15 ก.ค. เวลา 08:27 • ข่าวรอบโลก

ฤดูฝนในคาซิรังกา อินเดีย วันหนีน้ำของสัตว์ป่า และวันลาจากของสัตว์บางชนิด

ในเดือนกรกฎาคมของทุกปี สัตว์ป่าเกือบทั้งหมดในอุทยานแห่งชาติคาซิรังกา ประเทศอินเดียจะพากันอพยพย้ายถิ่นฐาน
เปลี่ยนจากแหล่งพำนักในที่ราบลุ่มเดินทางไต่เนินขึ้นสู่ยอดเขาสูง ใช้ชีวิตอยู่บนนั้นชั่วคราว เพื่อหลบเลี่ยงน้ำที่เอ่อขึ้นมาจากแม่น้ำพรหมบุตร เป็นเวลาปีละ 5-10 วัน
บางปีอาจท่วมมาก บางปีอาจท่วมน้อย สลับหมุนเวียนกันไป
ในความหมายของวันเวียนเปลี่ยนผัน ฤดูกาลสายน้ำ และสายฝน ดำเนินไปอย่างสมดุล และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่เอาไว้
อาจมีสัตว์ป่าบางตัวพลาดพลั้ง หนีน้ำไม่ทัน เสียชีวิตไปบ้าง แต่ธรรมชาติก็แค่คัดสรรสัตว์ป่าที่อ่อนแอออกไป - ก็เท่านั้น
เว้นเสียแต่ เมื่อมีเรื่องราวของนักตักตวงธรรมชาติเข้ามาหาผลประโยชน์บนความละโมบ เรื่องราวของชีวิตสัตว์ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป
เมื่อฤดูมมรสุมมาถึง สัตว์ป่าที่หนียังต้องเผชิญภัยคุกคามจากการล่าสัตว์ ซึ่งอาศัยช่วงเวลาที่สัตว์ป่าถูกสายน้ำต้อนไปทางทิศเดียวกัน ไล่ล่า พรากชีวิต และหยิบฉวยเอาชิ้นส่วนบางอย่างกลับไป
ในบันทึกเก่าฉบับหนึ่ง ระบุว่าในปี 1988 มีสัตว์ป่าในคาซิรังกาตายในช่วงฤดูฝนที่กำลังหนีน้ำสูงถึงหลักพัน สาเหตุมาจากการล่าของมนุษย์
รองลงมาเป็นประสบอุบัติเหตุจากถนนที่ตัดผ่านป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีคนรถยนต์วิ่งผ่านทางเส้นนี้เฉลี่ยวันละ 6,000 คันต่อวัน
แต่อุทยานแห่งชาติคาซิรังกา  ถือเป็นหนึ่งพื้นที่อนุรักษ์ที่ยกระดับตัวเองในการคุ้มครองพื้นที่และสัตว์ป่า เพิ่มความเข้มงวดในงานจนสามารถลดจำนวนการล่าสัตว์ลงได้
รวมถึงการออกกฎเข้มงวดด้านการใช้ถนนในพื้นที่อนุรักษ์ กำหนดเกณฑ์ความเร็วเสียใหม่ให้เหลือเพียง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงที่มรสุมพัดพาฝนผ่านหุบเขาพรหมบุตร
จำนวนสัตว์ป่าที่ตายในฤดูฝนก็ลดน้อยลง
แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะลดจำนวนลงให้เหลือศูนย์
โดยในบางปีที่ฝนมามากเป็นพิเศษ ข่าวการสูญเสียก็จะดังมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่นในปี 2017 มีสัตว์ป่าตายไปมากกว่า 350 ตัว จากปริมาณน้ำที่ปกคลุมพื้นที่ 85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่สุดที่รัฐอัสสัมเคยเผชิญ และสัตว์ป่าต้องหนีน้ำถึง 2 ครั้ง ในฤดูฝนของปีนั้น
อย่างไรก็ตาม ในปีดังกล่าวมีการตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนสัตว์ที่ตายอาจมีมากกว่าที่รายงาน เพราะทางอุทยานแห่งชาติชี้แจงเพียงกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เสือ กวาง  และแรด ไม่ได้กล่าวถึงพวกสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กที่อาจค้นหาซากได้ยาก
สำหรับปี 2024 ตามรายงานพบว่ามีสัตว์ป่าจากเหตุน้ำท่วมไป 174 ตัว (วันที่ 11 กรกฎาคม)
แต่ก็สามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าที่เกือบจะตายไปได้ 135 ตัว
อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงเหตุน้ำท่วมประจำปีในอุทยานแห่งชาติคาซิรังกาแล้ว สิ่งที่นักอนุรักษ์แสดงความกังวลเป็นพิเศษ คือ การสูญเสียแรดนอเดียวสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ไปจากสถานการณ์นี้
อุทยานแห่งชาติคาซิรังกา ถือเป็นบ้านหลังสำคัญของแรดนอเดียว นับจำนวนได้มากกว่า 2,400 ตัว
แต่เกือบๆ ทุกปี เมื่อฤดูมรสุมมาเยือน ก็จะพบซากแรดตายในช่วงนี้อยู่เสมอๆ
แรดบางตัวอาจติดเกาะต้องออกแรงว่ายน้ำหลายกิโลเมตรเพื่อเดินทางไปขึ้นฝั่งที่อยู่สูงกว่าปริมาณน้ำสะสม
บางตัวอาจหมดแรงระหว่างว่ายน้ำ (ส่วนใหญ่เป็นแรดเด็ก)
บางตัวก็อาจพลาดเสียทีระหว่างปีนขึ้นเนิน ร่วงไถลลงมาแล้วกลับขึ้นไปไม่ได้ จมน้ำตายไปในที่สุด
และอย่างที่กล่าวไป ในอดีตเมื่อน้ำเริ่มท่วม มันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการล่าสัตว์ของพราน เพราะสัตว์มีพื้นที่หนีจำกัด
พรานบางรายอาจล่าขณะหนี บางคนล่าระหว่างแรดกำลังว่ายน้ำ แต่บางรายก็รอเก็บซากแรดที่ตายแล้ว ชิงตัดหน้าก่อนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะมาพบ
จะด้วยวิธีการไหนขอให้ได้ ‘นอ’ ไปขายก็ถือเป็นอันใช้ได้
แม้การล่าจะลดลง แต่มันไม่เคยหมดไป
มันจึงเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในคาซิรังกาต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งต้องช่วยเหลือสัตว์ที่กำลังจะจมน้ำตาย แถมยังต้องเฝ้าระวังภัยคุกคามไปพร้อมๆ กัน
(ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ช่วยอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานของ สืบ นาคะเสถียร อยู่เหมือนกัน)
สำหรับปี 2024 เหตุการณ์น้ำท่วมในอุทยานแห่งชาติคาซิรังกา มีแรดตายไปทั้งหมด 10 ตัว
เป็นการจมน้ำตายทั้งหมด มิได้ตายเพราะการล่าแต่อย่างใด
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พอให้ทำใจได้บ้างว่ามันอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ
เพราะหากไม่มีน้ำท่วมทุกปี ระบบนิเวศที่ราบริมน้ำจะหมดความหมายสำหรับการดำรงชีวิของสัตว์ป่า ความอุดมสมบูรณ์ที่สัตว์ต่างๆ และที่แรดต้องการก็จะขาดหายไป
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมใหญ่ ยังมีอีกเรื่องให้กังวลอีกอย่าง
เมื่ออุทยานแห่งชาติคาซิรังกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอัสสัม คือภูมิภาคที่ถูกจัดว่ากำลังเผชิญความเปราะบางทางด้านสภาพภูมิอากาศ
ในอนาคตหากไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ได้ มีแนวโน้มสูงที่สภาพอากาศในรัฐนี้จะแปรปรวนหนัก มีโอกาสเกิดน้ำท่วมถี่มากขึ้นกว่าในอดีต
ซึ่งเริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ส่วนจะสะเทือนมาถึงสัตว์ป่าเมื่อไหร่ การกระทำของเราเท่านั้นที่เป็นสิ่งกำหนด
อ้างอิง
Climate of Kaziranga National Park https://shorturl.asia/tgrnD
The Year of 2017 for Kaziranga National Park https://shorturl.asia/bJxQi
Assam floods : Kaziranga facing worst deluge in decade, 174 animal deaths so far https://shorturl.asia/8objT
When the Big Flood came to Kaziranga https://shorturl.asia/E7PC1
Assam Floods : How 2,400 rhinos in Kaziranga are fleeing for their lives https://shorturl.asia/NVevw
โฆษณา