16 ก.ค. เวลา 09:42 • ธุรกิจ

‘ผู้สูงวัยเลือกจ่ายถึง 63% เพื่อธุรกิจที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์’

ส่องเทรนด์ของ Silve Age เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ สามารถทำธุรกิจอะไรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการได้บ้าง
รู้หรือไม่ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วนะ!
ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ในปี 2566 สัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในประเทศไทยนั้น คิดเป็น 20.17% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเข้าข่ายการเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์’
สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หมายถึง การมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราเท่ากับหรือมากกว่า 20 % หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าหรือเท่ากับ 14% ของประชากรทั้งหมด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไม่น้อย กล่าวคือ ก่อให้เกิดการใช้จ่ายกับสินค้าและบริการต่างๆ ที่มากขึ้น โดยงานวิจัยจากศูนย์วิจัยกสิกรระบุว่า มูลค่าการใช้จ่ายของผู้สูงอายุไทยในปี 2024 จะอยู่ที่ราว 1.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปี 2023 ถึง 3.8% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2029 ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด
โดยสินค้าที่ผู้สูงอายุเลือกใช้สามารถจ่ายแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือธุรกิจที่เน้นด้านสุขภาพ เช่น ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม กลุ่มต่อมาคือธุรกิจอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุ
การขยายตัวของสังคมสูงวัยนี้ ผู้บริหาร นักการตลาด เจ้าของกิจการต่างๆ จะสามารถมองหาโอกาสอะไรได้บ้าง ไปดูกัน👇🏻
🧓[ ธุรกิจด้านสุขภาพ กับเม็ดเงินที่ผู้สูงอายุยอมจ่ายในสัดส่วน 37% ของการใช้จ่ายทั้งหมด ]
ธุรกิจที่เน้นด้านสุขภาพ ได้แก่ ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และการ
ดูแลสุขภาพ โดยสินค้าและบริการที่สามารถสร้างโอกาสในกลุ่มธุรกิจนี้ คือ ศูนย์โรคเฉพาะทาง ยา เวชภัณฑ์ บริการดูแลผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจาก ‘เทรนด์รักสุขภาพ’ ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงวัย ในส่วนของอาหาร และเครื่องดื่ม ก็จะต้องช่วยดูแลสุขภาพ เป็นอาหารทางการแพทย์ และจำเป็นที่จะต้องบริโภคง่าย มีโภชนาการครบถ้วน
🧓[ ธุรกิจตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุเลือกจ่ายถึง 63% ของการใช้จ่ายทั้งหมด ]
สำหรับกลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุนั้น แม้จะมีความถี่ไม่เท่ากลุ่มอาหารและการดูแลสุขภาพ แต่ก็ถือได้ว่ามีการจ่ายด้วยปริมาณเงินจำนวนมากในการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ได้แก่
- ธุรกิจนวัตกรรมต่างๆ เช่น เครื่องมือ Smart Home ต่างๆ ไม้เท้าอัจริยะ เครื่องช่วยฟัง
- ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น อาหารสัตว์ บริการดูแลสัตว์เลี้ยง (จากการเลี้ยงสัตว์เพื่อบำบัดรักษาจากความเหงา)
- ธุรกิจที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
- ธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น บริการทางการเงิน บริการ Entertainment ต่างๆ
🧓[ แล้วมีอะไรที่ต้องระวังบ้าง? ]
แม้ตลาดผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจอยู่ 2 ประเด็น กล่าวคือ ประเด็นแรก ตลาดจะเกิดการแข่งขันรุนแรง มีการแย่งชิงลูกค้าที่มีศักยภาพ เนื่องจากตลาดในช่วงแรกยังไม่ใหญ่มาก และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง ประเด็นที่สองคือเรื่องของต้นทุนในการปรับตัว เพราะการพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับผู้สูงอายุ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ผู้ประกอบการ SMEs จึงอาจจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
🧓[ ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างไร จึงจะสามารถเข้าถึงสังคมสูงวัยได้ดี ]
นอกจากปรับธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุแล้ว การปรับกลยุทธ์ก็สำคัญเช่นกัน โดยการทำกลยุทธ์การตลาดเน้นไปที่ลูก-หลาน ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่มีส่วนในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการแทนผู้สูงอายุ ด้วย
นอกจากนี้ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการ SMEs อาจประสบปัญหาในเรื่องของเงินทุนในช่วงแรกได้ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะกับผู้สูงวัยมาใช้ แต่หากปรับตัวได้ เทคโนโลยีนั้นๆ จะช่วยสร้างความคุ้มค่าในระยะกลาง-ยาว รวมไปถึงการใช้ AI ในธุรกิจ ก็จะช่วยให้เจ้าของกิจการเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น
เรียบเรียงเนื้อหาโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsBusiness
โฆษณา