17 ก.ค. เวลา 08:30 • ธุรกิจ

‘มาม่อนเค้ก’ ขนมเค้ก นุ่ม ฟู ที่กินครั้งแรกก็ติดใจ จนกลายเป็นธุรกิจ ‘มิสมาม่อน’

การเป็น ‘เจ้าของธุรกิจ’ คือสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝัน เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ บวกกับได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ท้าทายความสามารถของตัวเองในการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง แต่ความฝันอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะการทำธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยประสบการณ์ วางกลยุทธ์การตลาด เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และอุปสรรคอีกนานาประการที่ต้องเผชิญ และฝ่าฟันเพื่อไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
บทความนี้ Bangkok Bank SME จะชวนไปพุดคุย และเจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จ ของ คุณวรวุฒิ นิสภกุลธร เจ้าของธุรกิจที่ฝันจะก้าวออกจาก Comfort Zone นั่นคือการเป็นพนักงานบริษัทเอกชนชั้นนำ สู่การวางอนาคตจะปั้นธุรกิจของตัวเอง จนลงตัวที่ ร้านเบเกอรี่ Miss Mamon (มิสมาม่อน) มาม่อนเค้กสูตรต้นตำรับ ที่มาจากความชอบของเขาและภรรยา และการหาคำตอบว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่ ด้วยคำถามว่า Why? ทำไม? ลูกค้าต้องเลือกเรา
จากพนักงานออฟฟิศ สู่เจ้าของธุรกิจจากความชอบ
คุณวรวุฒิ เล่าว่า ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมทำงานด้านโฆษณา และการตลาดในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา เป็นพนักงานออฟฟิศคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าอยากทำธุรกิจของตัวเอง ช่วงที่ทำงานประจำ จึงมองหา Second Jobs ว่าจะทำอะไรดี? เพื่อปูทางสู่เป้าหมาย โดยคิดว่าการทำธุรกิจที่ง่ายที่สุด ต้องเริ่มจากสิ่งที่สนใจ เลยปรึกษากับภรรยา สุดท้ายพบคำตอบว่า ไลฟ์สไตล์ของเราคือชื่นชอบกาแฟและเบเกอรี่ เราสองคนชอบหาร้านคาเฟ่อร่อย ๆ รับประทาน นอกจากนี้ เบเกอรี่ยังเป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องต้องใช้ทรัพยากรหรือวัตถุดิบเยอะ น่าจะพอไปไหว
หากมองในมุมของนักการตลาดที่ผมมีประสบการณ์จากการทำงานด้านนี้ บ้านเราจะแบ่ง Segment ธุรกิจอาหารเครื่องดื่มอย่างชัดเจน เช่น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด ส่วน Segment ของธุรกิจที่เรามองไว้ คือกลุ่มเบเกอรี่ ซึ่งมีแบรนด์ใหญ่อยู่ในตลาด เช่น S&P ลิตเติ้ลโฮม กาโตว์เฮ้าส์ ผมเริ่มจากตั้งโจทย์กับตัวเองว่า ทำไม? ลูกค้าต้องซื้อเรา ร้านเล็ก เปิดใหม่ ถ้าขาย จะมีใครซื้อหรือเปล่า? ผมได้คำตอบว่า ถ้าอยากให้คนซื้อ ก็ต้องหาจุดเด่น แล้วสร้างความต่าง
คิดเป็น Step สร้างความแตกต่าง สูตรความสำเร็จของร้านมิสมาม่อน
คุณวรวุฒิ กล่าวว่า ผมและภรรยา บังเอิญไปเจอร้านขนมร้านหนึ่งจากการพาครอบครัวไปท่องเที่ยวที่ฮ่องกง พอซื้อมาลองรับประทาน รู้สึกถึงสัมผัสนุ่ม ละมุน รสชาติอร่อย ไม่หวานมาก ชื่อขนมเขียนว่า ‘มาม่อนเค้ก’ จึงติดใจและแวะซื้อขนมร้านนี้ตลอด 3 วันที่อยู่ที่นั่น ด้วยความชื่นชอบ เมื่อกลับมาประเทศไทยจึงลองค้นหาดู ปรากฎว่า มาม่อนเค้ก คือชื่อขนมประเภทหนึ่งที่มีเนื้อสัมผัส นุ่ม เบาคล้ายฟองน้ำ
(Sponge Cake) เป็นเค้กเนื้อนุ่ม คล้ายกับขนมไข่ แต่เนื้อเค้ก เป็นส่วนผสมระหว่างชิฟฟ่อน กับ สปันจ์ จึงได้ทดลองทำ คิดสูตร จนได้เนื้อเค้กที่นุ่ม เด้ง เบา ฟู ไม่หวานมาก บวกกับยุคนั้นขนมแบบนี้ยังไม่มีขายในไทย เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะชื่นชอบ เมื่อมีความพร้อม เขาจึงเดินหน้าทำธุรกิจเต็มตัว โดยนำชื่อประเภทขนม นั่นคือ ขนมมาม่อน มาตั้งชื่อร้านว่า มิส มาม่อน ที่มี Product คือ เค้กมาม่อน เป็นเรือธง
เราอยากเป็นตัวจริงด้านขนมมาม่อน จึงใช้ชื่อขนมเป็นชื่อร้าน ครั้งแรกชื่อว่า มิสเตอร์มาม่อน แต่รู้สึกว่ามันแข็งเกินไป ดูสูงวัยไปหน่อย เพราะกลุ่มเป้าหมายเราเป็นผู้หญิง จึงลงตัวที่ชื่อ มิส มาม่อน ฟังดูน่ารัก พอได้ชื่อแบรนด์ Step ต่อไปคือ ทำแบรนด์คาแรกเตอร์ มีมาสคอต เหมือนแบรนด์เคเอฟซี มีผู้พันแซนเดอส์ แมคโดนัลด์ มี พี่โรนัลด์ ร้านผมจะมีตัวการ์ตูน คือน้องมาม่อน ตัวกลมเหมือนขนมมาม่อน ตาโต ตัวสีเหลืองสดใส สื่อถึงความเป็นโฮมมี่ น่ารัก สดใส
หลังจากเปิดร้าน คุณวรวุฒิ สังเกตเห็นว่าคนไทยชอบความวาไรตี้ จึงคิดไอเดียต่อยอดจากขนมสูตรเดิมที่มีขายแบบเดียว คือเค้กมาม่อนวนิลา โรยหน้าเชสด้าชีสด้านบน ดัดแปลงเนื้อเค้กเป็นรสชาติต่าง ๆ จนปัจจุบัน มี 6 เนื้อขนม 15 หน้า ไม่ว่าจะเป็น เนื้อใบเตย, ช็อกโกแลต, กล้วยหอม, กาแฟ, และวานิลลาชูการ์ฟรี และโรยหน้าด้วยวัตถุดิบหลากหลาย เช่น ฝอยทอง, ลูกเกดทอง, ถั่วอัลมอนด์, ช็อกโกแลตชิป, เป็นต้น ล่าสุดยังเพิ่มไส้ในขนมเค้ก
เพื่อเพิ่มความหลากหลาย หรือหากช่วงไหนมีวัตถุดิบที่เป็นกระแส จะนำมาเพิ่มในเมนูเพื่อให้สินค้ามีสีสันมากขึ้นด้วย อย่างช่วงตรุษจีน จะทำ มาม่อนมันม่วง, มาม่อนสาลี่ หรือเทศกาล ๆ อื่น เช่น มาม่อนฮาโลวีน เป็นต้น
“การทำธุรกิจ อยู่เฉยไม่ได้ ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภค ล่าสุดกระแสลอดช่องวัดเจษฯ มาแรง เราก็ทำเค้กมาม่อนหน้าลอดช่องวัดเจษฯ ผมไปเที่ยวหัวหิน มีขนมหม้อแกงขายเยอะ ก็เอามาปรับเป็นมาม่อนหม้อแกงเผือกหอม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หรือเรื่องใกล้ตัว
คนรักสุขภาพ หรือ โรคเบาหวาน เราก็คิดค้นมาม่อนเค้กสูตรไร้น้ำตาล (ชูการ์ฟรี) ให้เขารับประทานได้แบบสบายใจ ได้สุขภาพ และที่สำคัญพัฒนาจนได้ความอร่อยไม่ต่างกันกับต้นตำรับ เพราะเราเชื่อว่า ขนมยังไงต้องมีความอร่อย ควบคู่กับสุขภาพดีให้ได้”
เลือกช่องทางการขาย ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ร้านมิสมาม่อนสาขาแรก คือ ตลาดลุงเพิ่ม (ตลาดนัดหลังการบินไทย) เนื่องจากมองว่าเราเป็นร้านเปิดใหม่ ถ้าจะขายในห้างฯ คงสู้เขาไม่ได้ ต้องเริ่มจากเล็กไปใหญ่ เมื่อโตแล้ว จึงค่อย ๆ ขยับขยาย
คุณวรวุฒิ เล่าว่า เมื่อก่อน ยังไม่มี Facebook หรือช่องทางออนไลน์ เราจึงต้องวางขายที่ตลาดนัด แต่ความโชคดีคือ หม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ หรือคุณหมึกแดง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำอาหาร ได้มาชิมขนมที่ร้านแล้วบอกผมว่า ขนมแบบนี้ น่าจะเรียกว่า Angel Sponge Cake เพราะนุ่มเหมือนขนมของเทวดา แล้วยังเขียนลงหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ให้ด้วย หลังจากนั้นร้านแตกเลย ลูกค้ารู้จักเราจากสื่อมากขึ้น
“ปัจจุบันเราเลือกขายใน Home Pro เป็นหลัก เพราะเป้าหมายตรงกลุ่ม คือกลุ่มครอบครัว คนทำงาน
มี 6 สาขา ไม่ว่าจะเป็น โฮมโปรพระราม 3 พระราม 9 จรัญสนิทวงศ์ สุขสวัสดิ์ กัลปพฤกษ์ และรังสิต และเริ่มขยายไปในปั๊มน้ำมันอีก 3 สาขา โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่บางแวก เขตภาษีเจริญ เป็นทั้งหน้าร้านและครัวกลาง รวมทั้งสิ้น 10 สาขา นอกจากนี้มีการขยายธุรกิจสู่การให้บริการ Snack Box ขนมเบรคสำหรับประชุม สัมนาหรืองานขาว-ดำ เริ่มต้นเพียงกล่องละ 35 บาท และบริการขนมส่งสำหรับโรงแรม ร้านคาเฟ่ ร้านกาแฟ เบเกอรี่ และรับทำ OEM อีกด้วย
ช่วงโควิดที่หน้าร้านปิดเกือบหมด นับเป็นวิกฤตที่คนทำธุรกิจอาหารต้องปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ สำหรับมิสมาม่อน เราเลือกจะปรับรูปแบบขนมเป็น Finger Food ทำแพ็คเกจแยกชิ้นเพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง ลูกค้าซื้อไปรับประทานในรถได้ และสะดวกต่อการขายแบบเดลิเวอรี่
‘ธุรกิจเบเกอรี่’ ที่ไม่ได้หวานหอมเสมอไป
เพราะเราเริ่มจากคิดต่าง ทำให้ต้องมีการพัฒนาสินค้าใหม่อยู่เสมอเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตและแข่งขันได้ และสิ่งที่เราต้องพัฒนาควบคู่กันคือ การบริหารคน เพราะเราให้ความสำคัญในการบริการลูกค้า เราจึงมุ่งเน้นให้พนักงานให้บริการด้วยรอยยิ้ม และพยายามลดการเทิร์นโอเวอร์ให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงปัญหาเรื่องต้นทุนสินค้า ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ คือโจทย์ที่เราต้องหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตตามเป้าที่กำหนดไว้ได้โดยเพื่อนร่วมงาน น้อง ๆ เราทุกคนมีความสุขไปด้วย
คุณวรวุฒิ เผยว่า วิธีคิด คือ 1. Quality ยึดคุณภาพสินค้าเป็นหลัก 2. Pricing ราคาที่เหมาะสม โดยเราจะไม่ผลักภาระให้ลูกค้า ตั้งราคาในระดับที่พออยู่ได้ ไม่สูงเกินไป ผมเชื่อว่าทุกคนมีทางออกของธุรกิจตัวเองอยู่ที่ว่าคุณเลือกจะโตแบบไหน มิสมาม่อน โตแบบค่อยเป็นค่อยไป มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่ทำให้แบรนด์ของเราอยู่ได้ยาวนานในกลุ่มธุรกิจเบเกอรี่
สร้างโอกาสจากขนม จับช่องว่างตลาด ต่อยอดธุรกิจ
นอกจากเพิ่มช่องทางขายแบบ B2C ที่เป็นหน้าร้าน มิสมาม่อนยังแตกไลน์สู่ธุรกิจ B2B คือ Snack Box สำหรับกลุ่ม Catering ขนม-เครื่องดื่มจัดเบรคในงานอบรม สัมมนา รวมถึงปีที่ผ่านมา ยังสร้างโรงงานของตัวเองเพื่อผลิตสินค้าให้หลากหลายขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
