14 ก.ค. เวลา 07:39 • ประวัติศาสตร์

"อาสนวิหารแห่งเซบีย่า" รู้จักกับฉากแท่นบูชาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของโบสถ์คริสต์ในต่างประเทศที่ปฏิบัติเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมาอย่างขาดไม่ได้เลยก็คือส่วนบริเวณแท่นบูชาของโบสถ์ซึ่งป็นส่วนที่นักบวชจะใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วยความที่เป็นส่วนที่สำคัญของโบสถ์ มันจึงเป็นส่วนที่ควรค่าแก่การประดับประดา งานฉากแท่นบูชาจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการประดับประดาให้สวยงามมากขึ้น ฉากแท่นบูชาที่โด่งดังก็มีด้วยกันหลายชิ้น แต่ชิ้นที่ควรค่าแก่การพูดถึงมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นฉากแท่นบูชาหลักในอาสนวิหารแห่งเซบีย่า
อาสนวิหารแห่งเซบีย่านับว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งมรดกโลกสำคัญของสเปน แต่เดิมอาสนวิหารแห่งเซบีย่าเป็นสุเหร่าในศาสนาอิสลามของแขกมัวร์ในอันดาลูเซีย ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนให้มาเป็นโบสถ์คริสต์ในภายหลังและทุบทิ้งสร้างใหม่ในศตวรรษที่ 15 แล้วเสร็จในศตวรรษที่ 16 โดยเป็นอาคารอาสนวิหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้นแซงหน้าเจ้าของสถิติเดิมอย่างฮาเกียโซฟียที่ตุรกี ซึ่งในปัจจุบันก็ยังนับว่าเป็นหนึ่งในโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนเป็นโบสถ์กอธิคที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วย
รายละเอียดของอาสนวิหารแห่งเซบีย่าที่เด่น ๆ มีมากมายหลายจุดไม่ว่าจะเป็นการแกะสลักโดมภายใน หรือภาพสลักบนหน้าบันทิมพานัม ตลอดจนสุสานของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ค้นพบอเมริกา(ที่เขาเข้าใจว่าเป็นอินเดีย) แต่สิ่งที่จะมาพูดถึงในช่วงถาปัตย์น่ารู้ประจำสัปดาห์นี้ก็คือในส่วนของฉากแท่นบูชาที่อลังการงานสร้างยิ่งกว่าที่ไหน
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 เปโดร ดันการ์ท (Pedro Dancart) ประติมากรชาวสเปน-เฟลมิชได้สร้างสรรค์ผลงานแกะสลักไม้ขนาดสูงกว่า 26 เมตร และกว้างกว่า 18 เมตร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นงานแกะสลักไม้ฉากแท่นบูชาที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีภาพเล่าเรื่องบนฉากแท่นบูชานี้มากกว่า 200 ภาพจากพระคัมภีร์ มีวิธีอ่านในแนวนอนจากล่างขึ้นบน และอ่านจากบนลงล่างที่ฉากในแถบตรงกลาง
ซึ่งขนาดของภาพแกะสลักก็จะต่างกันไปในขนาด โดยภาพที่อยู่ด้านล่างจะเล็ก และภาพด้านบนจะใหญ่ เพื่อปรับให้ง่ายต่อการมองเห็นของผู้ชม แต่ในขณะเดียวกันการปรับขนาดให้ลดหลั่นแบบนี้ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่าภาพนี้ไม่ได้ถูกสร้างเพื่อให้เอื้อต่อการมองเห้นของผู้ชมเพียงอย่างเดียว แต่สร้างเพื่อสะท้อนถึงมุมมองของพระเจ้าด้วย (พระเจ้าอยู่บนฟ้าจึงทรงมองเห็นภาพด้านบนมีขนาดใหญ่กว่า ในขณะที่ภาพที่อยู่ไกลมาด้านล่าง ของพระเจ้าจะมีขนาดเล็ก)
อย่างไรก็ดี ผลงานชิ้นนี้ดันการ์ทไม่ได้สร้างด้วยตัวคนเดียวจนเสร็จเนื่องจากเสียชีวิตลงก่อน เหมือนกับผลงานศิลปะชิ้นใหญ่และงานสถาปัตยกรรมหลายชิ้น โดยมีศิลปินคนอื่น ๆ มาช่วยสร้างสรรค์ต่อจนสำเร็จและหลงหลือมาให้เรารับชมในปัจจุบัน
โฆษณา