17 ก.ค. เวลา 02:00 • ธุรกิจ

John Simplot เกษตรกรแสนล้าน รวยจาก ชิปกินได้ และกินไม่ได้

ชิป (Chip) คือ มันฝรั่ง ซึ่งเป็นขนมหรืออาหารว่างกินเล่นของคนทั่วโลก ที่แทบขาดไม่ได้
แต่ในอีกความหมายหนึ่งของ ชิป ก็คือ ชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่อยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด และก็ต้องยอมรับว่าโลกเองก็ขาดไม่ได้เช่นกัน
 
แม้ทั้ง 2 อย่างดูเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่คุณ John Simplot
เศรษฐีทรัพย์สินหลักแสนล้านบาท กลับร่ำรวยจากการเป็นเจ้าของธุรกิจชิปกินได้ และกินไม่ได้ ไปพร้อมกัน
คุณ John Simplot คือใคร ?
ทำไมถึงทำธุรกิจชิปกินได้ (มันฝรั่ง) และกินไม่ได้ (ชิปเซมิคอนดักเตอร์) ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
คุณ John Simplot เกิดที่เมือง Dubuque รัฐไอโอวา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1909 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย
ในวัยเด็กของเขา ดูจะไม่ลงรอยกับพ่อเท่าไร กระทั่งในวัย 14 ปี เขาได้ทะเลาะกับพ่ออย่างหนัก จนถึงขั้นลาออกจากโรงเรียน และเดินทางออกจากบ้านไปคนเดียว
แต่ก่อนที่จะออกมา แม่ของเขาก็ให้เงินติดตัวไว้ใช้ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าตีเป็นเงินบาทในปัจจุบัน ก็จะอยู่ที่ราว ๆ 13,000 บาท
ซึ่งคุณ Simplot นำเงินตรงนี้ ไปลงทุนซื้อตราสารแทนเงิน จากครูแถวบ้าน
เพราะในสมัยก่อน ครูอเมริกันจะไม่ได้รับเงินเดือน แต่จะได้รับเป็นตราสารที่เอาไปใช้จ่ายได้ ซึ่งเมื่อคุณ Simplot ซื้อแล้ว ก็ไปขายให้ธนาคารต่อ
การทำแบบนี้ ทำให้เขาได้กำไรมาก้อนหนึ่ง จากนั้นก็เอาไปซื้อปืน รถบรรทุกเก่า ๆ และหมู เพื่อหารายได้เสริมเข้ามาเพิ่ม
แต่เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลกกับเขาอีกครั้ง เพราะราคาอาหารสัตว์ในตอนนั้นแพงขึ้น ทำให้คุณ Simplot ต้องหาวิธีลดต้นทุนอาหารสัตว์ของตัวเอง
จนในที่สุด เขาตัดสินใจเอาปืนไปยิงม้าป่า เพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ผสมกับมันฝรั่ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนมหาศาล และขายได้มากกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ
จากเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐที่แม่ให้มา ภายใน 6 ปี
เงินตรงนี้เพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ เรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นถึง 350 เท่า
การลงทุนที่ผ่านมา ทำให้คุณ Simplot มั่นใจในตัวเองมากขึ้น เลยตัดสินใจทำฟาร์มมันฝรั่งในปี 1929
อย่างไรก็ตาม การทำฟาร์มมันฝรั่งก็ไม่ได้ทำให้เขาเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวย จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ก็ได้เริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตเขา
เพราะในตอนนั้น ทางกองทัพสหรัฐฯ ต้องการอาหารแห้งที่กินได้ง่าย ซึ่งคุณ Simplot กลายเป็นเจ้าของธุรกิจที่ส่งหัวหอมแห้งกับมันฝรั่งให้กองทัพสหรัฐฯ ตลอดสงคราม
1
ซึ่งคำสั่งซื้อที่มหาศาลขนาดนี้ ทำให้คุณ Simplot มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเขาตัดสินใจตั้งบริษัท J.R. Simplot เพื่อจัดการธุรกิจที่ซับซ้อนมากขึ้น
แต่ความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่ได้การันตีว่าทุกอย่างจะสำเร็จเสมอไป เพราะในปี 1953 คุณ Simplot ตัดสินใจทำมันฝรั่งแช่แข็งออกมา แต่มันกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า
แม้ตอนนั้น ตู้เย็นและอุปกรณ์เครื่องครัวในบ้านจะขายดีทุกบ้านเรื่อย ๆ แต่การทอดมันฝรั่งแช่แข็ง ก็ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะคนรู้สึกว่าปรุงยากมากเกินไป
1
ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ทำให้คุณ Simplot ต้องหาลูกค้าหน้าใหม่ จนในที่สุดก็ไปเจอกับคุณ Ray Kroc เจ้าของ McDonald’s ที่กำลังหามันฝรั่งแช่แข็งให้ธุรกิจ
เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น มันฝรั่งพันธุ์ Russet ที่ไว้ทำเฟรนช์ฟรายส์จะขาดตลาด 3 เดือนในช่วงหน้าร้อนของทุกปี
ซึ่งคุณ Simplot สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ให้กับ McDonald’s ได้ เพราะมีเทคนิคการแช่แข็งมันฝรั่ง
ที่สามารถทำได้เป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวของโลก
1
และดีลที่เกิดขึ้นกับ McDonald’s ก็ทำให้คุณ Simplot เป็นเกษตรกรที่รวยมากขึ้น จนกลายเป็นเศรษฐีร้อยล้าน
ผู้มั่งคั่งในรัฐไอโอวา ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา
แต่ถ้าถามว่า มันฝรั่งอย่างเดียว ทำให้ความร่ำรวยของคุณ Simplot ถึงแสนล้านได้เหรอ ?
คำตอบคือ ไม่
 
