16 ก.ค. เวลา 10:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 147/2567

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) เพื่อยกระดับการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับลักษณะและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภท สอดคล้องกับแนวทางสากล และสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยมากยิ่งขึ้น
ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เหมาะสมตามลักษณะและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภท (same activity, same risk, same regulatory outcome) รวมทั้งสอดคล้องกับการกำกับดูแลในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย
ก.ล.ต. จึงจัดทำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งได้ปรับปรุงหลักการตามข้อเสนอที่ได้รับจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อปลายปี 2566 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) ปรับปรุงขอบเขตนิยามสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีลักษณะเป็นคริปโทแอสเซท (crypto asset) ตามแนวทางสากล ซึ่งมีลักษณะร่วมพื้นฐาน 4 ประการ* รวมทั้งมีลักษณะเป็นกลางทางเทคโนโลยี (tech neutral) และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยให้อำนาจคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล (positive list) เพื่อความเหมาะสมในการกำกับดูแล
(2) การปรับปรุงหลักการกำกับดูแลการออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดแรก (ซึ่งไม่มีลักษณะของการระดมทุนและไม่มีความคาดหวังความสำเร็จของโครงการ**) ให้สอดคล้องกับขอบเขตสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยกำหนดให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล (แบบ filing) และร่างหนังสือชี้ชวน ตามหลักการเปิดเผยข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน (disclosure based) แทนการได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.
พร้อมทั้งยกเลิกการกำหนดให้ต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) เพื่อให้การกำกับดูแลในการเสนอขายมีความเหมาะสมและได้สัดส่วนกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกเสนอขาย
(3) การปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดรองให้สอดคล้องกับการปรับปรุงบทนิยาม “สินทรัพย์ดิจิทัล” รวมทั้งกำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (means of payment)
ปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อกำกับดูแลบุคคลที่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร แต่เข้ามามีอำนาจบริหารกิจการ และเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อกำกับดูแลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไว้ใน พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่น่าเชื่อถือและเหมาะสมแก่การประกอบธุรกิจ
(4) การปรับปรุงและแก้ไขหลักการในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับบทกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลต่อประชาชนให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว
ปรับปรุงอัตราโทษทางอาญาและปรับเปลี่ยนโทษทางอาญาเดิมในบางลักษณะให้เป็นโทษปรับเป็นพินัย*** และปรับปรุงอายุความในการดำเนินคดีสำหรับความผิดตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้มีอายุความไม่เกิน 5 ปีเช่นเดียวกับมาตรา 316/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นต้น
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ไว้บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1007 และระบบกลางทางกฎหมาย http://law.go.th/ ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: pinyapat@sec.or.th หรือ dpsec@sec.or.th จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2567
หมายเหตุ :
* ลักษณะร่วมพื้นฐาน 4 ประการ (4 key elements) ได้แก่
(1) มีการออกแบบและใช้งานในรูปแบบดิจิทัล (issued & represented in digital form)
(2) เป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง (intangible asset)
(3) ผู้ถือต้องการถือสิทธิเหนือสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น (right to control) และ
(4) สามารถเปลี่ยนมือได้ (transferable)
** ประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้กำกับดูแล (positive list) ที่เสนอปรับปรุง เช่น สินทรัพย์ประจำบล็อกเชน (native coin) สินทรัพย์ประจำโครงการ CeFi หรือ DeFi สินทรัพย์ประจำแพลตฟอร์ม stable coin หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นซึ่งคณะกรรมการสามารถกำหนด positive list ได้
*** โทษปรับเป็นพินัย คือ การสั่งให้ผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงชำระค่าปรับไม่เกินที่กฎหมายกำหนด
โฆษณา