“หลังโควิด เราทำ Snack Box ขึ้นมา เพราะเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ เรามีเค้กมาม่อนที่เป็นซิกเนเจอร์อยู่แล้ว แต่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เช่น ขนมปังไส้กรอก ขนมปังหมูแดง เครื่องดื่ม ใน 1 กล่องมีครบด้วยราคาที่จับต้องได้ เพียง 35 บาท ลูกค้าจะได้รับทั้งความคุ้มค่า และคุณภาพพร้อมความอร่อยเหมือนกินหน้าร้าน เพราะเราไม่ลดคุณภาพเลย”
เรามองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เวลาผู้หญิงซื้อของ เขาซื้อด้วย Emotional เจอของอร่อย จะซื้อฝากพ่อแม่ ฝากคนรัก คนในครอบครัว ณ วันนี้ ร้านเบเกอรี่ มิส มาม่อน มีสินค้าครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น มาม่อนเค้ก Signature ขนมปัง, ขนมเค้ก, วาฟเฟิลสูตรกลูเตนฟรี ที่ออกแบบมาให้สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตน แต่การันตี รสชาติอร่อยเหมือนรสดั้งเดิม ขนมรับประทานเล่น เครื่องดื่ม เรียกได้ว่า มาครบจบในร้านเดียวและรับรองมีของอร่อยติดมือกลับบ้านแน่นอน
ทำ ‘ครัวกลาง’ เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานขนม
เมื่อขยายสาขามากขึ้น การคงคุณภาพและรสชาติให้ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ลูกค้าที่เข้ามากิน ต้องรู้สึกถึงรสชาติแบบออริจินัลของมิสมาม่อน เราจึงทำระบบครัวกลาง เพื่อให้ได้รสชาติมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยลดภาระงานในสาขา ทำให้พนักงานหน้าร้านสามารถขายและให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ได้ขนมที่สะอาด มาตรฐาน ถูกหลักอนามัย
คุณวรวุฒิ กล่าวว่า สินค้า 90% จะออกจากครัวกลาง ทั้งมาม่อนเค้ก และขนมใน Snack Box ยกเว้นกลุ่มเครื่องดื่มกับวาฟเฟิล กลูเต็นฟรี ที่อบสด ชงสดที่สาขา การบริหารครัวกลาง เราใช้รถควบคุมอุณหภูมิ 6 คัน ในการขนส่ง ในเคสที่คิวชนกัน จะใช้ Outsource เข้ามาเสริม เสน่ห์อย่างหนึ่งของ มาม่อนเค้ก คือแม้ใส่ตู้เย็น แล้วเอามาวางข้างนอกแค่ครึ่งชั่วโมง จะคลายตัวด้วยธรรมชาติตามสูตรที่เราคิดค้นขึ้น เนื้อจะกลับมานุ่มโดยไม่ต้องอุ่นในไมโครเวฟ เป็นอีกหนึ่งข้อดีที่สอดรับการทำครัวกลางที่ต้องมีการขนส่งสินค้าให้หน้าร้านทุกวัน
จากร้านเบเกอรี่ พัฒนาสู่ Snack Box และ OEM ปัจจุบัน เรารับจ้างผลิตขนมให้ร้านคาเฟ่ และโรงแรมระดับ 3-4 ดาว เพราะคาเฟ่มักจะโฟกัสเรื่องรสชาติกาแฟเป็นหลัก ส่วนขนมหรือเบเกอรี่ให้เป็นหน้าที่ของเราที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ สำหรับโรงแรม เราเห็นโอกาสจากช่วงหลังโควิด ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่จะหันมาโฟกัสกับ Core Business แล้วตัดเรื่องครัวเบเกอรี่ออก เราจึงเข้าไปนำเสนอว่า แบรนด์เราสามารถผลิตและจัดส่งได้ ภายใต้งบประมาณของลูกค้า ครอบคลุมทั้งอาหารเช้า ขนมเบรคประชุมสัมมนา
ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ได้ กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ Win-Win ตอบโจทย์ทั้งเราและผู้ประกอบการที่สามารถได้แบรนด์เบเกอรี่ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี มาดูแลสินค้าให้ ตามงบที่เขาตั้งไว้
ตอนนี้สัดส่วน หน้าร้าน : Snack Box & OEM อยู่ที่ 65 : 35 และจะค่อย ๆ ปรับเป็น 50 : 50 เพื่อเป็นการบริหาร Portfolio สร้างความมั่นคงให้บริษัท พร้อมรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
เรามีทีมผลิตที่แข็งแกร่ง ทีม R&D ที่คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งของตนเองและคู่ค้า จึงค่อนข้างไดรฟ์ธุรกิจได้ระดับหนึ่ง ส่วนอีกอย่างคือ การจัดการ โดยเฉพาะครัวกลาง ต้องใช้ Data บริหารธุรกิจแต่ละสาขา เราใช้ระบบ POS ทำให้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ว่า ขนมชิ้นไหนขายดี ซึ่งแต่ละสาขาจะมียอดขายขนมแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามความนิยมของผู้บริโภคในพื้นที่นั้น เร็วๆนี้ เราเริ่มนำระบบ ERP มาปรับใช้ และอยู่ในระหว่างอิมพลีเมนท์ คาดว่า 2 เดือนนี้ น่าจะเสร็จสิ้น
ส่งแบรนด์ ทาโรโตะ ร้านขนมหวานสไตล์ไต้หวัน จับใจสายสุขภาพ
ภายใต้บริษัทของมาม่อนกรุ๊ป ยังมีแบรนด์ทาโรโตะ แบรนด์ร้านขนมหวานสไตล์ไต้หวัน ที่เกิดจากความชอบของคุณวรวุฒิและภรรยา เช่นเดียวกับมาม่อนเค้ก โดยเน้นเป็นรูปแบบคาเฟ่ นั่งทานในร้าน
คุณวรวุฒิ กล่าวว่า เราทำโจทย์เดียวกันกับมิสมาม่อน คือ ทำไม? ลูกค้าต้องกินขนมร้านเรา และถ้าจะทำขนมหวาน จะทำแนวไหนดี ผมเห็นช่องว่างในตลาดขนมหวานบ้านเรา ยังไม่ค่อยมีร้านขนมที่เป็นแนวตะวันออก นำขนมที่คนรับประทานได้ทุกวัน มาทำเป็นคาเฟ่ ให้นั่งรับประทานได้ ร้านสะอาด แอร์เย็นสบาย เมนูในร้านเป็นเมนูที่ไม่ได้เน้นกระแส ต้องเอาใจวัยรุ่นอย่างเดียว แต่ทานได้ทั้งครอบครัว พาคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่ามารับประทานได้ มีเมนูที่เขาชอบ ไม่ต้องมาเพราะตามใจหลาน ๆ แต่ตนเองไม่มีขนมที่ชอบรับประทาน
จึงเป็นที่มาของ 3 กลุ่มเมนูหลัก น้ำเต้าหู้ ขนมปังปิ้ง และ บิงซูไต้หวัน นำมาปรับใหม่ แต่คงไว้ซึ่งวัตถุดิบคุณภาพเช่นเดิม น้ำเต้าหู้คั้นสด 100% จากถั่วเหลืองคัดเกรด ไม่เติมแป้ง ไม่ใส่ถั่วลิสง ขนมปังปิ้งที่ปรับรูปแบบเป็นขนมปังบอล ชิ้นพอดีคำ ผลิตจากครัวกลางเบเกอรี่ มิส มาม่อน
หรือการสรรหาท๊อปปิ้งที่น่าสนใจ อาทิ ทาโรบอลมิกซ์, วุ้นเก็กฮวย, บุกใสไต้หวัน, ไข่มุกมันม่วง, เนื้อพุดดิ้งเฉาก๊วยไต้หวันนำเข้า, พุดดิ้งชาไทย เป็นต้น โดยตั้งอยู่ที่ถนนราชพฤกษ์ตัดใหม่ (พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4) เป็นสาขาต้นแบบสาขาแรก และที่สำคัญ ราคาเอื้อมถึงได้ 1 แบงก์ร้อยมีทอน
