13 ก.ค. เวลา 12:03 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] Clancy - Twenty One Pilots >>> ศึกไม่สุดท้าย

-Twenty One Pilots คือคู่หูดูโอ้ที่ผมชอบในลูกล่อลูกชน ซิกเนเจอร์ก็ชัดเจน แต่ผมก็ไม่ใช่สาวกจำพวกติดตามทฤษฎีนิยายดิสโทรเปีย DEMA มากขนาดนั้น ลำพังแค่ฟังเพลงกับแปลความหมายคร่าวๆแล้วเอามาเขียนรีวิวก็เหนื่อยมากพอแล้ว พวกพี่ยังจะมีสตอรี่คู่ขนานมาให้จินตนาการอีก มันก็ลำบากใจที่จะเขียนรีวิวโดยที่ช่างแม่งทุกทฤษฎีตีความเช่นกัน
-ต้องเรียนตามตรงนี้ก่อนว่า ผมไม่สามารถขุด DEMA story มาสาธยายดีเทลในรีวิวนี้ได้อย่างเต็มที่มากนัก แต่ก็พยายามจะบอกจุดที่ควรรู้ให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากที่สุดตามที่เวลา และพลังงานของผู้เขียนพึงมีก็แล้วกันครับ
-Clancy ตั้งตนให้เป็นภาคจบมหากาพย์ DEMA ที่ว่าด้วยกบฎนาย Clancy (Tyler Joseph) ที่ต้องการจะหนีออกจากเมือง Dema ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงสูงและถูกปกครองโดยบาทหลวง 9 คน ซึ่งมีบอสหลักคือ Nico โดยคนที่มาร่วมขบวนก่อกบฏด้วยก็คือกลุ่ม Bandito นำโดย Josh Dun
ซึ่งในอัลบั้มนี้ก็เป็นภาคจบที่ Clancy และเหล่า Bandito ทุบหม้อข้าว strike back เหล่ากองกำลังและกลุ่มปกครองบาทหลวงทั้ง 9 นั่นเอง ทั้งนี้จุดประสงค์ของมหากาพย์ DEMA ตั้งใจเปรียบเปรยการต่อสู้ดิ้นรนกับโรคซึมเศร้าของ Tyler ที่ถูกทำให้เบาลงด้วยการจำลองโลกแฟนตาซีเข้าไป
-อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การปะติดปะต่อเรื่องราวของผมไม่ดีพอที่จะใส่ลงในรีวิวนี้ ผมรู้สึกว่า ในเรื่องความชอบผลงานของพวกเขามันเป็นกราฟขึ้นๆลงๆสลับไปมา Blurryface อัลบั้มที่เป็น breakout success ผมก็ไม่ได้ชื่นชอบมากขนาดนั้น ชอบแค่บางเพลงเท่านั้น และโคตรงงเลยฮะ ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่า Blurryface คือส่วนไหนของมหากาพย์ DEMA ถ้าใครรู้เรื่องก็มาบอกกันได้ ผิดกับอัลบั้ม Trench ผมอวยในความเป็น cinematic ที่เข้มข้นพอสมควร และเป็นนิยามความ best สำหรับพวกเขา
-ต่อมา Scaled and Icy (หรือ Clancy Is Dead) เป็นงานที่ดรอปแบบฆ่าเวลาได้โดยง่าย การปะติดปะต่อเรื่องราวของ DEMA เลยตกหล่นในแบบที่ไม่จูงใจให้ผมต้องหันมาใส่ใจมากนัก ยังดีที่แอบทำการบ้านด้วยการได้มีโอกาสดู Livestream Experience ในช่วงปล่อยอัลบั้มนั้นได้ไม่นาน ซึ่งก็อยากจะขอบคุณพี่นุชอดีตพีอาร์ Warner Music Thailand ด้วยครับที่ส่ง code ให้ผมได้รับชมในเช้าตรู่วันเสาร์
