17 ก.ค. 2024 เวลา 09:38 • ครอบครัว & เด็ก
โรงพยาบาลพระรามเก้า

รับมือย่างไรให้ลูกรักปลอดภัยจาก ไวรัส RSV

ในช่วงปลายฝนต้นหนาวหรือระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม เด็ก ๆ มักจะป่วยง่ายและต้องมาพบหมอที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยและมีการระบาดเป็นประจำทุก ๆ ปีคือ โรค RSV ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้
จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบการติดเชื้อ RSV มากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี รองลงมาคืออายุ 2-5 ปี โดยพบว่าเชื้อ RSV มักเป็นสาเหตุของการเกิดปอดอักเสบรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่มีโรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และยังพบการติดเชื้อได้ในผู้สูงอายุอีกด้วย
  • RSV คืออะไร?
โรค RSV เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อว่า respiratory syncytial virus (RSV) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจได้ทั้งทางเดินหายใจส่วนบน และทางเดินหายใจส่วนล่าง พบการติดเชื้อได้ในทุกช่วงอายุ มักระบาดในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาวของทุกปี พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ไปจนถึงเด็กวัยอนุบาล อาจมีภาวะแทรกซ้อนหรืออาการที่รุนแรงในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • อาการของ RSV
เด็กจะเริ่มแสดงอาการป่วยหลังได้รับ เชื้อ RSV มาแล้ว 4-6 วัน เชื้อ RSV มีระยะฟักตัวประมาณ 5 วัน โดย 2-4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา คือเริ่มมีน้ำมูกขาวใส หรือขาวขุ่นปริมาณมาก คอแดง จากนั้นจะเริ่ม ไอ มีไข้สูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจสูงได้ถึง 39-40 องศาเซลเซียส
เมื่อมีการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้นจะมีผลต่อทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ หายใจมีเสียงหวีด หอบเหนื่อยมาก หายใจลำบาก หายใจเร็ว กล่องเสียงอักเสบ และอาจส่งผลให้เกิดโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบตามมา และอาจเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวและอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการตรวจรักษาที่รวดเร็วและถูกต้องเหมาะสม
  • การติดต่อของ RSV
เชื้อ RSV สามารถแพร่กระจายจาก “คนสู่คน” ผ่านละอองเสมหะของผู้ป่วยที่มีเชื้อ โดยการไอ จาม การกลืน และยังพบว่าเด็กทารกแรกเกิดสามารถติดเชื้อ RSV จากมารดาที่ติดเชื้อ RSV ก่อนคลอดได้ด้วย
นอกจากนี้ RSV ยังสามารถติดต่อโดย “การสัมผัส” เนื่องจากเชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายชั่วโมง ทำให้เชื้อยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้บนพื้นผิวที่แข็งต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เตียง ลูกบิดประตู หากมีการสัมผัสเชื้อ RSV แล้วมีการขยี้ตา เชื้อ RSV ก็สามารถซึมผ่านเยื่อบุดวงตาได้ และหลังจากได้รับเชื้อ RSV แล้ว ผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้หลังติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 2-3 ไปจนถึง 2-3 สัปดาห์
  • ผู้ใหญ่เป็น RSV ได้ไหม?
ผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อ RSV ได้เช่นเดียวกับเด็ก ๆ แต่ความรุนแรงจะน้อยกว่า โดยผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 65 ปีหรือผู้สูงอายุ พบการติดเชื้อ RSV ได้ 3-5% ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว หรือมีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมี หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับ อายุ โรคประจำตัว และการติดเชื้อก่อนหน้า
  • การป้องกันโรค RSV
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาแอลกอฮอล์เจล
- ทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อย ๆ ป้องกันการสะสมเชื้อโรค
- สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โดยในเด็กเล็กควรให้ดื่มนมแม่อย่างน้อยจนถึงอายุ 6 เดือน
- เพราะในน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ในเด็กโตและผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- หากมีเด็กป่วยในโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรแยกตัวออกจากเด็กปกติและให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายจากการติดเชื้อ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่การะจายของเชื้อ RSV ไปสู่ผู้อื่น และป้องกันการได้รับเชื้อแทรกซ้อน
- แยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ซักล้าง ทำความสะอาดหลังใช้งาน เช่น ขวดนม แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
- ผู้ดูแลควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
RSV เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่ายและพบได้ทั่วไป ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จะใช้ป้องกันและไม่มียาในการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ฉะนั้นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลเด็ก ๆ และผู้สูงอายุ เมื่อพบอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นการติดเชื้อ RSV ควรได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็วและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ RSV ได้ “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อย่าลืมใส่ใจสุขภาพคนที่คุณรัก”
#32ปีโอบกอดสุขภาพดีไปด้วยกัน
#โรงพยาบาลพระรามเก้า
#Praram9Hospital
#HealthcareYouCanTrust
โฆษณา