เพราะในอีก 7 ปีถัดมา คุณ Ward Parkinson, คุณ Joe Parkinson, คุณ Dennis Wilson และคุณ Doug Pitman กลุ่มเด็กหนุ่มในเมืองไอโอวา เดินมาขอเงินทุนกับเขา เพื่อไปเริ่มธุรกิจใหม่
ซึ่งธุรกิจที่ว่านั้น มีชื่อว่า Micron Technology โดยมีโมเดลธุรกิจคือ รับจ้างผลิตชิปหน่วยความจำ แข่งกับบริษัทญี่ปุ่น ที่กำลังครองตลาดอยู่ในช่วงนั้น
คุณ Simplot เอง ก็ไม่รอช้าที่จะให้ทุนไป 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1980 แลกกับหุ้นส่วน 40% แม้ยังไม่รู้ว่า อนาคต Micron Technology จะแข่งขันในตลาดได้ดีแค่ไหน
1
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เงินลงทุนตรงนี้ ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 1995 เงินก้อนนั้นกลายเป็นเงินมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
หากคิดปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว ในปี 1980 เงินลงทุนตรงนั้นคิดเป็น 140 ล้านบาท
ส่วนในปี 1995 มูลค่าการลงทุน เพิ่มเป็น 30,293 ล้านบาท
1
เท่ากับว่า ภายใน 15 ปี ผลตอบแทนจากการลงทุนใน Micron Technology เพิ่มขึ้นถึง 215 เท่า
ที่ราคาหุ้น Micron Technology ปรับตัวเพิ่มจนมีมูลค่ามากขนาดนี้ เป็นเพราะว่า Micron Technology กำลังทำชิปหน่วยความจำและบริการจัดเก็บข้อมูล
1
ซึ่งแทบทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องใช้
ไล่ตั้งแต่รถยนต์ สมาร์ตโฟน และคอมพิวเตอร์
ทำให้ปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่ามากถึง 5.5 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 1996 คุณ Simplot ก็ทยอยขายหุ้นใน Micron Technology ออกไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้ก็ไม่ปรากฏว่ายังถือหุ้นอยู่ไหม
โดยคุณ Simplot เสียชีวิตไปแล้วในปี 2008 ตอนอายุ 99 ปี ปิดฉากตำนานเกษตรกรแสนล้าน
ที่รวยจากชิปกินได้และกินไม่ได้ ไปพร้อมกัน
มีการประเมินว่า มูลค่าความมั่งคั่งของเขา
มากถึง 136,293 ล้านบาท ในปีที่เสียชีวิต
ถึงตรงนี้ ก็ไม่น่าเชื่อว่าคุณ Simplot เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ จากแม่ของเขา โดยต่อยอดเงินไปลงทุนทำธุรกิจเรื่อย ๆ ก่อนจะรวยขึ้นมาหลักแสนล้านได้
1
แม้เขาจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว แต่สิ่งที่เขาทำ ก็ยังอยู่ตลอดไป ทั้งนวัตกรรมมันฝรั่งแช่แข็ง เจ้าแรกของโลก และชิปหน่วยความจำ ที่ทุกคนใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน
เรื่องนี้ก็คงสะท้อนได้ดีว่า ถ้าเราตายไป ผู้คนไม่ได้จดจำว่าเรารวยแค่ไหน หรือมีเงินมากมายเท่าไร
แต่คนจะจดจำว่า เราทำอะไรที่มีประโยชน์ให้กับโลก ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่มากกว่า..
โฆษณา