15 ก.ค. เวลา 11:00 • ข่าว

บรรยากาศของสหรัฐอเมริกาฯ​ หลังการลอบสังหาร 'โดนัลด์ ทรัมป์'

[ความพยายามในการลอบสังหาร ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เป็นดั่งการขยายรอยร้าวรอยใหญ่ของสหรัฐอเมริกา]
เหตุการลอบสังหารเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาได้มีการแบ่งขั้วทางอุดมการณ์ชัดเจน
ซึ่งเป็นเหมือนทั้งความจริง และความเชื่ออันแรงกล้าสองทางที่ไม่มีวันบรรจบกัน
รอยร้าวรอยใหญ่เกิดขึ้น และกำลังกว้างขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อครั้งปี ค.ศ.1981 ที่ ‘โรนัลด์ เรแกน’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคริพับลิกัน ถูกยิง ประชาชนทั้งประเทศต่างร่วมกันส่งใจให้กับเรแกน โฆษกจากพรรคเดโมแครตร้องไห้ ใบหน้าเต็มไปด้วยน้ำตา โธมัส พี. โอนีล จูเนียร์ จากพรรคเดโมแครต ตรงไปที่ห้องรักษาตัวในโรงพยาบาลของพรรคริพับลิกัน เขาจับมือ จูบศีรษะ และคุกเข่าอธิษฐานพลางหวังให้เรแกนปลอดภัย
ทว่าปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาไม่หลงเหลือบรรยากาศเช่นนั้นอีกแล้ว
ภายหลังการลอบสังหาร ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ บรรยากาศที่สหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยความโกรธ ขมขื่น ความสงสัย และการกล่าวโทษ มีการชี้นิ้วหาตัวคนผิด มีทฤษฎีสมคบคิดมากมายผุดขึ้นมา สหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยบรรยากาศของความเกลียดชังและรอยร้าวที่กว้างและชัดเจนขึ้น
สื่อต่าง ๆ (โดยเฉพาะฝ่ายซ้าย) ก็มีการใช้คำพาดหัวข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวในลักษณะของการใส่ร้ายป้ายสีหรือบิดเบือนเพื่อโจมตีอีกฝั่ง เช่น ‘หน่วยสืบราชการลับเร่งพาทรัมป์ลงจากเวที หลังเขาสะดุดล้มในการปราศัย’ หรือ ‘การรอดชีวิตจากการลอบสังหารของทรัมป์จะทำให้คนผิวดำเทคะแนนเสียงให้มากขึ้นหรือไม่’
แม้แต่ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ออกมาโจมตีบรรดาฝ่ายซ้ายของสหรัฐฯ ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุเช่นกัน โดยการออกมากล่าวโจมตีอย่างตรงไปตรงมานี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการสืบสวนเกี่ยวกับผู้ลงมือด้วยซ้ำ
“แน่นอนหละ พวกเขา (ฝ่ายซ้าย) พยายามกีดกันเขา (โดนัลด์ ทรัมป์) ออกจากคูหาเลือกตั้ง พวกเขาพยายามจับเขาเข้าคุก และตอนนี้พวกคุณก็เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นอีก” แต่ไม่นานโพสต์ดังกล่าวก็ถูกลบออกไป
สื่อในสหรัฐอเมริกา คาดว่าหลังจากนี้ key message หรือการเล่าเรื่องในการหาเสียงต่าง ๆ ของทรัมป์ต่อจากนี้จะเล่าในทิศทางของการตกเป็นเหยื่อจากพรรคเดโมแครต เพราะก่อนหน้านี้ โดนัล ทรัมป์ เองมีการกล่าวหาว่าพรรคเดโมแครตจะให้เจ้าหน้าที่ FBI ยิงตนเอง หรือประหารชีวิตตนเองในความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ
ในด้านของประชาชน เมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่แล้วมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เมืองชิคาโก้ในประเด็นที่เกี่ยวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผลการสำรวจพบว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจ 10% เห็นด้วยที่จะ ‘ใช้ความรุนแรง’ ในการขัดขวางไม่ให้ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิปดีสหรัฐฯ อีกครั้ง หรือจากการสำรวจโดย Marist Poll เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่าชาวอเมริกันกว่า 47% คิดว่าสงครามกลางเมืองครั้งที่สองอาจเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของพวกเขา
การจะกล่าวว่าบรรยากาศในสหรัฐอเมริกาตอนนี้เต็มไปด้วยรอยร้าวและความเกลียดชังอาจจะไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงมากนักเมื่อพิจารณาจากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่กล่าวมา ความรุนแรงกำลังแพร่กระจายไปทั่วทั้ง 50 รัฐในอเมริกาฯ
[จากนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรต่อ]
ตอนนี้ โดนัล ทรัมป์ และพรรคริพับลิกัน ชิงหน้าสื่อและความสนใจแทบทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา (และโลก) ในขณะที่เวลากำลังเดินหน้าเรื่อย ๆ ไปสู่สมรภูมิการเลือกตั้ง
BBC กล่าวว่าตอนนี้พรรคเดโมแครตและ ‘โจ ไบเดน’ กำลังมีเวลาน้อยลง ได้เปรียบทางการเงินน้อยลง และมีโอกาสที่จะพลิกการเลือกตั้งให้ออกมาในหน้าที่ต้องการได้น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็ ‘ไม่มีอะไรการันตี’ ว่าเหตุการณ์ลอบสังหารทรัมป์ จะเป็นจุดพลิกในการเข้าเส้นชัยของทรัมป์ และพรรคริพับลิกัน เพราะตอนนี้ยังมีเวลาอีกราว ๆ 3 เดือนก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง
ในขณะที่สื่อใหญ่จากกาตาร์ AL Jazeera กล่าวว่านักวิเคราะห์หลาย ๆ คน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์ลอบสังหาร เพราะทีมงานของทรัมป์จะสามารถหาเสียงจากการเล่าเรื่องผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับรูป iconic ที่ทรัมป์ชูกำปั้นขึ้นฟ้าด้วยใบหน้าที่เปื้อนเลือด พร้อมตะโกนคำว่า “Fight Fight Fight” โดยมีฉากหลังเป็นท้องฟ้าและธงชาติสหรัฐอเมริกา
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้วก่อนเกิดเหตุการณ์ มีผลสำรวจจาก Bloomberg และ Morning Consult ที่ชี้ให้เห็นว่าไบเดนนำทรัมป์เล็กน้อยในรัฐมิชิแกนและวิสคอนซิน ในขณะที่ทรัมป์นำเล็กน้อยในรัฐแอริโซนา จอร์เจีย เนวาดา และนอร์ทแคโรไลนา ทว่าหากสำรวจใหม่ตอนนี้ไม่แน่ว่าทรัมป์จะได้รับคะแนนเพิ่มเติมก็เป็นได้
เพราะขนาด ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) ยังออกโพสต์บนโซเชียลมีเดีย X ว่าตนนั้นสนับสนุนประธานาธิปดีทรัมป์อย่างเต็มที่ และอวยพรให้ทรัมป์กลับมาหายดีโดยเร็ว สำนักข่าว Reuters เองก็รายงานเช่นกันว่าการการลอบสังหารทรัมป์ครั้งนี้จะช่วยเรียกคะแนนเสียงให้ทรัมป์ ไม่มากก็น้อย
[การลอบสังหารครัังนี้สะท้อนอะไร เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ในสหรัฐอเมริกา]
การลอบสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1865 ‘อับราฮัม ลินคอล์น’ คือประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ถูกลอบสังหาร มาจนถึงปี ค.ศ.1968 ‘โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี’ ซึ่งเป็นน้องชายของประธานาธิบดี ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ (ที่ถูกลอบสังหารเช่นกัน) รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง ทั้งประธานาธิบดีและ แคนดิเดตเลือกตั้งประธานาธิบดี และครั้งล่าสุดครั้งที่ 14 คือชายที่ชื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้เปรียบเสมือน ‘เงาที่ติดตามระบอบประชาธิปไตย’ ของสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นการขัดแย้งอย่างรุนแรงกับประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก และสะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงกำลังแฝงตัว แพร่กระจายอยู่ในการเมืองของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผู้คนด้วย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกครั้งคือโศกนาฏกรรม และความท้าทายของ voter ชาวอเมริกันคือจะต้องทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้ลุกลามไปสู่การเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ที่จะแบ่งแยกการเมืองและอุดมการณ์ให้ฉีกออกจากกันไปมากกว่านี้
ซึ่งล่าสุดนี้เองที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กล่าวกับเจ้าหน้าที่ของวอชิงตันว่าตนจะเปลี่ยนแปลงการปราศัย และมุ่งเน้นไปที่เนื้อหาที่เกี่ยวกับโอกาสที่จะรวมสหรัฐอเมริกาให้เป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง มากกว่าการโจมตีคู่แข่งอย่าง ‘โจ ไบเดน’
ในส่วนท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐ ‘โจ ไบเดน’ เองก็มีการเรียกร้องให้ประชาชนในประเทศยืนหยัดร่วมกันและยุติความเห็นต่างทางการเมือง ‘อย่างสันติ’ ที่คูหาเลือกตั้ง
1
หตุการณ์ลอบสังหารครั้งนี้อาจทำให้ผู้นำของสหรัฐอเมริกาเลิกที่จะใช้วาทกรรมใส่กัน และหันมาใส่ใจภาพความเป็นจริงของรอยร้าวทางสังคมมากขึ้น เพราะดูท่าแล้วตอนนี้บรรยากาศของสหรัฐอเมริกาคงไม่อาจดุเดือดน้อยลงได้ หากไม่ได้เริ่มจากผู้นำของทั้ง 2 ฝั่งพรรคการเมือง
โฆษณา