18 ก.ค. เวลา 04:00 • ธุรกิจ

3 ขั้นตอนที่ต้องทำ ก่อนตัดสินใจปรับโครงสร้าง 'ธุรกิจครอบครัว' ด้วยการควบรวมกิจการ

ธุรกิจครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยคนจากตระกูลเดียวกัน ถือหุ้นรวมกัน 20% ขึ้นไป และมีอำนาจในการบริหารจัดการธุรกิจร่วมกัน เมื่อดำเนินงานธุรกิจจนประสบความสำเร็จ เติบโต ขยายใหญ่ เกิดการต่อยอด เช่น มีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น ทำให้การบริหารจัดการไม่ทั่วถึง โครงสร้างแบบเดิม ที่เคยเป็นรูปแบบการควบคุมโดยสมาชิกครอบครัว
จึงอาจไม่เพียงพอจะรับมือความซับซ้อนของธุรกิจ ดังนั้น จึงต้องการปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว และช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดการกระจายอำนาจที่เป็นธรรม รวมถึงตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
เหตุผลหลัก ที่ต้องปรับโครงสร้าง ‘ธุรกิจครอบครัว’ โดยกระบวนการควบรวมกิจการ
ในด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ การควบรวมกิจการ ช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเข้าสู่ตลาดใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ หรือขยายฐานลูกค้า ทำให้ธุรกิจครอบครัว ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง และรับมือกับคู่แข่งใหม่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจสู่การบรรลุเป้าหมายการเติบโตในระยะยาว
จากหนังสือ วางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน โดยศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ระบุเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า หากธุรกิจครอบครัวใดไม่เตรียมพร้อมกับการปรับโครงสร้างโดยกระบวนการควบรวมกิจการไว้ ก็ย่อมจะไม่สามารถรักษาความเป็นเจ้าของธุรกิจตนเอง หรือไม่สามารถที่จะทำให้ธุรกิจของตนเองเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนได้เกินกว่า 3 รุ่น
ทั้งนี้ สาเหตุของการควบรวมกิจการ เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งการควบรวมกิจการ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น โดยในทางธุรกิจเชื่อกันว่า การควบรวมกิจการ จะทำให้ธุรกิจเจริญเติบโต และมีผลกำไรมากขึ้น สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยสรุปสาเหตุ หรือประโยชน์ของการควบรวมกิจการได้ ดังต่อไปนี้
1. เป็นประโยชน์ในแง่ของการขยายฐานของธุรกิจครอบครัวให้มากยิ่งขึ้น
2. เพื่อประโยชน์ในการปรับโครงสร้างของกิจการของบริษัทครอบครัว โดยอาจเป็นการซื้อ ขาย รวมกิจการ หรือทรัพย์สินของบริษัท เพื่อสร้างมูลค่าให้มากขึ้น หรือปรับโครงสร้างภายในเพื่อความเข้มแข็ง หรือใช้มาตรการแก้ไขปัญหาหากมีหนี้สินมากเกินไป
3. ใช้วิธีการควบรวมกิจการ ซื้อกิจการที่มีอนาคต หรือทรัพย์สินราคาถูกไว้ กรณีที่กิจการนั้นมีปัญหา เพื่อขยายธุรกิจหรือขายเพื่อทำกำไรแก่ธุรกิจครอบครัว โดยการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสทั้งในและต่างประเทศ
4. เพื่อหาพันธมิตรเพื่อจะให้ธุรกิจนั้นมีความเกื้อหนุนกัน และมีความยั่งยืนในการพัฒนาธุรกิจครอบครัวโดยหามืออาชีพหรือพันธมิตรเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจครอบครัว
5. ธุรกิจที่มีใบอนุญาตเป็นพิเศษ เช่น ธุรกิจหลักทรัพย์ ประกันภัย และธุรกิจธนาคาร หากธุรกิจครอบครัวมุ่งประสงค์จะเข้าทำธุรกิจดังกล่าว สามารถทำได้โดยการซื้อกิจการ
6. การใช้ผลประโยชน์จากภาษีอากรในการปรับโครงสร้างของธุรกิจครอบครัวที่มีหลายธุรกิจ ตลอดจนการใช้ผลขาดทุนให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
7. เพื่อประโยชน์ในการจัดโครงสร้างการถือหุ้นของสมาชิกในธุรกิจครอบครัว ให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม ทั้งการลดความเสี่ยง ทางกฎหมายและทางธุรกิจการเงิน เพื่อใช้โอกาสในการขยายกิจการและความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว
สำหรับการตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัวโดยการควบรวมกิจการนั้น มี 3 ขั้นตอนหลัก ๆ ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการดำเนินไปอย่างราบรื่นและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ประกอบด้วย
1. แต่งตั้งที่ปรึกษา
เพิ่งรวมถึงที่ปรึกษาทางการเงินที่จะได้มาช่วยในการตีราคามูลค่าทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อช่วยหากิจการธุรกิจที่ธุรกิจครอบครัวต้องการจะซื้อควบรวม ซึ่งที่ปรึกษาการเงินเหล่านี้จะมีบริษัทเป้าหมาย หรือธุรกิจที่ต้องการการควบรวมกิจการอยู่มาก การเลือกที่ปรึกษาดังกล่าว ควรเลือกจากประสบการณ์และความมีชื่อเสียง บุคลากรที่ทำงานต้องมีเวลาทำงานให้เราอย่างเต็มที่ และจะต้องเลือกที่ปรึกษากฎหมาย ภาษี บัญชี เพื่อปฏิบัติทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย
รวมถึงตรวจสอบกิจการที่เราจะไปควบรวมกิจการว่ามีกระบวนการทางกฎหมาย หรือมีหนี้สินใด ๆ ปรากฏอยู่ เราเรียกว่า การตรวจสอบสถานะทางกฎหมาย บัญชี และการเงิน (Due Diligence) ซึ่งที่ปรึกษาจะแนะนำว่าควรเลือกรูปแบบใด โครงสร้างการควบรวมแบบใดที่ได้ประโยชน์สูงสุดและมีข้อกฎหมายและภาษีอย่างไร
ที่สำคัญควรตกลงเรื่องค่าธรรมเนียม ซึ่งอาจคิดแบบจำนวนคงที่/รายชั่วโมง หรือผลสำเร็จของงานให้เรียบร้อยเสียก่อน
2. แต่งตั้งบุคลากรในครอบครัว
โดยแต่งตั้งผู้ที่จะเกี่ยวข้องในการควบรวมกิจการว่าจะให้สมาชิกในครอบครัวที่มีความชำนาญทางธุรกิจเข้าไปช่วยดูแลประสานงานกับที่ปรึกษาตามข้อ 1 เพื่อให้ความเห็นกับสมาชิกในครอบครัวประกอบการตัดสินใจ
ในขั้นตอนนี้ ต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ สิ่งสำคัญคือต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบ ยุติธรรม และโปร่งใส กระบวนการตัดสินใจควรขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและความเหมาะสม ไม่ใช่เพียงแค่ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อลดความเสี่ยงจากความขัดแย้ง และเพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจดำเนินการอย่างโปร่งใส
3. กำหนดราคา
ถ้าผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการกำหนดราคาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซื้อหุ้น การซื้อทรัพย์สิน หรือการควบรวมกิจการ แหล่งเงินทุน สมาชิกในครอบครัวกับที่ปรึกษาจะต้องร่วมกันศึกษาในเรื่องนี้อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ
เรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของการควบรวมกิจการมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน กฎเกณฑ์เรื่องภาษีในการซื้อควบรวมกิจการหรือปรับโครงสร้าง เจ้าของธุรกิจครอบครัว จึงควรต้องเรียนรู้ทั้งจากการศึกษาด้วยตนเองและจากที่ปรึกษาที่แต่งตั้งมาด้วย
อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการ เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางธุรกิจที่องค์กรต่าง ๆ ใช้เพื่อขยายธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน แม้ว่าการควบรวมกิจการ จะนำมาซึ่งโอกาสมากมาย แต่ข้อควรระวัง คือ เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและท้าทาย ดังนั้น การวางกลยุทธ์อย่างรอบคอบ การสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย เกี่ยวกับการควบรวมกิจการอย่างชัดเจน สม่ำเสมอ และโปร่งใส รวมถึงการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัว ประสบความสำเร็จกับการควบรวมกิจการได้อย่างมืออาชีพ
ติดตาม ซีรีส์ Family Business ได้ใหม่ ในครั้งหน้า
แหล่งอ้างอิง : หนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน เขียนโดย คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์, คุณนวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia)
โฆษณา