17 ก.ค. เวลา 01:56 • ความคิดเห็น

การ Work Hard ของผู้บริหารหน้าตาเป็นอย่างไร

บทความนี้จุดประกายมาจากเฟซบุ๊คสเตตัสของพี่แท้ป รวิศ หาญอุตสาหะ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2024 ซึ่งมีคนแชร์ไปแล้วสองหมื่นกว่าครั้งภายในสองวัน:
"ดูจากบรรยากาศเศรษฐกิจ 1-2 ปีต่อจากนี้ บอกเลยว่าใครยังทำงานชิล work life balance slow life อยู่ไม่รอดแน่นอน ตอนนี้ต้องกลับเข้าสู่บรรยากาศ work hard to survive แล้ว"
วันถัดมาพี่แท้ปก็อัปโหลดคลิปบน YouTube ชื่อ "ขยายความประเด็น Work Hard (และ Work Smart) ในการทำงานและการใช้ชีวิต | Mission To The Moon EP.2169"
1
ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยมีหลายคนตั้งแง่ว่าเจ้าของหรือผู้บริหารก็อยากให้ลูกน้องทำงานหนักอยู่แล้ว ซึ่งผมคงไม่แตะประเด็นนั้น
ประเด็นที่ผมสนใจ และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ก็คือ การ Work Hard ของผู้บริหารนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
ผมเองอายุ 40 กว่า ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนก HR ให้บริษัท tech ที่มีพนักงานพันกว่าคน คิดว่าน่าจะพอจะเข้าใจคนที่หน้าที่การงานเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ระดับหนึ่ง
จากประสบการณ์ ผมคิดว่าคนที่เป็นระดับ Director, Head, VP หรือ C-Suite นั้นเป็นคนทำงานหนักอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ (แน่นอนว่าบางคนก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ผมเชื่อว่าเป็นส่วนน้อย)
สิ่งหนึ่งที่คนในตำแหน่งเหล่านี้หนีไม่พ้น ก็คือต้องเข้าประชุมเยอะมาก ตารางแน่นเกือบทั้งวันจนแทบไม่มีเวลากินข้าวหรือเข้าห้องน้ำ กว่าจะมีเวลาเคลียร์อีเมลหรือไล่ตอบ Slack ก็เป็นช่วงหัวค่ำแล้ว สัปดาห์หนึ่งน่าจะได้ทำงานเกือบ 50 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น
10
ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจมันแย่และมีความเสี่ยงรออยู่มากมาย เราจะ work hard หรือ work even harder ได้อย่างไร?
คำว่า "Musings" ใน Anontawong's Musings แปลว่า "การคิดไปเรื่อยๆ"
ผมจึงขอผู้อ่านออกเดินทางไกล แต่สัญญาว่าจะพากลับเข้าฝั่งในตอนท้ายนะครับ
-----
เมื่อประมาณสามสิบกว่าปีก่อน รายการทีวีหลายรายการมักจะเอาโฮมวีดีโอมาเปิดให้พวกเราดู
"โฮมวีดีโอ" คือคลิปที่มักถูกถ่ายจากกล้องวีดีโอประเภท camcorder ที่คนในบ้านถ่ายเอาไว้ดูเอง ถ้าอันไหนฮา ก็จะส่งมาให้รายการทีวีเผยแพร่
มีโฮมวีดีโอตัวหนึ่งน่ารักมาก และผมยังจำได้มาจนถึงวันนี้
เป็นคลิปของเด็กผู้หญิงฝรั่งอายุไม่เกิน 4 ขวบ สวมชุดกระโปรง สะพายกระเป๋าถือที่มีสายสะพายยาวๆ
เด็กคนนี้ออกวิ่งไปได้นิดเดียวก็ล้มปุ! โชคยังดีที่เป็นสนามหญ้า
สาเหตุที่ล้มก็เพราะว่าสายสะพายกระเป๋ามันยาวมาก ตัวกระเป๋าจึงไปรั้งที่เข่าเธอและทำให้เธอวิ่งแล้วสะดุด
สิ่งที่เด็กคนนี้ทำคืออะไรรู้มั้ยครับ?
เธอก้มลงผูกเชือกรองเท้าใหม่ให้แน่นขึ้น
แล้วก็ออกวิ่ง เพียงเพื่อที่จะล้มลงอีกครั้ง
แล้วเธอก็พยายามผูกเชือกรองเท้าอีก
ผมจำได้ว่าผมดูวีดีโอนี้แล้วก็ขำในความไร้เดียงสาของเด็กน้อย
แต่ก็เข้าใจเด็กนะว่าทำไมเธอถึงคิดว่ารองเท้าเป็นปัญหา ในเมื่อหนูใช้เท้าวิ่ง ถ้าเกิดวิ่งไม่ไป หนูก็ต้องแก้ที่รองเท้าสิ
ต้องล้มถึงสามครั้ง เด็กคนนี้ถึงจะถึงบางอ้อว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เชือกผูกรองเท้า
เธอจึงดึงกระเป๋าสะพายให้ไปห้อยด้านหลังแทน แล้วก็ออกวิ่งโดยไม่ล้มอีกเลย
ในฐานะคนทำงาน พอเรารู้สึกว่าต้อง work harder เรามีความเสี่ยงที่จะเข้าใจว่าปัญหาอยู่ที่เชือกผูกรองเท้า
2
ทุกครั้งที่ล้ม เราจะคิดว่ารองเท้าไม่ดี เราเลยพยายามผูกเชือกรองเท้าใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อจะล้มอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
------
"ปีนี้จะไม่ง่าย เราจึงต้องมีเวลาคิดเยอะๆ"
ประโยคนี้เป็นคำพูดของพี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร CEO ของโอสถสภา และ mentor ของผมในโครงการ IMET MAX
พี่อ้นบอกว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ขึ้นมาถึงเรามักจะเป็นปัญหายากๆ ทั้งนั้น เพราะปัญหาง่ายๆ ลูกน้องแก้ให้หมดแล้ว
เมื่อต้องพบเจอปัญหาระดับตัวบอสวันละหลายปัญหา แถมต้องมีประชุมเกือบทั้งวัน โจทย์คือเราจะจัดการตัวเองอย่างไรเพื่อจะมีสมาธิ พลังงาน และเวลาในการขบคิดเรื่องที่สำคัญต่อองค์กรและต่อชีวิตตนเอง
2
------
ครั้งหนึ่งผมเคยได้ไปร่วมโต๊ะกินข้าวกับพี่เล้ง ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ผู้บริหาร MFEC และผู้ทำให้คนทำงานหันมาสนใจการบริหารสไตล์เต้าเต๋อจิง
พี่เล้งถามพวกเราว่า รู้มั้ยว่า "ความรู้" กับ "ปัญญา" ต่างกันอย่างไร
หลังจากฟังคำตอบจากรอบวงแล้ว พี่เล้งก็เฉลยว่า
ความรู้เกิดจากความมี ปัญญาเกิดจากความว่าง
9
------
Naval Ravikant นักลงทุนสาย venture capital ในบริษัทอย่าง Twitter, Uber, และ Stack Overflow เคยกล่าวไว้ว่า
"การตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จริงๆ แล้ว คนที่ตัดสินใจถูกต้อง 80 เปอร์เซ็นต์แทนที่จะเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ จะได้รับการประเมินค่าและได้รับค่าตอบแทนในตลาดมากกว่าเป็นร้อยเท่า
ถ้าผมบริหารเงิน 1 พันล้านดอลลาร์และผมถูกต้องมากกว่าคนอื่น 10 เปอร์เซ็นต์ การตัดสินใจของผมจะสร้างมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แรงงานจำนวนมาก และเงินทุน การตัดสินใจของเรามี leverage มากขึ้นเรื่อยๆ"
-----
Scott Galloway เล่าไว้ในหนังสือ The Algebra of Wealth ว่า ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดมักไม่ใช่คนที่ตัดสินใจถูกที่สุด แต่เป็นคนที่ตัดสินใจบ่อยที่สุดต่างหาก
4
"It's not the person who makes the best decisions who comes out ahead, it's the person who makes the most decisions. Making more decisions means you get more feedback, and you get better at it. Each decision you make is an opportunity to pivot, and the more decisions there are, the lower the stakes of any wrong decision you make."
3
คุณต้นสน สันติธาร เสถียรไทย ก็เขียนเอาไว้ในหนังสือ Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม ว่า
"If you have to forecast, forecast often. - หากคุณต้องพยากรณ์ ก็จงพยากรณ์บ่อยๆ
3
สิ่งที่อันตรายที่สุดในการคาดการณ์อนาคตคือ การยึดติดกับมุมมองเดียว ไม่เปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ที่เข้ามา แม้วันนี้มุมมองนั้นอาจะทำให้เราทายอนาคตถูก แต่วันหน้าโลกปรับ บริบทเปลี่ยน มุมมองนั้นอาจทำให้เราทายผิดก็ได้ โดยศัตรูสำคัญคืออีโก้ของเราเองที่ไม่ยอมรับว่าทายผิด
เทคนิคที่ผมใช้แก้ปัญหาอีโก้ตรงนี้คือ จะคอยทำนาย 2-3 ความเป็นไปได้เสมอ เสมือน "แทงม้า" ทีละ 2-3 ตัวแทนที่จะแทงตัวเดียว โดยม้าแต่ละตัวคือ สถานการณ์ (scenario) ที่อาจจะเกิดขึ้น และกำหนดว่า ปัจจัยกับข้อมูลอะไรบ้างที่เราต้องคอยติดตามเพื่อดูว่าม้าตัวไหนจะ "เข้าวิน"
1
โดยข้อดีของวิธีนี้คือ ม้าเหล่านี้ล้วนเป็นตัวที่เราแทงไว้ จึงทำให้เราเปลี่ยนใจจากม้าตัวหนึ่งไปอีกตัวได้ โดยอีโก้ไม่ฉุดรั้งให้เรายึดติดกับตัวเดียว"
-----
เมื่อเราตัดสินใจแล้ว เราไม่สามารถลงมือเองได้คนเดียว เราต้องพึ่งพาลูกทีมของเราให้ลงมือทำ หรือ execute ให้ภาพที่เราคิดเอาไว้มันเกิดขึ้นจริง
1
ดังนั้น ความฝันของหัวหน้า คือการมีลูกทีมที่พึ่งพาได้
หน้าที่ของผู้บริหารคือการสร้างทีมของตัวเองให้เต็มไปด้วยคนที่พึ่งพาได้ เราจะได้ไม่ต้องไปแบกงานของน้อง และเราจะได้มีแรงและเวลาไปคิดและมองในสิ่งที่น้องมองไม่เห็นเพราะไม่ได้ยืนอยู่ในจุดเดียวกับเรา
2
Eric Schmidt อดีตซีอีโอของ Google เคยกล่าวไว้ในหนังสือ How Google Works ว่า หน้าที่สำคัญที่สุดของหัวหน้า คือการสรรหาคนเข้าทีม
"Hiring is the most important thing you do. For a manager, the right answer to the question "What is the single most important thing you do at work?", is hiring."
2
นอกจากสรรหาคนที่เหมาะสมเข้าทีมแล้ว หัวหน้าและผู้บริหารยังต้องกล้าจัดการคนที่ไม่เหมาะสมกับองค์กรด้วย เพื่อสุดท้ายเราจะได้มีทีมที่ศีลในการทำงานเสมอกัน
3
-----
พอเราอยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร ทำงานสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมงอยู่แล้ว การทำงานให้หนักกว่าเดิม การสรรหาความรู้ให้มากกว่าเดิม อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่เชือกผูกรองเท้า
สิ่งที่ผู้บริหารควรแสวงหาไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นปัญญา ซึ่งจะผุดขึ้นมาได้เมื่อเรามี "ความว่าง" อยู่ในตารางชีวิต
1
เพราะสถานการณ์ต่อจากนี้มันยากลำบาก เราจึงต้องมีเวลาคิดให้เยอะ เราต้องดูแลตัวเองให้ดี จะได้มีความนิ่งและความเฉียบคมในการตัดสินใจให้บ่อยและพร้อมจะปรับเปลี่ยนเมื่อบริบทไม่เหมือนเดิม โดยต้องมีทีมงานที่ศีลเสมอกันช่วยลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง
2
แน่นอนว่าไม่ง่าย เพราะเราเคยชินกับการทำงานหนักมานาน
แต่ก็เหมือนกับที่ Kevin Kelly อดีตบ.ก.ของ Wired Magazine เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อเราเดินทางมาถึงจุดหนึ่งในชีวิต การทำงานให้ต่างไปจากเดิม อาจมีประโยชน์กว่าการทำงานให้หนักขึ้น
"Working differently is usually more productive than working harder."
2
ในฐานะผู้บริหาร เราจึงควรหมั่นถามตัวเองว่าจากนี้ไปเราจะทำอะไรให้ต่างออกไปจากเดิม เพื่อสร้างผลที่ดีให้กับองค์กรและตัวเองครับ
โฆษณา