16 ก.ค. เวลา 03:17 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อัพเดทเศรษฐกิจโลก: การฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมเริ่มซาและเงินเฟ้อส่งสัญญาณว่าจะกลับมา

ผ่านไปหกเดือนแล้วสำหรับปี 2567 นี้ และการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมก็ดูจะเริ่มซาลง จากรายงานของ S&P Global ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต หรือ Manufacturing PMI ของทั่วโลก ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ได้ลดลงเหลือ 50.9 จากเดิมที่ 51.0 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณว่ากิจกรรมการผลิตทั่วโลกได้เริ่มชะลอตัวลงแล้วในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 นี้
หากดูเป็นรายประเทศ จะเห็นได้ว่า Manufacturing PMI ในหลายประเทศตลาดเกิดใหม่ยังคงปรับตัวดีขึ้น แต่ดัชนีดังกล่าวกลับปรับตัวแย่ลงในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ซึ่งการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมในประเทศใหญ่ๆ นี้เองที่ทำให้ Manufacturing PMI โดยรวมของทั่วโลกปรับตัวลง ยกตัวอย่างเช่นในสหภาพยุโรป ที่ดัชนีลดลงจาก 47.3 ในเดือนพฤษภาคม เหลือ 45.8 ในเดือนกรกฎาคม โดย Manufacturing PMI ของสหภาพยุโรปนั้นอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงการหดตัว (ระดับต่ำกว่า 50) มาติดต่อกันกว่า 20 เดือนแล้ว (แผนภูมิ 1) เช่นเดียวกัน
ดัชนีในสหรัฐฯ เอง ก็อยู่ในระดับหดตัวและปรับตัวลงเล็กน้อย จาก 48.7 ในเดือนพฤษภาคม เหลือ 48.5 ในเดือนกรกฎาคม (แผนภูมิ 1) ส่วนดัชนีในเยอรมนีก็ลดลงจาก 45.4 ในพฤษภาคม มาอยู่ที่ 43.5 ในกรกฎาคม ด้วยเช่นกัน (แผนภูมิ 1)
และในอนาคต กิจกรรมภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอลงอีก นี่สะท้อนจากดัชนีอื่นๆ ของ S&P Global ที่อาจกระทบการผลิตในอนาคต เช่น ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ (New Orders) ที่ลดลงเหลือ 50.8 ในเดือนกรกฎาคม จาก 51.2 ในเดือนก่อนหน้า หรือ ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก (New Export Orders) ที่ปรับตัวลงสู่ระดับหดตัวที่ 49.3 ในเดือนกรกฎาคม จาก 50.4 ในเดือนก่อนหน้า
ในขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านราคาก็ดูจะเริ่มก่อตัว เห็นได้จากดัชนีต้นทุนสินค้า (input cost) ที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 16 เดือนที่ 55.3 ในเดือนกรกฎาคม จากเดิมที่ 54.8 ในเดือนพฤษภาคม และดัชนีราคาขาย (output cost) ที่ปรับตัวขึ้นจาก 51.7 ในเดือนพฤษภาคมมาเป็น 52.1 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นสัญญาณว่าโลกกำลังจะเจอปัญหาเงินเฟ้ออีกรอบ เนื่องจากในรอบที่แล้ว ดัชนีต้นทุนสินค้าก็ปรับตัวขึ้นเช่นนี้ก่อนที่เงินเฟ้อจะตามมาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันราคาที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ไม่น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกตัดสินใจหยุดลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากยังคงมีแนวโน้มที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอีก แต่สิ่งที่แรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นนี้อาจทำได้ คือทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องลดความเร็วในการลดดอกเบี้ยลง
โฆษณา