Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TOPIC Recent Thailand
•
ติดตาม
18 ก.ค. เวลา 03:06 • การเมือง
สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย
ขวากหนาม! กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ ภาคประชาชน ติดขัดที่เศรษฐา ทวีสิน
เพื่อไทยรับปากประสานนายกฯ ลงนามร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติแต่ยังติดเงื่อนไขต้องรอร่างรัฐบาลเสร็จก่อน ขณะที่ ส.ส.เป็นธรรม รวบรวมรายชื่อ ส.ส.ก้าวไกล จนครบ 20 คน เสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ ได้แล้ว
บูรพา เล็กล้วนงาม : สื่อมวลชนอิสระ
MovED ยื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ และให้ ส.ส.เพื่อไทย ร่างกฎหมายด้วยอีกฉบับ โดยรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฝ่ายกฎหมาย รับปากว่าจะดำเนินการให้ แต่ไม่ได้กำหนดเวลาที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยระบุว่า ต้องรอให้ร่างกฎหมายของรัฐบาลเสร็จเสียก่อน ด้านกัณวีร์ สืบแสง รวมรายชื่อ ส.ส.ก้าวไกล เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ ได้แล้ว
กระบวนการผลักดันร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (ฉบับประชาชน) ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เต็มไปด้วยขวากหนาม หลังจากภาคประชาชนรวบรวมรายชื่อครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด มาหลายปีแล้ว และส่งร่างกฎหมายถึงสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่สภาชุดที่แล้ว (พ.ศ.2562-2566) ร่างกฎหมายกลับไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากประธานสภาฯ ตีความว่า ร่างกฎหมายเป็นร่างการเงิน ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องให้นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ลงนาม แต่เกิดการยุบสภาเสียก่อน
จึงต้องรอให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ (เศรษฐา ทวีสิน) ลงนาม แต่ผ่านมา 11 เดือนแล้ว เศรษฐาก็ยังไม่ได้ลงนาม จึงยังไม่สามารถบรรจุร่างกฎหมายเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้สภาฯ พิจารณาได้
เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคม 18 แห่ง เมื่อปีที่แล้ว พยายามทวงถามมาความคืบหน้ามาแล้วหลายครั้งแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ระหว่าง MovED ร่วมขบวนพาเหรด งานบางกอกไพรด์ 2024 มีความพยายามยื่นหนังสือถึงเศรษฐา ทวีสิน เพื่อเรียกร้องให้ลงนามรับรองร่างกฎหมาย แต่ยื่นหนังสือไม่สำเร็จเนื่องจากถูกผู้จัดงานขัดขวางเอาไว้
เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติไม่ลดละความพยามยามในการสื่อสารกับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รับทราบถึงความสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 MovED นำโดย จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) และกองเลขานุการ MovED ได้เข้าพบกับคณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย นำโดย ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามนัดหมาย
เพื่อยื่นหนังสือขอให้ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประสานกับ เศรษฐา เพื่อให้คำรับรองร่างกฎหมายฯ (ภาคประชาชน) และหารือกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อให้ช่วยร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติฯ เสนอต่อสภาฯ อีกฉบับ
เพื่อไทยติดใจกฎหมายตกไปแล้วหารือยัง
ช่วงแรกของการหารือ ชูศักดิ์ ตั้งข้อสงสัยว่า ร่างกฎหมายฯ (ภาคประชาชน) ตกไปแล้วหรือไม่ เนื่องจาก มีการเสนอร่างกฎหมายฯ ตั้งแต่สภาฯ ชุดที่แล้ว มีการยุสภา มีการเลือกตั้ง และมีสภาชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องยืนยันร่างกฎหมายภายใน 60 วันนับจากมีสภาชุดใหม่ ไม่เช่นนั้นร่างกฎหมายจะตกไป แต่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าเกินกว่า 60 วัน คณะรัฐมนตรีจึงไม่ได้ร้องขอสภาฯ ให้นำร่างกฎหมายมาพิจารณาแม้แต่ร่างเดียว
กรณีเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน ผู้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายยังสามารถส่งเรื่องต่อประธานสภาฯ ภายใน 120 วัน นับจากประชุมรัฐสภาครั้งแรก เพื่อไม่ให้ร่างกฎหมายตกไป แต่ก็เลยกำหนดมาแล้ว “เห็นได้ว่า พรรคเพื่อไทยติดใจว่ากฎหมายอยู่ในสารบบ หรือไม่ มากกว่าเนื้อหาของร่างกฎหมาย”
ทำให้ตัวแทนเครือข่ายประชาชนฯ ออกมายืนยันว่า ร่างกฎหมายยังอยู่ และมีเอกสารจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจ้งสถานะของร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติฯ มายืนยัน แต่ชูศักดิ์ก็ยังไม่มั่นใจ การพูดคุยเจรจาไม่คืบหน้า ชูศักดิ์ ระบุว่า ถ้าผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ หากมีการท้วงติงในประเด็นนี้จะเกิดปัญหา จนสุดท้าย ศรัณย์ ทิมสุวรรณ รองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย ได้ตรวจสอบและแจ้งว่า ได้รับคำตอบจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ว่าร่างกฎหมายยังอยู่จึงทำให้การเจรจาคืบหน้าต่อไป
ชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลักการของร่างกฎหมายเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติ มีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีร่างกฎหมายที่ทำให้การเลือกปฏิบัติที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเกิดผลในทางปฏิบัติ
สำหรับประเด็นที่ MovED เรียกร้อง คือ ให้พรรคเพื่อไทยประสานให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองร่างกฎหมาย ได้รับคำชี้แจงจากชูศักดิ์ว่า ต้องให้ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ ที่ร่างโดยกระทรวงยุติธรรม (ร่างของรัฐบาล) และอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานอื่น นอกเหนือจากกระทรวงยุติธรรม ตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเสร็จ แล้วนำร่างเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อออกเสนอเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาลก่อน และถ้ามีร่างของรัฐบาลแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับรองร่างกฎหมายของภาคประชาชน
ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สอบถามว่า ทำไมต้องรอให้ร่างของรัฐบาลเสร็จก่อน ทำไมไม่เห็นความสำคัญของร่างกฎหมายของภาคประชาชน อีกทั้งทุกวันนี้ก็เกิดกรณีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นอยู่เสมอ จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่นายกรัฐมนตรีจะรับรองร่างของภาคประชาชนก่อนเพื่อเป็นแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่
สุดท้าย ชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็อยากให้มีแนวทางใหม่เช่นกัน โดยจะหาทางประสานกับนายกรัฐมนตรีให้ และจะรับร่างกฎหมายของภาคประชาชนมาศึกษา แล้วส่งร่างให้คณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ตามขั้นตอน ถ้าพรรคเพื่อไทยอนุมัติก็จะส่งร่างกฎหมายให้ ส.ส.เพื่อไทย (อย่างน้อย 20 คน) ลงชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ แต่ชูศักดิ์ไม่ได้ระบุว่าจะดำเนินการจนแล้วเสร็จเมื่อไหร่
แม้พรรคเพื่อไทยจะตอบรับข้อเสนอของ MovED แต่การผลักดันให้นายกรัฐมนตรีลงนามไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้โดยอัตโนมัติ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีข้อแม้ว่า ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ต้องรอให้ร่างกฎหมายของรัฐบาลเสร็จก่อน แต่มองอีกมุมก็เท่ากับว่า การที่เศรษฐา ยังไม่รับรองร่างกฎหมายของภาคประชาชน ไม่ใช่ข้อติดขัดด้านการเงิน แต่เป็นเทคนิคการจัดทำกฎหมายที่ต้องยึดถือร่างของรัฐบาลเป็นหลักโดยต้องให้ร่างรัฐบาลคลอดออกมาก่อน
ถ้าเป็นแบบนี้ก็มีข้อกังขาว่า รัฐบาลชุดนี้ให้น้ำหนักต่อร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนมากเท่าที่ควรแล้วหรือไม่
ส่วนการให้ ส.ส.เพื่อไทย เสนอร่างกฎหมายขึ้นมาประกบก็เป็นไปได้ แต่ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ว่าจะทันอายุสภาฯ ชุดนี้ที่เหลืออีก 3 ปีหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาพรวม และแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่า ให้น้ำหนักต่อการจัดการปัญหาด้านประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม ยกเว้น กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุนมาก่อนตั้งแต่เป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล
แต่วันต่อมาก็มีความคืบหน้าการเสนอร่างกฎหมายโดย ส.ส. เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 กัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เสนอร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ต่อประธานสภาฯ เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป โดย ส.ส.อีก 19 คนที่ลงนามรับร่างกฎหมายล้วนมาจากพรรคก้าวไกล รวมมี ส.ส.ลงนามทั้งสิ้น 20 คน
จึงเท่ากับว่า ขณะนี้มีร่างกฎหมายเสนอสู่สภาฯ แล้ว 2 ฉบับ คือ ร่างกฎหมายของภาคประชาชน และร่างกฎหมายของ ส.ส.กัณวีร์ และหากร่างของกระทรวงยุติธรรมผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ก็จะมีร่างกฎหมายรวม 3 ร่าง ซึ่งถือว่าเพียงพอแล้วต่อการเริ่มต้นพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อสังคม
ส่วนกุญแจสำคัญที่จะทำให้ร่างกฎหมายผ่านสภาฯ ยังอยู่ที่พรรคเพื่อไทย ที่จะมาเต็มเติมเสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้าน เพื่อให้ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติผ่านความเห็นชอบของสภาฯ.
การเมือง
ข่าว
ข่าวรอบโลก
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย