17 ก.ค. เวลา 08:00 • ธุรกิจ

งานฝีมือท้องถิ่นกับการเข้าสู่ตลาดโลก

[#Craft]: มีการคาดการณ์ว่า ตลาดการผลิตเชิงสร้างสรรค์และงานหัตถกรรมหรือแฮนด์เมดจะทำรายได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2023 เป็นการตอกย้ำความสำคัญของงานฝีมือและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ (Human touch) ว่ายิ่งมีทั้งคุณค่าทางจิตใจ ราคาสินค้า และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดงานฝีมือยังเป็นพื้นที่สร้างรายได้ของกลุ่มเปราะบาง เช่น ในแอฟริกาและตะวันออกกลาง เอชีย และละตินอเมริกาไปจนถึงแถบแคริบเบียน เป็นต้น
จากการสำรวจพบว่า 74% ของธุรกิจงานแฮนด์เมดถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิง ธุรกิจดังกล่าวยังมีคนที่อายุน้อยกว่า 35 ปีเป็นแรงงานถึง 60% และ 62% ของอุตสาหกรรมยังตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาช่วงโควิดพบว่า การมีรายได้จากงานฝีมือช่วยให้ผู้หญิงมีสิทธิในบ้านมากขึ้น มีรายได้พึ่งพาตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดีย การขายชิ้นงานฝีมือทำให้ผู้หญิงราว 10 ล้านคนที่หายไปจากตลาดแรงงานในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กลับมาขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นถึง 7.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
และทำให้พวกเธอมีเงินมากพอที่จะกลับมาดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองและการศึกษาของลูก มีผู้หญิงอินเดียถึง 75% รู้สึกว่าตนเองได้รับความเคารพมากขึ้นเมื่อสามารนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวด้วยการขายสินค้างานฝีมือ
มรดกทางวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นยังคงเป็นต้นทุนและมนต์เสน่ห์ที่ทำให้สินค้ามีเรื่องราวน่าสนใจและทำให้ขายได้ นอกจากนี้ การสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมจะสร้างพลวัตในสังคมของแรงงานท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ในยุคที่โลกกำลังขับเคลื่อนด้วยทางเทคโนโลยีและเครื่องจักรซึ่งจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ธุรกิจงานฝีมือจำเป็นจะต้องสื่อสารตัวตนของแบรนด์ให้ชัดเจนมากพอที่สามารถตอบคำถามผู้บริโภคได้ว่า ทำไมงานฝีมือชิ้นหนึ่งจึงยังต้องอาศัยแรงงานมนุษย์แทนที่จะใช้เครื่องจักร
ทั้งนี้ การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ การตลาดหลายช่องทาง (Omnichannel) นวัตกรรมการเงิน เป็นต้น จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมงานฝีมือมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในการสร้างแบรนด์ การศึกษาตลาด การพัฒนาธุรกิจ ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างการนำเทคโนโลยีมาใช้กับสินค้าแต่ยังคงมนต์เสน่ห์ของภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้จึงยังคงเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ และท้าทายต่อผู้ประกอบกิจการ และหากแบรนด์สามารถตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะยิ่งเป็นการลดข้อกังขาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยังได้รับแรงสนับสนุนจากผู้บริโภคมีจิตสำนึกซึ่งนับวันจะยิ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ชุมชนที่มีภูมิปัญญาเกี่ยวกับงานฝีมือซึ่งกลายมาเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางและต้องการเข้าถึงผู้บริโภคทั้งการมีหน้าร้านค้าและการซื้อขายออนไลน์จะเกิดการวางแผนธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานอย่างรอบคอบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดผลิตภัณฑ์และบริบทของชุมชน
- โครงการธุรกิจหมู่บ้านสตาร์ทอัพและธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อสังคมอาจเป็นผู้สร้างผลกระทบใหญ่ในการเปลี่ยนแรงงานในภาคเกษตรกรรมให้กลายเป็นแรงงานช่างฝีมือ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องอาศัยแรงสนับสนุนด้านนโยบายและการลงทุน รวมไปถึงความเข้าใจบริบททางวัฒนธรรมของตัวชิ้นงานและแรงงานในท้องถิ่น
- ตลาดงานฝีมือออนไลน์ในระดับธุรกิจสู่ธุรกิจจะเข้ามามีบทบาทในการรับประกันคุณภาพสินค้าจากผู้ผลิตสู่ลูกค้าองค์กร ในขณะเดียวกันก็เป็นการประกันรายได้ที่แน่นอนให้กับช่างฝีมือท้องถิ่น
- ช่างฝีมือฟรีแลนซ์ที่ได้รับความนิยมอาจต้องอัปสกิลความรู้ด้านการตลาดดิจิทัลและแนวคิดการเป็นเจ้าของธุรกิจ เพื่อขยายสเกลงานของตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับงานเดิม ๆ ที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofPlay #Artisan #MQDC
โฆษณา