17 ก.ค. เวลา 03:29 • ความคิดเห็น

Schadenfreude

สองสามวันก่อนมีโพสต์แซะ ดร วิทย์ สิทธิเวคิน ที่ต่อให้ไม่ได้เขียนชื่อตรงๆ แต่ใครอ่านก็รู้ว่าเป็น ดร วิทย์ และในช่วงต้นก็มีกลุ่มเพื่อนไปร่วมแซะกันด้วยความสะใจ เนื้อหาก็ประมาณว่าหากินกับ talk ประวัติศาสตร์ได้ปีละหลายสิบล้าน แล้วใช้คำยากๆ พวกว่าไม่มี methodology authentic sources citation. Bias perspective เพื่อโชว์เหนือ พร้อมแซะว่าเป็นพหูสูตร อะไรต่างๆ นานา โพสต์นั้นขยายไปในวงกว้าง และส่วนใหญ่คนที่ได้ทราบก็เห็นอกเห็นใจ ดร วิทย์ รวมถึงผมเอง
ผมอ่านแล้วบอกตรงๆว่าโมโหแทน ดร วิทย์มาก เพราะผมรู้จักและเห็น ดร วิทย์มาตั้งแต่ต้น ตอนที่เขาเริ่มทำรายการ 8 minute history นั้นแทบไม่มีคนดู สองปีแรกนี่ไม่น่ามีรายได้อะไรด้วยซ้ำ สปอนเซอร์ก็ไม่เข้า เขาก็เพียรพยายามกับทีมงาน ทำไปแก้ไปเป็นร้อยๆ ตอน จนพอมีแฟนคลับพอสมควร ก็เลยมีคนชวนทำ talk show ก็คงมีรายได้บ้างแต่ไม่น่าจะมาก ไม่ใช่หลายสิบล้านตามที่กล่าวหา
และต่อให้มีรายได้ก็เป็นความเพียรพยายามของเขา อย่างที่คุณหนุ่ย พงศ์สุขเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “การที่มีคนตั้งตนสร้างความรังเกียจในการหาเงินได้โดยสุจริต ของคนที่โด่งดังขึ้นมา.. ซึ่งเขาก็ไม่ใช่ดังชั่วข้ามคืน แต่บ่มมานานนับทศวรรษ“
แถมงานของ ดร วิทย์ นั้นทำให้เด็กๆและผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย หันมาสนใจประวัติศาสตร์ ไปคันคว้าเพิ่มเติม ด้วยความสนุก สนใจและได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นมาก รวมถึงผมเองด้วย
ผมพยายามทำความเข้าใจคนประเภทนี้ ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ ฉลาด และมีทักษะในการเขียน
ทำไมถึงไม่ใช้ความสามารถในการสร้างคอนเท้นท์ดีๆ หรือถ้าจะโจมตี ทำไมไม่ไปโจมตีคอนเท้นท์ขยะ งมงาย ที่มีเต็มฟีด ทำไมถึงจ้องจะเล่นงาน หรือต้องแซะ ดร วิทย์ ผมยังนึกคำไทยที่อธิบายคนลักษณะนี้ไม่ออก แต่นึกถึงเรื่องที่เคยเขียนไว้ และที่ตลกดีคือผมเคยถาม ดร วิทย์เพื่อขอความรู้เรื่องนี้มาประกอบการเขียนไว้ด้วย เพราะคำที่เคยผ่านตามา เป็นคำภาษาเยอรมันที่ ดร วิทย์ น่าจะเข้าใจมากกว่าผม
มีรุ่นน้องเพิ่งบ่นว่าได้ยินมาถึงคำนินทาถึงตัวเองซึ่งฟังแล้วก็นอยด์ จิตตกอยู่ไม่น้อย แต่พอผมได้เรื่องที่ว่า ผมกลับนึกถึงพฤติกรรมของผู้เล่ามากกว่าว่าเล่าเพื่อจุดประสงค์ใดและเล่าความจริงหรือบริบททั้งหมดหรือไม่ เพราะผมเจอคนประเภทนี้อยู่บ้าง เป็นคนที่มีความสุขเวลาเห็นคนอื่นทุกข์หรือพังพินาศ
ผมอยากอธิบายลักษณะคนพรรค์นี้แล้วไปลองอ่านๆ ดูว่าเขาเรียกคนพรรค์นี้ว่าอย่างไร ซึ่งมีในภาษาเยอรมันเรียกว่า Schadenfreude ผมถึงกับต้องถามไปที่ ดร วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้รู้เรื่องเยอรมันดีซึ่งได้รับคำตอบว่าเป็นคำเฉพาะมากแต่ก็อ่านได้ว่า ชาเด้อฟรอย และประมาณว่าเป็นคนประเภทสุขใจเมื่อเวลาเห็นคนอื่นฉิบหาย
ซึ่ง ดร วิทย์ ก็บอกต่อด้วยว่า มันมีในทุกวัฒนธรรมครับพี่..
