13 ก.ค. เวลา 07:00 • การตลาด

พลังแห่งความ Premium Mass น้ำแข็ง Kokubo ร็อกไอซ์ ผลิตรายได้ 100 ล้าน ทุกปี

-ปี 2562 รายได้ 128 ล้านบาท กำไร 10.3 ล้านบาท
-ปี 2563 รายได้ 127 ล้านบาท กำไร 7.9 ล้านบาท
-ปี 2564 รายได้ 135 ล้านบาท กำไร 7.5 ล้านบาท
-ปี 2565 รายได้ 134 ล้านบาท กำไร 3.3 ล้านบาท
-ปี 2566 รายได้ 159 ล้านบาท กำไร 10.9 ล้านบาท
นี่คือผลประกอบการของ บริษัท โคคุโบะ ร็อกไอซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของน้ำแข็ง Kokubo ร็อกไอซ์ ที่เจอได้ตาม 7-Eleven
1
ประวัติคร่าว ๆ ของแบรนด์นี้ คือเป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น เข้ามาทำโรงงานน้ำแข็งในไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปกติน้ำแข็งยูนิตทั่วไปถุง 1 กิโลกรัม (ถุงขนาดที่เห็นตาม 7-Eleven) จะขายราคาประมาณถุงละ 10 บาท บวกลบนิดหน่อย
ส่วน Kokubo ร็อกไอซ์ ถุง 1 กิโลกรัม ขายที่ราคาถุงละ 20 บาท
ก็จะเห็นว่า Kokubo ร็อกไอซ์ ตั้งราคาแพงเป็นประมาณเท่าตัว เมื่อเทียบกับน้ำแข็งยูนิตทั่วไป
ถ้าเอาตามหลักการตลาด STP Marketing (Segmenting-targeting-positioning) ในมุมของราคาและความแมสของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตามนี้
-Luxury
-Premium
-Premium Mass
-Mass
Kokubo ร็อกไอซ์ ก็น่าจะวางตัวเองอยู่ในกลุ่ม Premium Mass คือจับกลุ่มลูกค้าแมส ที่เข้าถึงได้ผ่านร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven
และตั้งราคาในระดับที่ Premium ขึ้นมากว่าน้ำแข็งยูนิตทั่ว ๆ ไป แต่ก็ไม่ได้แพงเว่อร์ จนกลุ่มแมสซื้อไม่ไหว
การวาง Position หรือตำแหน่งของตัวเองในตลาด Premium Mass ข้อดีคือน่าจะปวดหัวเรื่องสงครามราคาน้อยกว่า การวางตัวเองในตลาด Mass
แต่ที่แบรนด์ต้องทำให้ได้กับตำแหน่งตรงนี้ คือคุณภาพของตัวสินค้า ที่ต้องทำให้ลูกค้าเห็นว่าของดีจริง และยอมจ่ายในราคาที่แพงขึ้นมา
ซึ่งถามว่า Kokubo ร็อกไอซ์ ทำอย่างไร ?
ถ้าในมุมการผลิตแบบลึก ๆ อาจจะต้องไปดูที่ไลน์การผลิตในโรงงาน แต่ถ้าเอาตามที่ Kokubo ร็อกไอซ์ บอกไว้บนถุงน้ำแข็งของตัวเอง เขาก็บอกไว้หลัก ๆ ว่า
“ผลิตด้วยกรรมวิธีใช้ความเย็นต่ำ ความหนาแน่นสูง จึงเป็นผลึกน้ำแข็งที่ใหญ่ มีความแข็ง คงรสชาติของเครื่องดื่มได้นาน ซึ่งตู้เย็นที่บ้าน ไม่สามารถผลิตได้”
Kokubo ร็อกไอซ์ ยังบรรจุอยู่ในถุงลามิเนต ​ซึ่งออกแบบให้เป็น Food Grade ป้องกันการรั่วซึม และกันการเข้าของอากาศภายนอกได้ดี
ทำให้ประสบการณ์ร่วมของลูกค้าที่เจอกับ Kokubo ร็อกไอซ์ คือจะรู้สึกว่ามันละลายช้า ก้อนใสกิ๊ง ดูสะอาด
และอีกประสบการณ์ที่หลายคนน่าจะเจอตอนนี้ คือหาซื้อยากขึ้น ตอนตั้งใจไปซื้อ กี่ทีก็ชอบหมด เพราะคนที่มาซื้อหลายคนก็จะคิดเหมือนกัน จนต้องซื้อไปตุนทีละหลาย ๆ ถุง
ซึ่งเรื่องแบบนี้ในมุมคนซื้อ มันก็สะท้อนไปยังตัวเลขในมุมธุรกิจ
ที่จะเห็นว่า บริษัท โคคุโบะ ร็อกไอซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำรายได้ในระดับไม่ธรรมดา หลัก 100 ล้านบาท ติดกันมาตลอดหลายปี..
#Kokubo
#ร็อกไอซ์
#การตลาด
1
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
โฆษณา