-Livestream นั้นเองทำให้พอจับใจความสิ่งที่ Scaled and Icy ต้องการจะเป็นได้บ้างว่า พวกเขาไม่ได้แค่ตั้งใจแค่แฟนเซอร์วิสในช่วงโควิดอย่างเดียว พวกเขายังเคลือบแคลงคอนเซ็ปท์ DEMA ไม่จางหายไปไหน ใส่เรื่องราวที่ตัวละคร Clancy และผองเพื่อนถูกบังคับจากพวกบาทหลวงจอมบงการให้ทำหน้าที่สร้างความบันเทิงในรายการ Good Day DEMA ซึ่งเป็น propaganda คืนความสุข(แบบยิ้มแห้ง)ให้ประชาชนชาว DEMA ด้วยท่วงทำนองอินดี้ป๊อบเต็มสูบ แต่ก็ไม่ทำให้ผมกลับไปชอบอัลบั้มนั้นเพิ่มขึ้นมากนัก
-Clancy คือความโชคดีที่กู้หน้าพวกเขา สำหรับผมชุดนี้คือช่วงกราฟขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้พุ่งไปสู่จุดท็อปฟอร์มแบบ Trench หรือสามารถเป็น best work to date ได้มากขนาดนั้น ด้วยความที่ท้องเรื่องเริ่มเข้าสู่ความคลี่คลายในภาคจบ ประจวบกับชีวิตความเป็นพ่อคนของ Tyler อาจเป็นส่วนนึงที่ทำให้มู้ดเพลงโดยรวมในงานชุดนี้ไม่ตึงเหมือนแต่ก่อน
ใครที่ติดใจความเดือดจากอัลบั้ม Trench อาจเกิดความรู้สึกผิดหวังหน่อยๆที่ความเดือดถูกลดทอนลง แต่ถ้าคาดหวังการเติบโตในความคิดความอ่านส่วนตัว มุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไป Clancy ตกผลึกสิ่งนั้นได้อย่างใจชื้นแน่นอน
-การสานต่อมหากาพย์ DEMA ในแบบที่พบกันครึ่งทางระหว่างคนฟังขาจรและสาวกเดนตาย การฟัง Clancy จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องลำบากใจในการเชื่อมโยงมหากาพย์ DEMA ให้วุ่นวายจนเกินไป ซึ่งเอ็มวีที่สองหนุ่มทุ่มทุนทำออกมาประกอบทุกแทร็คจนเป็นเหตุให้เลื่อนการปล่อยอัลบั้ม มีแค่ 3 เพลงโดยประมาณที่คอนเซ็ปท์เอ็มวีเชื่อมโยงไปสู่ DEMA นอกนั้นเป็นเอ็มวี represent เพลงแบบปกติเลย
-ดูแค่คลิปเกริ่นนำ I Am Clancy บวกกับ 3 เพลง เช่น Overcompensate, Navigating และ Paladin Strait ก็น่าจะเพียงพอในการปะติดปะต่อมหากาพย์ DEMA ได้อย่างเห็นภาพชัดเจนพอกัน สามเพลงแรกที่ปล่อยออกถือเป็นการบอกให้เรารู้ว่าเราจะเจอกับการแฝงคอนเซ็ปท์ DEMA และเรื่องส่วนตัวของนายไทเลอร์ตัดสลับไปมา
-เริ่มกันที่ Overcompensate มีการ wrap up ความเดิมตอนที่แล้วด้วยการหยิบยืมท่อนบางส่วนในเพลง Bandito ที่กล่าวไว้ว่า I created this world to feel some control / Destroy it if I want นี่ถือเป็น key message สำคัญที่ Tyler จงใจ break the fourth wall บอกกับคนที่กำลังฟัง Trench ติดตามมาจนถึง Clancy ที่ชัดเจนในความต้องการที่จะปิดฉากมหากาพย์ DEMA ที่นายไทเลอร์ได้รังสรรค์ด้วยตัวเอง ย่อมสามารถขยำทิ้งได้เองในอัลบั้มนี้
-เป็นการเปิดภาคอวสานด้วยการโหมกระหน่ำ breakbeat โทนบู๊ที่เร้าใจอยู่ไม่น้อย ส่งสัญญาณให้รู้ว่า นาย Clancy จะไม่หลีกหนี พร้อมสู้ไปกับเหล่า Bandito อย่างไม่เกรงกลัวอีกต่อไป ซึ่งก็คู่ขนานไปกับอาชีพศิลปินของเขาที่แบกรับความคาดหวังไว้พอสมควร ซึ่งก็ต้องรังสรรค์มันออกมาอย่างสู้ไม่ถอยเช่นกัน แต่ก็แอบยอมรับในท่อนฮุคที่แอบแผ่วไปนิดนึง เมื่อเทียบกับสองเพลงถัดมาอย่าง Next Semester และ Backslide ที่มีท่อนฮุก new wave ที่แข็งแรงกว่า
-โดยเฉพาะ Next Semester อันเป็นซิงเกิ้ลลำดับสองที่โคตร bop สามารถสร้างแรง hype ให้ผมมากกว่า Overcompensate ในแบบที่ปล่อยออกมาตอนแรกๆกดฟังบ่อยที่สุด ด้วยแนวทาง Punk Rock ที่มาได้ถูกที่ถูกเวลา อีกทั้งยังสอดรับกับบริบทของเพลงที่มาในตีม coming of age ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการจบการศึกษา การพยายามค้นหาตัวเอง การจมอยู่กับความผิดพลาดในอดีตจนอยากจะจบชีวิตตัวเอง แต่นั่นคือรสชาติชีวิตที่ต้องลิ้มรสไปกับอดีตที่กลับไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ดี เริ่มต้นใหม่อย่างมั่นใจในภาคเรียนหน้าที่เป็นของจริงคงจะดีกว่า
-ส่วน Backslide จงใจต่อยอด Stressed Out อย่างเห็นได้ชัด ด้วยบีทและทำนองที่แทบจะเจริญรอยตาม แต่เพิ่มเติมด้วยเลเยอร์ของคอรัสที่มีมิติหลายชั้น อีกทั้งในเอ็มวีก็ยัง tribute ภาพจำในเอ็มวีเพลงฮิตสร้างปรากฎการณ์ ไม่ว่าจะเป็น คอสตูมทาคอดำ ซีนขี่จักรยานรอบหมู่บ้านอันเป็นตำนาน และสานต่อในเรื่องความกังวลที่ผุดขึ้นมาแบบเดียวกับที่ Stressed Out เคยเล่า โดยเปลี่ยน what if
2
ถ้าหากพวกเขาเลือกที่จะไม่ย่ำอยู่กับแนวทางเดิม เส้นทางของวงต่อจากนี้ที่อาจกลับไปสู่จุดที่เงียบเหงามั้ย? ในขณะเดียวกัน Tyler ก็ไม่อยากให้การหักดิบพฤติกรรมเก่าๆในครั้งนี้นำพาเขากลับไปแย่ลงด้วยอะไรที่ไม่คุ้นชิน แต่แน่นอนว่าพวกเขามีแต่เดินหน้า ไม่ขอกลับไปเป็นอย่างเดิม
-พอผ่านสามเพลงแรกไปปุ๊บ เราก็ได้เจอะเจอกับ direction ใหม่ๆระหว่างทางที่ค่อนข้างวาไรตี้พอสมควร โดยเฉพาะ Lavish ที่ฟังครั้งแรกก็เซอร์ไพร์สไปกับท่วงทำนองชวนฝันที่ดูก็รู้ว่าต้องมาเวย์ประชดประชัน ซึ่งก็จริงตามท้องเรื่อง พวกเขาตั้งใจเสียดสีสังคมเซเลปที่จำเป็นต้องแต่งหรูเพื่อมีหน้ามีตาในสังคม ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องถนัดสำหรับพวกเขาเลยแม้แต่น้อย ถ้าใครยังจำได้ในงานประกาศรางวัล Grammy เมื่อปี 2017 พวกเขาได้สร้างวีรกรรมสุดฮือฮาขึ้นไปรับรางวัลด้วยสภาพครึ่งบนสูทครึ่งล่างบ็อกซ์เซอร์
-และไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะละทิ้งความอึมครึมดั้งเดิมเสียทีเดียว เพราะมีเพลง Routines in The Night ที่เปรียบเหมือน Ode To Sleep ที่เน้นความขรึมโทน night vibe บีทที่ลึกล้ำใช้ได้ นั่นก็ทำให้เพลิดเพลินติดหูตั้งแต่แรกฟัง การเปรียบเปรยการเดินทางกลับบ้านเกิดอันแสนหนาวเหน็บที่ Ohio เปรียบเหมือนการหาใครซักคนที่คอยรับฟังหรือให้คำปรึกษามักจะเพิกเฉยอย่างเย็นชาเสมอในเพลง Midwest Indigo
-มุมมองอ่อนโยนให้กำลังใจก็ทำออกมาได้หนักแน่นในเพลง Oldies Station ที่ทำให้ผมได้เห็น personal growth ของนายไทเลอร์ได้ชัดเจนมากในการเสริมสร้างกำลังใจให้คนที่กำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้าให้ผ่านพ้นไปได้ อะไรที่ทำให้กลับมารู้สึกดีก็คว้ามันไว้ เหมือนเพลงเก่าที่เราชอบเมื่อวันวานได้หวนกลับมาให้ได้ยินอีกครั้ง และอย่าลืมที่จะเรียนรู้จากที่เคยพ่ายแพ้เพื่อที่จะหาทางแก้ไขและรับมือกับอนาคตได้ดีขึ้น
-ทั้งนี้นายไทเลอร์ก็ไม่ลืมที่จะระลึกภรรยาอันเป็นที่รักไว้อย่างน้อยหนึ่งเพลงในอัลบั้มนี้อย่าง The Craving (Jenna’s Version) เป็นการเห็นคุณค่าคนสำคัญใกล้ตัวด้วยอคลูสติคอูคูเลเล่อันแสนสงบนิ่ง
In a season of lessons learned in giving up
You learn what you can and can't take
Oldies Station
-ยังมี dance rock สับแหลกปลุกความเดือดอย่าง Navigating ที่โหมกระหน่ำความคิดมากย้ำคิดย้ำทำวนเวียนอยู่อย่างนั้น ประหนึ่งไทเลอร์กำลังประคับประคองสู้กับตัวเองเพื่อนำทางให้ตัวเองหลุดพ้นจากวงกตอันยุ่งเหยิงในหัวตัวเอง ในแทร็ครองสุดท้ายอย่าง At the Risk of Feeling Dumb ที่สะกิดให้คนที่มีเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า ให้คอยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบและเป็นฝ่ายเข้าหาก่อน อย่าปล่อยให้เพื่อนอยู่ในภาวะจวนเจียนจนกระทำอัตวินิบาตกรรมแล้วต้องมาจมกับความรู้สึกผิดในภายหลัง
-Paladin Strait แทร็คสุดท้ายปิดมหากาพย์ DEMA ที่เล่าบทสรุปได้รวบรัด ประหนึ่งถ้าคุณอยากปะติดปะต่อมหากาพย์ DEMA ผ่านบทเพลง การจะข้ามมาเก็บเพลงนี้ก็ย่อมได้ เพราะระหว่างทางพี่ Tyler เค้าแวะพูดถึงประเด็นสุขภาพจิตปัจเจกล้วนๆ ซึ่งมันเป็นโลกแห่งความจริงที่ผู้ฟัง relate ได้ มีแต่ Overcompensate >>> Navigating จนถึงเพลงนี้ที่ปะติดปะต่อโลกแห่งจินตนาการมากที่สุด
อินโทรที่ปูพื้นด้วย Acoutic Folk Song เป็นแนวทางที่ไม่ค่อยได้เห็นจากพวกเขามากเท่าไหร่ แต่คนที่คาดหวังว่าจุดไคลแม็กซ์แม่งต้องบู๊ให้มากกว่าแทร็คแรกก็อาจจะมีผิดหวังที่พวกเขาเลือกที่นำเสนอด้วยแนวทางเนิบๆปน electronic beat สุดแฟนตาซี เน้นความคลี่คลายไปเลย ซึ่งก็ไม่คลี่คลายแบบเคลียร์ซะทีเดียว เพราะพวกเขาเลือกจบมหากาพย์แบบปลายเปิด Clancy ได้เจอกับ Nico ลาสบอสของแก๊งค์ 9 บาทหลวงจอมบงการ พร้อมทิ้งคำพูดหล่อๆบอกกับ Clancy ว่า “พวกนายมากันแค่หยิบมือ น่าภาคภูมิใจ น่าตื้นตันยิ่งนักนาย Clancy”
-การจบแบบปลายเปิดเช่นนี้ แรกๆผมก็เซ็งแบบว่า นี่พี่จบไม่จริงนี่หว่า ถ้าจะให้เชื่อมโยงกับ DEMA ในอัลบั้มถัดไป ผมก็เริ่มเอียนแล้วฮะ แต่พอผมได้ลองตีความเพลงต่างๆผ่านการรีวิวครบ 3 อัลบั้มไตรภาค สังเคราะห์ในสิ่งที่ไทเลอร์ต้องการจะสื่อ ผมเริ่มเข้าใจและเห็นด้วยที่จะมาเวย์นี้ อย่างน้อยก็ไม่ได้นิทำตัวเป็นนิยายขายฝัน
-เราต้องอย่าลืมว่า การจำลองโลกแห่ง DEMA มันคือการที่ไทเลอร์แวะไปยังโลกคู่ขนานที่เล่าเรื่อง mental health ด้วยแนวทางนิยายแฟนตาซีก็เท่านั้น การที่เมืองถูกล้อมรอบด้วยกำแพงเปรียบเหมือนการปิดกั้นตัวเองโดยอัตโนมัติ แก๊งค์บาทหลวงที่เปรียบเสมือนสารเคมีหรือความคิดลบๆที่คอยวกวนอยู่ในหัว ทั้งหมดทั้งมวลปัญหา mental health ไม่ได้ชนะแล้วชนะเลย การเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้าและไม่ปฏิเสธถึงการมีอยู่จึงเป็น solution ที่ดีสุดในการรับมืออย่างมีสติ
***ขอสปอยล์ MV Paladin Strait ในย่อหน้าต่อไปนี้แค่ย่อหน้าเดียวเท่านั้น
-การเลือกจบแบบปลายเปิดโดยที่ไม่ได้เล่าชะตากรรม last battle ว่า Clancy ชนะหรือพ่ายแพ้จึงเป็นเป็นตอนจบที่ make sense พอสมควร การฟัง Paladin Strait แบบ audio อาจรู้สึกค้างคา แต่ถ้าได้ดูเอ็มวีก็จะลดความค้างคาได้นิดหน่อยตรงที่นาย Clancy นั้นโดน Nico บีบคอแล้วสุดท้ายนาย Clancy จ้องตาเขม็งเป็นอันรู้ถึงการไม่ยอมจำนนต่อ mental health หรือ Nico และแก๊งค์บาทหลวงอีกต่อไป
-หลุดจากสปอยล์แล้ว สำหรับภาพรวมของอัลบั้มนี้ถือเป็นการคัมแบ็คที่น่าพึงพอใจ ยังดีที่ไม่จืดชืดแบบ Scaled and Icy ยังมีความเคลียร์ และ relate ได้ง่ายกว่า Blurryface แต่ก็ไม่เทียบเท่า Trench ด้วยแง่ของการบาลานซ์น้ำหนักความ catchy และบริบทคอนเซปท์ได้ลงตัวกว่า
ถึงแม้ว่าเราเห็นความพยายามในการสับรางแนวทาง สับทางการเล่าเรื่องโลกจริงกับนิยาย แต่ Clancy ยังคงมีจุดวกวนของการย้ำไปย้ำมาจนเกินความจำเป็น โดยเฉพาะการเล่าถึงความพยายามไม่กลับไปลูปเดิมอย่าง Backslide ที่ขยายภาพได้ชัดเจนมากพอแล้วก็ยังจะมี Vignette และ Snap Back ออกมาเสริมอีกโดยที่ไม่มีอะไรใหม่เพิ่มเติม
-ผมก็หวังว่า direction ชุดถัดไปที่ไม่ได้พึ่งมหากาพย์ DEMA มาเสริมเติมแต่งการเล่าเรื่องอีกแล้ว คงเป็นสัญญาณที่ดีในการเล่าเพลงได้เรียลขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องมานั่งถอดรหัส easter eggs อะไรมากมายจนหลงลืมที่จะเข้าหาคนฟังด้วยภาษาคนกันเอง ด้วยสาสน์ที่เข้าถึงง่ายไม่ซับซ้อนจนเกินไป ตราบใดที่การทิ้งสาสน์ยิบย่อยมันสร้างความยากลำบากแก่คนฟัง ต่อให้ล้ำก็ไม่มีความหมายที่ให้เพลงนั้นมันทำงานแก่คนฟังได้เลย
การลดลิมิตเพื่อแก้ความตีบตัน
Top Tracks: Next Semester, Backslide, Routines in the Night, Navigating, Oldies Station
Give 7/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา