13 ก.ค. เวลา 03:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ

⚠️ Mind The Curve: ตลาดแรงงานสหรัฐฯเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

มาตามสัญญาค่ะ ว่าทำไมนักลงทุนควรเฝ้าตัวเลขแรงงานสหรัฐฯให้ดีๆ และต้องติดตามอย่างใกล้ชิดค่ะ
ก่อนหน้านี้นิคกี้เคยออกมาพูดบ่อยๆว่าตัวเลข Nonfarm Payroll ของสหรัฐฯน่าจะบอกตัวเลขสูงเกินความจริงไปเยอะมากๆ และเตรียมถูก revise down ขนานใหญ่ในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่ในแง่ของอัตราการว่างงานก็เข้าใกล้กฏ Sahm’s rule มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณของ recession ที่แม่นยำมากๆเช่นกัน (เดี๋ยวแปะลิงค์ไว้ให้ในคอมเม้น)
วันนี้นิคกี้เลยเอา เส้นโค้งเบเวอริดจ์ (Beveridge Curve) มาให้ดูกันค่ะ ซึ่งตัวนี้แหละเป็นตัวที่จะบอกเราว่าตลาดแรงงานอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญแล้ว เพราะมีโอกาสที่อยู่ดีๆ อัตราการว่างงานจะพุ่งพรวดๆได้เหมือนกันค่ะ
📌 Beveridge Curve คือกราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการว่างงานกับอัตราตำแหน่งงานว่างในตลาดแรงงาน โดยปกติแล้วเส้นโค้งนี้จะมีลักษณะเป็นรูปไฮเปอร์โบลาและมีความโน้มเอียงลงด้านล่างนั่นเองค่ะ ซึ่งหมายความว่าอัตราการว่างงานที่สูงมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับอัตราตำแหน่งงานว่างที่ต่ำลงนั่นเอง
เส้นโค้งเบเวอริดจ์นั้นจะถูกตั้งชื่อตามนักเศรษฐศาสตร์ วิลเลียม เบเวอริดจ์ โดยตำแหน่งบนเส้นโค้งสามารถบ่งบอกถึงวัฏจักรธุรกิจได้อีกด้วยค่ะ ตัวอย่างเช่น ช่วงภาวะถดถอยเศรษฐกิจมักจะแสดงด้วยอัตราการว่างงานที่สูงและตำแหน่งงานว่างที่ต่ำ (จุดจะอยู่ในโซนด้านล่างขวา)
ในขณะที่ตำแหน่งงานว่างที่สูงและอัตราการว่างงานที่ต่ำบ่งบอกถึงช่วงขยายตัวของเศรษฐกิจนั่นเองค่ะ (จุดจะอยู่ในโซนด้านบนซ้าย)
📈 ความโค้งของ Beveride Curve ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน
ถ้าเส้นมีความโค้งเยอะ จะหมายความว่าตลาดแรงงานค่อนข้างมีประสิทธิภาพสูง เพราะหมายความว่า แม้ตำแหน่งงานว่างจะลดลง แต่อัตราการว่างงานไม่ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเองค่ะ
แต่ถ้าเส้นมีความโค้งน้อย หรือแทบจะเป็นเส้นตรง 45 องศา ก็จะหมายความว่าตลาดแรงงานมีประสิทธิภาพต่ำค่ะ เพราะจะหมายความว่า เมื่อตำแหน่งงานว่างลดลง อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นทันทีค่ะ เนื่องจากตำแหน่งงานที่ว่าง ไม่ตรงกับความสามารถของคนที่ว่างงานอยู่ เลยไม่สามารถเข้าไปทำงานได้นั่นเองค่ะ
ดังนั้นแล้ว Beveridge Curve ของแต่ละประเทศจะมีความโค้งแตกต่างกันออกไปค่ะ
🇺🇸 Beveridge Curve ของสหรัฐฯเป็นแบบไหน
เส้นของสหรัฐฯจะมีความโค้งสูงมากๆค่ะ ดูได้จากในรูปเลยค่ะ ซึ่งตรงนี้สะท้อนว่าตลาดแรงงานในสหรัฐฯมีประสิทธิภาพสูงมากๆนั่นเองค่ะ
วิธิอ่านดูไม่ยากค่ะ
แกนตั้งคือ ตำแหน่งงานว่าง > ถ้าอยู่สูงๆ หมายความว่า ตำแหน่งงานว่างเยอะ ถ้าอยู่ต่ำๆ หมายความว่า ตำแหน่งงานว่างมีน้อยลง
แกนนอนคือ อัตราการว่างงาน > ถ้าอยู่ทางซ้าย หมายความว่า อัตราการว่างงานต่ำ แต่ถ้าอยู่ด้านขวา หมายความว่าอัตราการว่างงานสูง
📍ตำแหน่งปัจจุบันของสหรัฐฯอยู่ที่จุดสีแดงๆค่ะ
ทำไมตอนนี้ถึงสำคัญมากๆ คำตอบคือ ก่อนที่จะมาเป็นจุดสีแดงที่เราเห็นในตอนนี้ จุดนี้เคยอยู่ด้านบนมาก่อนนั่นเองค่ะ ก่อนที่จะค่อยๆปรับตัวลงมาตามลูกศรสีแดงจนมาอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน
ถ้าเราดูตามลูกศรสีแดง เราจะเห็นว่า เป็นช่วงที่ตำแหน่งงานว่างลดลง (จุดเลื่อนลงมาจากด้านบนลงมาด้านล่าง) แต่อัตราการว่างงานไม่ได้เพิ่มขึ้นเยอะ (จุดไม่ได้ขยับออกไปทางขวา)
ถ้าใครจำกันได้ ข่าวตั้งแต่ปีที่แล้วจะก็ออกมาประมาณว่า บริษัทเริ่มเปิดรับสมัครงานใหม่ลดลง (แต่เทียบกับในอดีตก็มีตำแหน่งงานเปิดใหม่สูงอยู่) แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนว่าตลาดแรงงานแข็งแกร่งมากๆ
ตัดภาพมาที่ปีนี้ เราเห็นตำแหน่งงานเปิดใหม่ลดลงต่อจากปีที่แล้ว แต่สิ่งที่เริ่มต่างคือ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ตอนธันวาคม 23 มาอยู่ที่ 4.1% ในเดือนมิถุนายน และถ้าดูเฉพาะ 3 เดือนหลังสุด ก็เป็นการปรับตัวขึ้นมาทุกเดือนอีกเช่นกัน
ซึ่งตรงนี้นิคกี้ถึงบอกว่าเรากำลังเข้าจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะถ้าจุดสีแดงปรับตัวลงต่อตามลูกศรสีฟ้า (ตำแหน่งงานว่างลดลง) อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเร็วขึ้นไปอีกค่ะ (จุดจะเขยิบไปทางขวาไวขึ้นเรื่อยๆ) และเราเห็นสัญญาณเตือนมาแล้ว เพราะอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน แม้จะแค่เดือนละ 0.1% ก็ตาม
✅ พาวเวลล์รู้ เฟดรู้ แต่ตลาดยังไม่ค่อยสนใจ
ถ้าใครเป็นแฟนเพจนิคกี้มาซักพัก นิคกี้เคยบอกไปก่อนเฟดอีกว่ามีโอกาสที่อยู่ดีๆอัตราการว่างจะพุ่ง ก่อนที่ในการประชุมเดือนล่าสุด เราได้เห็นกรรมการเฟดหลายท่านมีความกังวลเช่นกันโดยระบุว่า “หากความต้องการแรงงานลดลงหลังจากนี้ ผลกระทบต่ออัตราการว่างงานอาจมีมากกว่าในอดีต”
‼️ คำพูดนี้คือการอ้างถึง Beveridge Curve เลยนั่นเองค่ะ ซึ่งก็คือ เราผ่านช่วงลูกศรสีแดงมาแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงลูกศรสีฟ้านั่นเองค่ะ
และล่าสุดในการแถลงของพาวเวลล์ต่อสภาฯ ก็พูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน พร้อมกับระบุอีกว่า เฟดพร้อมลดดอกเบี้ย หากตลาดแรงงานมีความอ่อนแอแบบไม่คาดคิด‼️
1
🎯 บทสรุปคืออะไร
นิคกี้รู้ เฟดรู้ และพาวเวลล์ก็รู้ แต่ตลาดไม่สนใจมากนัก เราจึงเห็นการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นเริ่มกระจายตัวออกไปนอกเหนือจากกลุ่ม Big Tech มากขึ้น และมายังกลุ่มหุ้นวัฏจักร และหุ้นขนาดกลางและเล็ก เพราะคนเชื่อว่าเศรษฐกิจและภาคแรงงานยังแข็งแกร่งมากๆ
แต่ถ้าสิ่งที่ในอดีตบอกเรามาก็คือ ในระยะถัดจากนี้ หากความต้องการแรงงานลดลง ตำแหน่งงานว่างลดลง สิ่งที่จะตามมาก็คือ อัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และนั่นอาจหมายถึงการเกิด recession นั่นเองค่ะ
และการเกิด recession จะหมายถึงการถูกเทขายของตลาดหุ้นเป็นวงกว้าง และบริษัทที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดก็จะหนีไม่พ้นหุ้นที่ไม่มีกำไร หุ้นที่ไม่มีอำนาจในการตั้งราคา หุ้นที่มีเงินสดน้อย และมีหนี้เยอะ นั่นเองค่ะ ซึ่งจะหนีไม่พ้นหุ้นวัฏจักร หุ้นขนาดกลางและเล็ก
ส่วนหุ้นที่ผลกระทบน้อยก็จะเป็นกลุ่ม defensive อย่างพวก heathcare, สาธารณูปโภค และอุปโภคบริโภค (สินค้าจำเป็น) ค่ะ
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ และเฟดอาจจะทำให้เกิด goldilock ได้จริงๆ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้หุ้นทุกกลุ่มจะไปต่อได้ทั้งหมด แต่ด้วยความที่เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้ ส่วนตัวมองว่าการหาหุ้นที่มีคุณภาพและมีอัตราการเติบโตที่ดีน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในขณะนี้ค่ะ
1
โฆษณา