14 ก.ค. เวลา 09:37 • สิ่งแวดล้อม

แมงป่อง

ลักษณะและพฤติกรรม
แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษ มีรูปร่างคล้ายปู ส่วนหัวติดกับอกเป็นส่วนเดียวกัน รูปร่างค่อนไปทางสี่เหลี่ยมยาว ลำตัวยาวเป็นปล้อง ๆ ประมาณ 2–10 เซนติเมตร มีก้ามคล้ายก้ามปู 1 คู่ และลำตัวติดกัน มีขาเป็นปล้อง ๆ 4 คู่ติดอยู่ ท้องยาวออกไปเป็นหาง มี 5 ปล้อง ที่ปลายหางมีอวัยวะสำหรับต่อย ความยาวโดยเฉลี่ย 3–9 เซนติเมตร โดยแมงป่องที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกพบในถ้ำมีความยาวเพียง 9 มิลลิเมตรเท่านั้น
แมงป่องเป็นสัตว์ที่โดยปกติจะสงบเงียบ แต่ถ้าหากถูกรบกวน จะยกหางชูงอ ๆ ที่ด้านหลัง เพื่อขู่ และจะต่อยเพื่อป้องกันตัวหรือออกล่าเหยื่อ
แมงป่องเป็นสัตว์ไม่ชอบแสงสว่าง มักจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามสถานที่มืดและชื้น เช่น ใต้ก้อนหิน ใต้กองไม้ ใต้ใบไม้ หรือขุดโพรงหรือรูอยู่ตามป่าละเมาะ และออกหากินในเวลากลางคืน ทั่วโลกมีแมงป่องประมาณ 1,200 อยู่ทั้งในเขตทะเลทราย เขตร้อนชื้น หรือแม้แต่แถบชายฝั่งทะเล พบชนิดที่มีพิษร้ายแรง 50 ชนิด บางชนิดมีพิษรุนแรงมาก เช่น แมงป่องในสกุล Centruroides ที่รัฐแอริโซนาของสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล และทะเลทรายสะฮารา สำหรับลักษณะของหางนั้นจะแตกต่างไปตามชนิด ซึ่งจะมีความไวในการจู่โจมแตกต่างกันออกไปด้วย
โดยแมงป่องชนิด เดทสโตกเกอร์ (Leiurus quinquestriatus) ที่มีขนาด 4.3 นิ้ว พบแพร่กระจายพันธุ์ในทะเลทรายทางตอนเหนือของแอฟริกาและตะวันออกกลาง เป็นชนิดที่มีความไวในการจู่โจมสูงสุด เมื่อตวัดหางขึ้นเหนือหัวจะมีความเร็วถึง 130 เซนติเมตร/ชั่วโมง และมีพิษร้ายแรงที่มีผลต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ที่โดนต่อยเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้
และชนิดแบล็คสปิตติง (Parabuthus transvaalicus) ที่พบในภูมิภาคแอฟริกาใต้ เช่น ทะเลทรายนามิบ เป็นชนิดที่สามารถพ่นพิษออกจากปลายหางได้
นอกจากนี้แล้ว แมงป่องยังมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสัตว์ขาปล้องจำพวกอื่น ๆ คือ มีสารซึ่งเมื่อต้องกับแสงแบล็คไลท์แล้ว จะเห็นเป็นตัวแมงป่องเรืองแสง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากสารชนิดหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบแน่นอน ซึ่งฝังตัวอยู่เป็นชั้นบาง ๆ ในเปลือกของแมงป่อง ถึงแม้แมงป่องตายไปแล้วเป็นเวลานาน คุณสมบัติเรืองแสงนี้ก็ยังคงอยู่
จากซากแมงป่องอายุหลายร้อยปีพบว่า แม้ว่าเปลือกจะไม่คงรูปร่างแล้ว แต่สารเรืองแสงยังคงฝังตัวติดกับหินซากดึกดำบรรพ์ นอกจากนี้ตัวอย่างแมงป่องที่ดอง หรือแม้แต่แมงป่องที่ถูกทอดเพื่อเป็นอาหาร ก็ยังคงสารตัวนี้อยู่
#savelife #saveworld
โฆษณา