18 ก.ค. เวลา 04:59 • ประวัติศาสตร์

เหตุใดจึงมีฟาร์มและไร่นาอยู่ในบริเวณสนามบินญี่ปุ่น?

หากใครเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น นั่งเครื่องบินมาลงยัง “ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ (Narita International Airport)” อาจจะเห็นภาพที่รู้สึกแปลกตาในบริเวณ Taxiway ของสนามบิน
ใจกลางสนามบินมีฟาร์ม ไร่นา รวมถึงบ้านเรือนอยู่จำนวนหนึ่ง ดูแปลกตา ไม่เข้ากับสนามบิน ซึ่งเรื่องราวนี้ก็เป็นเรื่องราวที่ทีมายาวนานและน่าสนใจ
เรื่องราวเป็นอย่างไร ลองมาดูกันครับ
ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ (Narita International Airport)
สำหรับสนามบินหลักของญี่ปุ่นก็คือ “ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (ฮาเนดะ) (Haneda Airport)” ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปีค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับย่านใจกลางเมืองของกรุงโตเกียว
เมื่อมีการขยายสนามบิน ก็ปรากฎว่าไม่สามารถขยายได้เพิ่มอีกแล้วเนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ ทำให้ในยุค 60 (พ.ศ.2503-2512) รัฐบาลจึงเห็นควรให้สร้างสนามบินแห่งที่สองขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของการเดินทางระหว่างเมืองที่มีมากขึ้นทุกวัน
ตั้งแต่ปีค.ศ.1963-1965 (พ.ศ.2506-2508) กระทรวงการคมนาคมแห่งญี่ปุ่นได้ทำการศึกษาและเลือกพื้นที่นอกโตเกียว ใกล้กับหมู่บ้านที่ชื่อ “โทมิซาโตะ (Tomisato)” ในการก่อสร้างสนามบินแห่งที่สอง
1
ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (ฮาเนดะ) (Haneda Airport)
แต่การก่อสร้างสนามบินก็หมายความว่าฟาร์มและไร่นา รวมถึงหมู่บ้านกว่าครึ่งหนึ่งจะต้องย้ายออกไป โดยเหล่าชาวนาชาวไร่ก็ไม่ได้มีโอกาสมาพูดคุย หารือกับทางการเรื่องนี้เลย ทำให้ชาวนาชาวไร่ ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างประท้วง คัดค้านการสร้างสนามบิน
ด้วยความวุ่นวายยุ่งยากต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลตัดสินใจย้ายสถานที่สร้างสนามบินไปยังพื้นที่ใหม่ นั่นก็คือพื้นที่ที่อยู่ห่างจากที่เดิมไปห้ากิโลเมตร ใกล้กับหมู่บ้านซันริซุกะ (Sanrizuka) และหมู่บ้านชิบะยามะ (Shibayama)
ที่ดินในแถบนั้นจำนวนมากเป็นของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ และก็เป็นปัญหาเดิม นั่นก็คือเหล่าชาวนาชาวไร่ที่มีบ้านและไร่นาในแถบนั้นก็ไม่ยอมย้ายออกง่ายๆ ไร่นาและบ้านบางส่วนบดบังพื้นที่ที่จะก่อสร้างสนามบิน และการประท้วงก็เกิดขึ้น
แต่คราวนี้รัฐบาลไม่อ่อนข้อ ไม่มองหาที่ใหม่แล้ว สั่งให้ดำเนินการก่อสร้าง ดังนั้นในปลายยุค 60 (พ.ศ.2503-2512) การก่อสร้างจึงเริ่มขึ้น โดยอาคารผู้โดยสารแรกได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ.1972 (พ.ศ.2515)
1
แต่รัฐบาลก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เจรจา มีการยื่นข้อเสนอจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ชาวนาชาวไร่ในแถบนั้นที่ยินดีจะย้ายออกไปตั้งแต่ปีค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) ที่เริ่มการก่อสร้าง หากแต่ชาวนาและชาวบ้านหลายๆ ส่วนก็ยังไม่ยอม ยังคงดำเนินการประท้วงต่อไป
