18 ก.ค. เวลา 05:00 • สิ่งแวดล้อม

ผลกระทบของเอเลี่ยนสปีชีส์ ภัยคุกคามที่นำมาสู่การสูญพันธุ์

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเอเลี่ยนสปีชีส์ส่วนใหญ่ เกิดจากการนำเข้ามาโดยมนุษย์ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจทั้งสิ้น เช่น จากกรณีพบนกยูงยินเดียในผืนป่าห้วยขาแข้ง การรุกรานของอีกัวน่าเขียวที่จังหวัดลพบุรี หรือแม้แต่การพบกระต่ายเลี้ยงในผืนป่าอนุรักษ์ สัตว์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นจุดเริ่มต้นของภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพที่ทำให้ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการปนเปื้อนระหว่างพันธุกรรม และยังเป็นการนำโรคสู่สัตว์ป่า
ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศจากเอเลี่ยนสปีชีส์ ซึ่งเป็นการรบกวนระบบนิเวศทำให้โครงสร้างดั้งเดิมเกิดการเปลี่ยนแปลง กระทบต่อห่วงโซอาหารของสัตว์ผู้ล่า เช่น แย่งแหล่งอาหาร แย่งพื้นที่ขยายพันธุ์ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อพันธุกรรมสัตว์ป่าในด้านความอยู่รอดของพันธุกรรมดั้งเดิม การปนเปื้อนจากพันธุกรรมแปลกปลอม หากมีการขยายพันธุ์เกิดขึ้นจะส่งผลให้คุณภาพของพันธุกรรมต่ำ เป็นยีนด้อย สุขภาพไม่แข็งแรง มีอายุสั้น ส่งผลให้พันธุกรรมดั้งเดิมค่อย ๆ หายไป หรือสูญพันธุ์ในที่สุด และยังเป็นการนำโรคสู่สัตว์ป่าในพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ หากมีพันธุกรรมแปลกปลอม ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการนำโรคจากสัตว์เลี้ยงสู่สัตว์ป่าทั้งสิ้น
การควบคุมพันธุกรรมแปลกปลอมหรือ "เอเลี่ยนสปีชีส์ในระบบนิเวศ" จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโครงสร้างของระบบนิเวศต่อพันธุกรรมดั้งเดิมในพื้นถิ่น และป้องกันการนำโรคสู่สัตว์ป่า เพื่อไม่ให้นำไปสู่การสูญพันธุ์
ข้อมูล : นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
#เอเลี่ยนสปีชีส์ #ผลกระทบ #ระบบนิเวศ #สัตว์ป่า #สัตว์ต่างถิ่น #AlienSpecies #อุทยานแห่งชาติ #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา