13 ก.ค. 2024 เวลา 12:01 • ข่าว

เศรษฐกิจในประเทศ...

หวั่นค่าไฟปลายปีพุ่ง 4-6 บาท ชาวบ้านโอด-แห่ติดโซลาร์เซลล์
กกพ.เปิดรับฟังความเห็น 3 ทางเลือกก่อนปรับค่าไฟงวดสุดท้าย ก.ย.-ธ.ค.67 ที่ระดับ 4.65-6.01 บาท ยันพร้อมดูแลค่าครองชีพประชาชนควบคู่ความมั่นคงระบบไฟฟ้า หลังพบต้นทุนค่าไฟ บาทอ่อน-ราคา LNG สูงขึ้นดันราคาก๊าซพุ่ง ต้องการจ่ายคืนภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง (คงค้าง) กฟผ. แง้มหากต้องการตรึงค่าไฟงวดสุดท้าย 4.18 บาท รัฐบาลต้องหาเงินมาอุดหนุนอีก 28,000 ล้านบาท
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในการประชุม กกพ.ครั้งที่ 28/2567 (ครั้งที่ 913) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2567
โดยกำหนดเป็น 3 แนวทางปรับเพิ่มขึ้นในระดับ 46.83-182.99 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดยมอบให้สำนักงาน กกพ.นำสมมุติฐานดังกล่าวไปเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 12-26 กรกฎาคม 2567 ก่อนจะสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
ทั้งนี้ สมมุติฐานในการกำหนดค่า Ft จาก 4 ปัจจัย ประกอบด้วย ความต้องการใช้ไฟฟ้า, อัตราแลกเปลี่ยน, การวางแผนผลิตและจัดหาไฟฟ้า และราคาพลังงานในการผลิตไฟฟ้า ปรากฏความต้องการใช้ไฟลดลง 12.32% การวางแผนผลิตก็ลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนตัวลงจาก 35.34 เป็น 36.63 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจรตลาดโลก (LNG Spot) เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า 3.2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวในปลายปี เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้สะสมทั้งในส่วนของ กฟผ. 98,495 ล้านบาท และค่าภาระหนี้ของระบบที่ต้องจ่ายคืนให้กับคนขายก๊าซคือ ปตท. และ กฟผ. (AF Gas) อีก 15,000 ล้านบาท จึงทำให้ต้องปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น
“ค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซ ทั้งก๊าซในอ่าวไทย และ LNG Spot นำเข้า ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น ราคา Pool Gas ปรับจาก 300 เป็น 323 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคา LNG Spot ปรับจาก 10.38 เป็น 13.58 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และยังเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าจาก 33 เป็น 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจากต้นปีด้วย”
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงหลัก และยังดีที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนั้น “กำลังการผลิตได้กลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว” มีปริมาณการผลิตทุกแหล่งรวมกันเฉลี่ย 2,184 ล้านบีทียูต่อวัน จากงวดก่อนหน้าที่ผลิตได้ 1,484 ล้านบีทียู แต่แหล่งก๊าซในเมียนมายังคงมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 483 เหลือ 468 ล้านบีทียูต่อวัน ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้า LNG Spot เข้ามาทดแทน
สรุป 3 สมมุติฐาน
สำหรับแนวทางคำนวณค่า Ft ในงวดนี้จะแบ่งออกเป็น กรณีที่ 1 : ในกรณีจ่ายค่าเชื้อเพลิงคืน กฟผ.ทั้งหมด 98,495 ล้านบาท ภายในเดือน ธ.ค. 2567 ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย และมูลค่า AF GAS อีก 25.02 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 44% จากงวดปัจจุบัน 4.18 บาท
กรณีที่ 2 : กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ๆ ละจำนวน 32,832 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ.รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 65,663 ล้านบาท ในขณะที่รัฐวิสาหกิจ ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 113.78 สตางค์ต่อหน่วย และมูลค่า AF GAS อีก 25.02 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 18% จากงวดปัจจุบัน
และกรณีที่ 3 : กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุน กฟผ. 6 งวด ๆ ละจำนวน 16,416 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 27.23 สตางค์ต่อหน่วย) หรือภายใน 2 ปี จะทำให้ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย บวกมูลค่า AF GAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 11% จากงวดปัจจุบัน
“หากจะใช้มาตรการตรึงราคาค่าไฟฟ้าที่ 4.18 บาท/หน่วยเท่าเดิม รัฐจะต้องหาเม็ดเงินมาเสริม 28,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ใน 2 แนวทางคือ การยืดจ่ายหนี้ กฟผ. จาก 0.2723 เหลือ 0.05 สตางค์ ก็จะทำให้มีหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นจาก 98,495 ล้านบาท บวก 28,000 ล้านบาท เป็น 126,495 ล้านบาท หรือไปการใช้วิธีนำค่า AF GAS มาใช้ หมายถึงตรึงค่าแก๊สในส่วนที่ต้องจ่าย ปตท. และ กฟผ. ในฐานะ “ชิปเปอร์” เพื่อมาทดในส่วนของ 28,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแนวทางของนโยบายรัฐบาล แต่หากในกรณีที่เลือกแนวทางที่ 1 นั้น จะเป็นการ “เจ็บแต่จบ” เพียงครั้งเดียว หรือยอมให้ค่าไฟปรับขึ้นไป 6.01 บาท ก็จะใช้หนี้ กฟผ.หมดในงวดเดียว และหลังจากนั้น งวดแรกปี 2568 ก็มีโอกาสที่ค่าใช้จ่ายลดลง ค่า Ft ก็จะลดลง 1.80 บาท ก็จะทำให้ค่าไฟลดลงจาก 6.01 เหลือประมาณ 4.20 บาท/หน่วยได้” ดร.พูลพัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าทิศทางราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น สำนักงาน กกพ.ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่าย ๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า ลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป.จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย
โซลาร์ประชาชนทะลุ 90 MW
ด้านนายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงาน กกพ.กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนจำนวนมาก โดยมียอดการลงทะเบียน 100 เมกะวัตต์ (MW) และผ่านการตรวจสอบแล้ว 89.8 MW ซึ่งใกล้ถึงเป้าหมายโครงการที่วางไว้ 90 MW แล้ว โดยหากครบตามเป้าหมายแล้วก็จะปิดรับสมัครชั่วคราว และหลังจากนี้ทาง กกพ.จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงานพิจารณาขยายโครงการโซลาร์ประชาชนเฟส 2 เพิ่มขึ้นโดยเร็วที่สุด
“ปัจจัยที่ส่งผลให้มีการขอติดตั้งจำนวนมาก มาจากกรณีที่ต้นทุนค่าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ปรับลดราคาลง ประกอบกับค่าไฟฟ้าก่อนหน้านี้ปรับสูงขึ้น ทำให้ประชาชนนิยมมาติดโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้น ส่วนกรณีที่จะมีการแก้ไขกฎหมายให้โรงงานที่ติดตั้งโซลาร์ 1,000 MW ไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 นั้น แต่ทางผู้ประกอบการยังจะต้องมาขออนุญาตกับทาง กกพ. ซึ่งยังจะต้องกำกับดูแลในส่วนนี้อยู่” นายกัลย์กล่าว
ข้อมูลเคดิต : ประชาชาติธุรกิจ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-1606525
โฆษณา