“ผมอยากทำร้านขนมหวาน ที่แอร์เย็น ๆ เป็นร้านในชุมชนสำหรับครอบครัว ตอบโจทย์สังคมสูงวัย มาได้ทุกเจนเนอเรชัน ผมสังเกตว่าพฤติกรรมลูกค้าส่วนใหญ่ มักจะชอบรับประทานน้ำเต้าหู้หลังจากมื้อเย็นหรือช่วงค่ำ เราเลยเลือกเปิดนอกห้าง ตามชุมชน หรือตึกแถวที่คนมีกำลังซื้อ จะแวะมาซื้อกลับบ้าน หรือนัดมานั่งกินน้ำเต้าหู้ น้ำขิง บิงซู ขนมปังปิ้งด้วยกัน ร้านเปิดตั้งแต่ 12.00-23.00 น. ทุกวัน เป็นร้าน Hangouts เพื่อคนรักสุขภาพ ในราคาย่อมเยา”
โครงการ Big Brother เติมความรู้ ประสบการณ์ และคอนเน็คชั่นทางธุรกิจ
คุณวรวุฒิ เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการ SME ที่พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง นอกจากการวางกลยุทธ์ที่ดี มีเป้าหมายที่ชัดเจน เขายังเติมความรู้ทางธุรกิจด้วยการเข้าร่วมโครงการ Big Brother โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัทชั้นนำของประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ มาเป็นพี่เลี้ยงธุรกิจ พี่เลี้ยงด้านการเงิน ถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ทางธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการ SME ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น
“พอเราทำธุรกิจมาสักพัก เราอยากเติบโต อยากฟังคนที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว ว่ามีวิธีการจัดการธุรกิจเขายังไง เพราะสิ่งที่ผมพูด คือประสบการณ์ที่เราขวนขวายหาเอง แต่ความรู้เพิ่มเติมผมได้จากโครงการนี้”
คุณวรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่หาไม่ได้จากที่ไหน คือการได้ไปเยี่ยมชมโรงงานที่ประสบความสำเร็จ เรียนรู้วิธีการจัดการของโรงงานขนาดใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจว่า วันหนึ่งที่เรา มีโรงงานที่ใหญ่ขึ้น จะบริหารอย่างไร เป็นการเติมเต็มความรู้เรื่องการทำธุรกิจจากคนที่มีประสบการณ์ตรง ได้พาร์ตเนอร์ และมีคอนเน็คชันจากนักธุรกิจด้วยกัน มาแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจระหว่างกัน แค่นี้ก็คุ้มแล้ว
สำหรับ SME ที่อยากมีธุรกิจร้านคาเฟ่หรือเบเกอรี่ คุณวรวุฒิ ให้ข้อคิดดี ๆ ทิ้งท้ายว่า ลองถามตัวเอง ว่าเราชอบอะไร แล้วเราจะอยู่กับมันได้นาน นอกจากความชอบ ต้องรู้จักลูกค้าด้วย ว่าลูกค้าคุณเป็นใคร การเจ๊งในกระดาษ คุณจะเสียแค่เวลาคิด คุณยิ่งคิด คุณยิ่งคม กว่าผมจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจแบบที่ชอบ มันไม่ใช่แค่มีความฝันอย่างเดียว แต่ผมไปเก็บเกี่ยวความรู้ ไปงานแฟร์ ดูงานเมืองนอก หาประสบการณ์จากระหว่างทาง อาจจะดูเหมือนราบเรียบ แต่กว่าจะมาขนาดนี้ ผม Fail มาเป็นระยะ
Point คือ ต้องรู้จักลูกค้าตัวเอง แล้วลงมือทำ หาความแตกต่างให้เจอ เหมือนที่ผมเจอ Product ของผม โดยใช้ Why? เป็นตัวตั้ง ค่อย ๆ หาคำตอบ คิดเป็น Step เริ่มจากเล็กไปใหญ่ สิ่งสำคัญต้องมีความรู้เรื่องการเงิน เมื่อเติบโตขึ้น ก็มองหาเพื่อนคู่คิด เพื่อเพิ่มเงินทุนในการขยายธุรกิจต่อไป
ติดตาม Miss Mamon มาม่อนเค้กสูตรต้นตำรับ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา