13 ก.ค. เวลา 12:17 • ข่าว

กองทุนประกันหนี้ทะลัก 8 หมื่นล้าน 10 บริษัทชิงพอร์ตสินมั่นคง

กองทุนประกันวินาศภัยแบกหนี้ทะลัก 8 หมื่นล้าน หลังคลังเซ็นปิดตำนาน 73 ปี “สินมั่นคงประกันภัย” สังเวยพิษกรมธรรม์โควิด “เจอจ่ายจบ” เตรียมเปิดให้เจ้าหนี้ 5 แสนรายยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ภายใน 60 วัน ขณะที่ผู้จัดการกองทุนฯยอมรับถังแตกเหลือเงินกองทุนแค่ 3-4 ล้านบาท แต่มีหนี้รอจ่ายกว่า 8 หมื่นล้าน หมดหนทางหาเงิน
ดิ้นหาวิธีแฮร์คัตหนี้เผยรัฐบาลไม่ค้ำประกัน-แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ รอรับแค่เงินสมทบบริษัทประกันปีละ 1,200-1,300 ล้านบาท ประเมินต้องใช้เวลา 60-70 ปีใช้คืนหนี้ผู้เอาประกัน ขณะที่ 10 บริษัทประกันเด้งรับพร้อมประมูลรับโอนพอร์ตลูกค้าสินมั่นคง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลายเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ของวงการประกันภัยในประเทศไทย จากพิษกรมธรรม์ประกันภัยโควิด “เจอ-จ่าย-จบ” ทำให้บริษัทประกันขาดทุนหนักจากการต้องจ่ายเคลมสินไหม จนเรียกได้ว่า “หนี้สินล้นพ้นตัว” และถูกกระทรวงการคลังเพิกถอนใบอนุญาตรวม 5 บริษัท
ตั้งแต่ 1.บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และล่าสุดรายที่ 5 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถือเป็นการปิดฉาก 5 บริษัทประกันวินาศภัย ที่ต้องปิดกิจการจากผลกระทบโควิด
ปิดตำนาน 73 ปี “สินมั่นคงฯ”
โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เซ็นลงนามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1364/2567 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ตามที่ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียน (เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ว่า บริษัท สินมั่นคงประกันภัย มีหนี้สินล้นพ้นตัว อยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้
โดยฐานะการเงินของบริษัท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จำนวน 33,680.22 ล้านบาท และบริษัทมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เซ็นลงนามคำสั่งแต่งตั้ง “กองทุนประกันวินาศภัย” เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย
ถือเป็นการ “ปิดตำนาน” บริษัท สินมั่นคงฯ ที่อยู่คู่คนไทยมาร่วม 73 ปี ของตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” ที่เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 โดยสินมั่นคงฯดำเนินธุรกิจด้านการบริการรับประกันวินาศภัย 4 ประเภท ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด โดยมีพอร์ตรับประกันรถยนต์ใหญ่สุด
กปว.ประชุมบอร์ดวาระพิเศษ
นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน กปว.ในฐานะผู้ชำระบัญชี ได้ส่งทีมงานเข้าไปรับไม้ต่อจากเจ้าหน้าที่ คปภ. ที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปควบคุมการอนุมัติจ่ายเงินของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีหนังสือแจ้งถึง นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้รับทราบต่อไป
โดยในส่วนทรัพย์สินและอาคารสาขาที่อยู่ตามต่างจังหวัดทั้งหมดของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จะขอให้สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัด ช่วยดูแลต่อเนื่อง แทน กปว. ไปก่อนในช่วงนี้ และจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนประกันวินาศภัย (บอร์ด กปว.) วาระพิเศษ เพื่อพิจารณากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลทรัพย์สินและจำนวนกรมธรรม์ที่ยังเหลือความคุ้มครองอยู่ ซึ่งเบื้องต้นมีประมาณ 800,000-1,000,000 กรมธรรม์ ครอบคลุมทั้งประกันภัยรถยนต์และประกันภัยที่ไม่ใช่รถ
เปิดยื่นรับชำระหนี้ใน 60 วัน
ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยระบุว่า ตามกฎหมายไม่เกิน 60 วัน กปว.จะประกาศให้เจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำนวน 500,000-600,000 ราย มูลหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท เข้ามายื่นขอรับชำระหนี้กับ กปว.ต่อไป
โดยการยื่นขอรับชำระหนี้กับกองทุนกรณีบริษัท สินมั่นคงฯ จะใช้ระบบเดียวกับศาล คือ ยื่นขอรับชำระหนี้ทางออนไลน์ทั้งหมด กรณีเจ้าหนี้มีปัญหาขัดข้องสามารถขอความช่วยเหลือจากสำนักงาน คปภ.ได้ทั่วประเทศ
“ขณะที่บริษัทต้องมีการบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยการบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ทางสำนักงาน คปภ.จะต้องประสานสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยรายอื่นที่สนใจเข้ามารับช่วงกรมธรรม์ต่อ” นายชนะพลกล่าว
กองทุนหนักใจแบกหนี้ 8 หมื่นล้าน
นายชนะพลกล่าวถึงภาระหนี้ของกองทุนว่า ปัจจุบันมูลหนี้ที่ กปว. ต้องแบกรับภาระของ 5 บริษัท ที่ปิดกิจการจากผลกระทบโควิด มีมูลหนี้รวมกว่า 80,000 ล้านบาท เจ้าหนี้รวมกว่า 1.1 ล้านราย โดยของ 4 บริษัทก่อนหน้า มีมูลหนี้เกือบ 50,000 ล้านบาท มีเจ้าหนี้เกือบ 600,000 ราย ซึ่งตอนนี้ยังดำเนินการจ่ายหนี้ให้ไม่ได้ ถือว่าค่อนข้างหนักใจมาก เมื่อมีหนี้ของบริษัท สินมั่นคงฯ มาสมทบเพิ่มอีกกว่า 30,000 ล้านบาท เจ้าหนี้เพิ่มอีก 500,000-600,000 ราย ซึ่งถือเป็นมูลหนี้อีกเกือบเท่าตัว
“ตามเจตนารมณ์กฎหมาย รมว.คลัง เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉะนั้นต้องมีมาตรการช่วยเหลือกองทุน ตอนนี้พยายามทำข้อมูลชี้แจงคณะกรรมาธิการหลายชุด และกองทุนในฐานะหน่วยงานปลายน้ำ ทำครบถ้วนทุกกระบวนความแล้ว ทั้งขอแก้ไขกฎหมายกองทุนเพื่อเพิ่มเงินสมทบ และการกู้เงิน แต่ไม่มีใครให้กู้เลย ขณะที่หน่วยงานอื่นแทบไม่ได้ขยับทำอะไรเลย จึงอยากขอฝากถึงเรื่องนี้ด้วย” นายชนะพลกล่าว
อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/finance/news-1606509
โฆษณา