ผมเองก็เจอคนแบบนี้อยู่เป็นพักๆ แต่ก่อนมีน้องที่ทำงานคนหนึ่ง เจอทีไรจะรีบเข้ามาแล้วเล่าว่ามีใครด่าผมบ้าง มีเรื่องอะไรที่ผมถูกนินทา ใครพูดอะไรไม่ดีกับผมในบริษัท ผมฟังใหม่ๆ
ก็จิตตกเหมือนกัน คิดมากและก็พยายามคิดว่าเราทำอะไรไม่ดีบ้าง มองคนที่เขามาเล่าถึงด้วยความระแวงบ้าง
แต่ก็เริ่มเอะใจว่าทำไมน้องคนนี้ถึงชอบเอาอะไรมาเล่าแบบนี้ ก็เลยสังเกตพฤติกรรมเขาและก็เริ่มรู้จักคนแบบ Schadenfreude เป็นครั้งแรกว่าเขาเป็นพวกชอบเห็นคนที่อาจจะดีกว่า มีความสุขกว่ามีความทุกข์ คงสะใจและมีความสุขจากการได้ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความนอยด์นี้ใส่คน พอมั่นใจว่าน้องเอามาบอกนี่มาแนวหวังดีแต่ประสงค์ร้าย ผมก็พยายามหนีห่างให้ไกล เจอหน้าหลบได้ก็หลบตั้งแต่นั้นมา
หลังจากนั้นผมก็เริ่มมีคำถามทุกครั้งเวลามีคนมาบอกว่าเรื่องราวติฉินนินทา หรือเรื่องร้ายๆว่าคนที่มาบอกนั้นมีจุดประสงค์อย่างไรก่อน หลายครั้งเป็นกัลยาณมิตรมาตักเตือนด้วยความปรารถนาดีซึ่งเวลาได้ยินก็จะฟังออกไม่ยากซึ่งเราต้องน้อมรับอย่างตั้งใจและขอบคุณ แต่มีบางครั้งก็จะรู้สึกถึงความสะใจของผู้เล่า หรือจุดประสงค์ที่แฝงอยู่ เวลาเห็นอาการทุกข์ของเรา การตั้งคำถามถึงผู้พูดไปพร้อมกับสารที่ได้นั้นมีประโยชน์สองทาง
ทางหนึ่งก็คือถ้าผู้พูดเจตนาไม่บริสุทธิ์ เราก็จะต้องเช็คต้นตอของข้อมูลก่อน เพราะเขาอาจจะเล่าไม่ครบเพื่อให้ดราม่า หรือเล่าโดยไม่ได้บอกบริบทหมดก็ได้ และประการที่สองก็คือทำให้รู้ว่าคนแบบ Schadenfreude นี้หนีได้ต้องหนี หนีไม่ได้ก็ต้องพยายามคุยเรื่องอื่นไปแทน
คนที่เป็น Schadenfreude ที่ผมเล่านั้นคือเป็นนิสัยสันดานก็เคยเจอ แต่ก็มีเป็นแบบชั่วคราวก็มี บางทีก็เพราะความอิจฉา ริษยา โกรธขึ้งอะไรบางอย่างก็เป็นไปได้ เช่นตอนที่ผมทำงานใหม่ๆ ผมเคยมีเพื่อนร่วมงานที่โกรธเจ้านายแล้วลาออกไป ก็จะพยายามมาเล่ามาพูดว่ามีคนพูดอะไรไม่ดี ใครนินทาผมบ้างเพื่อให้ผมทุกข์จนคิดจะลาออก จะได้ทำให้เขาไม่ได้รู้สึกแย่อยู่คนเดียว หรือไม่นานมานี้ก็มีเพื่อนที่เอาเรื่องที่ผมโดนใส่ร้ายมาเล่า มาใส่ไข่ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่จริงมาขยี้ เพื่อแสดงการเอาชนะคะคานทางการเมืองก็มี
ในกรณีแบบนี้ก็คงแค่หลีกเลี่ยงบทสนทนาในช่วงนั้นหรือหัวข้อนั้นๆ ไปเพราะความเป็นเพื่อนโดยรวมนั้นยังคงอยู่มากกว่าความเป็น Schadenfreude ชั่วคราว ความเป็นเพื่อนนั้นใหญ่จนพออดทนถูๆ ไถๆ ไปได้เช่นกัน
คนที่เป็นแบบนี้ที่ผมเจอบ่อยส่วนใหญ่ก็คือคนที่ผิดหวังหรือตกต่ำ ไม่ประสบความสำเร็จ แทนที่จะพยายามยกตัวเองขึ้นสูงแต่กลับแก้ปัญหาทางใจด้วยการดึงคนอื่นลงมาต่ำ มาทุกข์ให้เท่าตัวเอง หรือไม่ก็พยายามแค่จะเอาชนะคะคานทางความคิดหรือบางทีเป็นความสุขทางจิตที่ได้ความรู้สึกสะใจเวลาได้เห็นสีหน้าและความไม่สบายใจของผู้ฟัง สารที่เขาเอามาเล่าก็เลยไม่บริสุทธิ์ ผู้รับสารอย่างเรา ก่อนที่จะรีบนอยด์ก็ควรจะดูต้นทางของผู้ส่งสารก่อนด้วย อย่างน้อยก็จะได้ไม่รีบด่วนทุกข์จนเกินเหตุไปได้
และถ้าเราทุกข์ ตกต่ำ หรือมีชีวิตที่ไม่ดี เราก็น่าพยายามยกตัวเองให้สูงขึ้นแทนที่จะไปดึงคนอื่นให้ต่ำลงก็น่าจะเป็นผลดีกับทั้งเราเองและเพื่อนฝูงนะครับ ไม่งั้นอาจจะทั้งเสียเพื่อนและเสียทั้งคุณค่าของตัวเองในที่สุดก็ได้
เคสล่าสุดที่ ดร วิทย์ โดน ทำให้ผมไม่ต้องกลับไปถาม ดร วิทย์อีก เพราะรอบนี้ อธิบาย Schadenfreude ได้ดีกว่าคำอธิบายใดๆเลยครับ….
โฆษณา