเลย
ความท้าทายในเรื่องนี้ก็คือ มาตรการใหม่ที่เพิ่งออกมาช่วงต้นปี อาจมีสถาบันการเงินบางแห่งหรือบางสาขา ที่ยังไม่ได้ตอบสนองทั้งหมด แม้ว่าสาขาส่วนใหญ่อาจจะดูแลและปฏิบัติตามมาตรการได้ดีแล้ว แต่ก็มีลูกหนี้บางส่วนเล่าว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าถ้าเข้ามาเจรจาแล้วจะกู้อีกไม่ได้ ทำให้ลูกหนี้ตกใจและถอยกลับไปเหมือนกัน
ผมอยากแนะนำให้ธนาคารมีปุ่มกด “ปรึกษาปัญหาสินเชื่อ” โดยเฉพาะ เพราะเมื่อลูกหนี้เดินเข้ามาที่ธนาคาร มีปุ่มให้กดว่ามาฝาก-ถอน แต่ไม่รู้ว่าจะติดต่อขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จุดไหน สำหรับลูกหนี้แล้ว การมีโอกาสได้พูดคุย ได้เจรจาในวันที่กำลังลำบาก สะดุด หรือมีปัญหา จะช่วยได้มากเลย ตรงนี้อยากฝากเป็นการบ้านของ ธปท. ที่ต้องดูแลและติดตาม ซึ่งที่ผ่านมาหากพบเจอปัญหา ผมก็ส่งข้อมูลให้กับทางทีมงานของ ธปท. ตลอด ซึ่ง ธปท. เองก็พร้อมรับฟัง
คุณรณดล : หลังจากที่ ธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์ Responsible Lending มาเมื่อต้นปี 2567 ก็เข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มข้นเพื่อผลักดันให้เป็นรูปธรรม โดยได้ตรวจสอบทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายและครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าหนี้มีกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามที่ ธปท. กำหนดจริง ๆ และหากได้รับการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสก็รีบตอบสนองทันที ที่สำคัญต้องขอขอบคุณโค้ชหนุ่มด้วยที่ช่วยให้ข้อมูลกับทีมงานของ ธปท. มาโดยตลอด
Q: อยากบอกอะไรทิ้งท้ายกับคนที่อยากแก้หนี้บ้าง?
โค้ชหนุ่ม : สำหรับลูกหนี้ ผมอยากแนะนำว่า ต้องทำความเข้าใจปัญหาหนี้ของตัวเองอย่างจริงจังก่อน ทำงบรายรับ-รายจ่าย และมองภาพรวม สุดท้ายแล้วหากการผ่อนชำระสะดุดเมื่อไหร่ ไม่ต้องรอ แค่เดือนเดียวก็เข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ได้เลย
คุณรณดล : ธปท. ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง ซึ่งนอกจากมาตรการช่วยเหลือที่เล่ามาแล้ว ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ อีก อย่างเช่นการตรวจสอบโฆษณาสินเชื่อโดยใช้ AI เพื่อเข้าไปดูว่า มีการโฆษณาที่กระตุ้นให้มีพฤติกรรมในการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสม หรือให้ข้อมูลไม่ครบ หรือทำให้เข้าใจผิดเรื่องอัตราดอกเบี้ยหรือเปล่า ซึ่งหากเจอก็จะรีบแจ้งเตือนทันที
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้หารือกับสถาบันการเงินเพื่อปรับเพิ่มแนวทางอีกหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่ควรคิดค่าธรรมเนียมประเมินหลักทรัพย์ เพราะถ้าลูกหนี้ ซึ่งกำลังเดือดร้อนอยู่แล้ว ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการขอปรับโครงสร้างหนี้ก็ไม่ถูกต้อง และถือเป็นการซ้ำเติม
สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากไว้ว่า หัวใจของการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรม ก็คือ สถาบันการเงินต้องช่วยให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้คืนได้ด้วย ต้องให้ลูกหนี้เข้าใจถึงความเสี่ยงทั้งหมด โดยเฉพาะต้นทุนและภาระทั้งหมดว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ ที่สำคัญต้องมีช่องทางที่คอยช่วยเหลือลูกหนี้ด้วย เพื่อให้สามารถปิดจบหนี้ได้ ในส่วนบทบาทของ ธปท. ก็มีหลายช่องทาง เช่น คลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ และหมอหนี้เพื่อประชาชน ที่คอยให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้ หรือโทรมาที่เบอร์ 1213 ได้ครับ
เรื่อง : กองบรรณาธิการ วารสารพระสยาม
เศรษฐกิจ
การเงิน
การลงทุน
1 บันทึก
3
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เจอหนี้ แก้หนี้
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย