12 ก.ค. เวลา 10:50 • ธุรกิจ

Meta กำลังจะโดนคณะกรรมาธิการยุโรปสอบ หลังเสี่ยงทำผิดกฎ

เมื่อปีที่แล้ว Meta ได้มีการเปิดตัวฟังก์ชัน ‘สมัครสมาชิก’ เพื่อเป็นไปตามกฎระเบียบของรูปแบบธุรกิจที่มีการเก็บข้อมูลเพื่อเป้าหมายทางโฆษณา ฟังก์ชันดังกล่าวมีเพื่อตอบสนองต่อความกังวลของ ‘คณะกรรมาธิการยุโรป’ ที่มีความกังวลว่าบริษัทจะทำการรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในหลาย ๆ แพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน เช่น Facebook, IG, WhatsApp ร่วมกับข้อมูลที่ดึงมาจากเว็บไซต์ และการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันผ่านการลงทะเบียนด้วย Facebook
ทว่าตอนนี้ ฟังก์ชันดังกล่าวกำลังทำให้ Meta ต้องเจอปัญหาทางกฎหมายซะงั้น
เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า การสมัครสมาชิกที่ราคา 12.99 ยูโรต่อเดือน (ราว ๆ 514 บาท) เป็นเหมือนการบังคับให้ผู้ใช้งานต้องเจอทางเลือกระหว่าง ‘จะยอมจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้งาน’ หรือ ‘จะยอมมอบข้อมูลส่วนบุคคลและใช้ฟรี’ เพื่อให้ Meta นำข้อมูลส่วนตัวไปใช้สำหรับการโฆษณา
ด้าน Meta เองก็ออกมาแย้งว่าการให้ตัวเลือกในการเสียเงินสมัครสมาชิกเป็นทางเลือกที่ยุติธรรมแล้ว ทว่าคณะกรรมาธิการยุโรปไม่คิดเช่นนั้น
คณะกรรมาธิการยุโรปมองว่าระบบดังกล่าวไม่ใช่ทางเลือกเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นการบังคับให้ผู้ใช้งาน ‘จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นส่วนตัว’ เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมาธิการยุโรปยังกล่าวว่า นโยบายของ Meta ละเมิดกฎหมาย Digital Markets Act (D.M.A) ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่มุ่งควบคุมอำนาจของบริษัทเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเทคฯใช้ความเป็น ‘บริษัทยักษ์ใหญ่’ บังคับให้ผู้ใช้งานยอมรับข้อกำหนดการใช้บริการและเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
ข้อกังวลคือการที่โซเชียลมีเดียอย่างอินสตราแกรมและเฟสบุ๊กได้รับการแพร่หลายทั่วโลก จนผู้ใช้งานทำได้แต่ก้มหน้ายอมให้ข้อมูลส่วนบุคคล หรือเลือกที่จะไม่เล่นโซเชียลมีเดียเลย (ซึ่งแทบจะเป็นไปได้ยากมากในยุคสมัยนี้)
(ข้อพิพาทเรื่องการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานก็กำลังเกิดขึ้นกับ TikTok และอเมริกาเช่นกัน เรื่องนี้จะนำมาเล่าให้ฟังในงานถัด ๆ ไป)
คณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า กฎ D.M.A กำหนดให้บริษัทต่าง ๆ อนุญาตให้ผู้ใช้งาน ‘เลือกที่จะไม่ให้บริษัทเก็บข้อมูลส่วนบุคคล’ และถูก personalized (การขึ้นฟีดตามความสนใจของผู้ใช้งาน) น้อยที่สุดแต่ก็ยังสามารถใช้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ปกติ
กรรมาธิการยุโรป ‘เธียร์รี่ เบรตัน’ (Thierry Breton) กล่าวว่า “นโยบายจะจ่ายหรือจะยอมของ Meta ละเมิดต่อกฎ D.M.A. กฎดังกล่าวมีอยู่เพื่อให้อำนาจกับกลุ่มผู้ใช้งานที่จะตัดสินใจเองได้ว่าข้อมูลของพวกเขาจะถูกนำไปใช้งานอย่างไร และทำให้แน่ใจว่าบริษัทอื่น ๆ ที่มีนวัตกรรมจะสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งาน” กล่าวได้ว่าเพื่อให้ผู้ใช้งานมีสิทธิ์มีเสียง และสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของตลาดเทคฯ นั่นเอง
ด้าน Meta เองก็ยังยืนยันว่าการบริการสมัครสมาชิกเป็นไปตามกฎ D.M.A. และจะทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าการร่วมมือกันจะราบรื่นหรือไม่เนื่องจากเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน ‘นิก เคล็ก’ (Nick Clegg) ประธานฝ่ายกิจการระดับโลกของ Meta ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อกฎหมายที่ซับซ้อนของคณะกรรมาธิการยุโรป ว่า
“ยุโรปกำลังตกต่ำทางเศรษฐกิจเพราะกฎระเบียบที่ซับซ้อนมากเกินไป การที่ปะติดปะต่อกฎหมายอันซับซ้อนจากหลาย ๆ ประเทศสมาชิกเข้าด้วยกัน ทำให้บริษัทต่าง ๆ ลังเลที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ภูมิภาคนี้”
การประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการยุโรปจะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่ยาวนาน คณะกรรมมาธิการยุโรปซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของกลุ่ม 27 ประเทศสมาชิก จะมีเวลาจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้าในการสอบสวนให้เสร็จสิ้น และหากพบว่านโยบายดังกล่าวผิดต่อกฎ D.M.A. Meta อาจถูกปรับถึง 10% ของรายได้ทั่วโลก และสูงถึง 20% สำหรับการกระทำผิดซ้ำ
ซึ่ง Meta เป็นบริษัทเทคโนโลยีรายที่สองที่ถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎ D.M.A. เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมมาธิการยุโรปก็ได้ยื่นฟ้อง Apple ฐานดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับ App Store เช่นกัน
ทั้งเรื่องของ ‘Meta’ และ ‘Apple’ กับ ‘คณะกรรมาธิการยุโรป’ จะจบลงอย่างไรคงต้องติดตามกันต่ออีกยาว ๆ
โฆษณา