หนึ่งในปัญหาก็คือชาวนาชาวไร่หลายๆ คนไม่ได้มีโอกาสมาพูดคุยเจรจาอย่างจริงๆ จังๆ ทำให้หลายคนโกรธและไม่พอใจเมื่อเห็นรัฐบาลเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และนับวัน จำนวนผู้ประท้วงก็มากขึ้นเรื่อยๆ
ได้เกิดกลุ่มที่ประท้วงคัดค้านการสร้างสนามบิน โดยผู้นำหลักคือกลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลและเห็นว่าการก่อสร้างสนามบินเป็นการยึดครองที่ดินทำกินของประชาชนอย่างผิดกฎหมาย
กลุ่มต่อต้านได้สร้างสิ่งกีดขวาง เครื่องกำบังต่างๆ รวมทั้งหอสังเกตการณ์ในบริเวณฟาร์มหรือไร่นาเพื่อทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยหนึ่งในสิ่งก่อสร้างของฝ่ายต่อต้าน ก็คือหอสูง 60 เมตรซึ่งสร้างขึ้นในปีค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณปลายรันเวย์ เจตนาก็คือเพื่อรบกวนการทดลองบิน
1
ในบริเวณนี้เป็นที่ดินที่รัฐบาลไม่มีกรรมสิทธิ์ จึงไม่อาจจะสั่งรื้อถอนได้ กว่าจะรื้อถอนได้ก็คือปีค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) ซึ่งเป็นปีก่อนที่สนามบินจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
ตามกำหนดการนั้น สนามบินต้องเปิดดำเนินการในเดือนมีนาคม ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) หากแต่ก็เกิดความล่าช้าเนื่องจากเหล่าผู้ชุมนุมประท้วงได้สร้างความเสียหายแก่สนามบิน ซึ่งรวมถึงการบุกเข้ามาในหอควบคุมการบินและสร้างความเสียหายแก่อุปกรณ์ต่างๆ
ความขัดแย้งนับวันมีแต่จะยิ่งรุนแรง โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ 25,000 นายกับผู้ชุมนุมประท้วง 20,000 ราย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 700 คน ถูกจับกุมอีกเกือบ 500 คน
1
กว่ารันเวย์แรกจะก่อสร้างเสร็จก็ปาเข้าไปปีค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) ในขณะที่การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป แม้แต่หลังจากที่สนามบินเปิดให้บริการแล้ว แต่การก่อสร้างรันเวย์ที่สองก็ยังคงล่าช้าจนถึงปีค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) โดยตามแผนเดิมนั้น สนามบินแห่งนี้จะมีรันเวย์ห้าแห่ง
26 พฤศจิกายน ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) การก่อสร้างเฟส 2 ของสนามบินได้เริ่มขึ้น มีการสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่และรันเวย์เพิ่มเติม ในขณะที่การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป
เมื่อเวลาผ่านไป การประท้วงก็ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง แต่ก็ยังมีข้อกำหนดให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชนหากจะเข้ามาในสนามบิน เพิ่งจะยกเลิกไปเมื่อปีค.ศ.2015 (พ.ศ.2558)
ในทุกวันนี้ เหลือไร่นาและฟาร์มอยู่ห้าแห่งในบริเวณสนามบิน ล้อมรอบด้วย Taxiway และอาคารต่างๆ ของสนามบิน หากแต่ไร่นาและฟาร์มเหล่านั้นก็ยังคงดำเนินการ ผลิตผลผลิตออกสู่ท้องตลาด
1
นี่ก็เป็นเรื่องราวที่ยุ่งยากวุ่นวายของสนามบินนาริตะที่ยังเหลือหลักฐานร่องรอยมาจนถึงทุกวันนี้
สั่งซื้อหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งความหลอกลวง 5,000 ปีของการต้มตุ๋น ฉ้อโกง โกหก ปลอมแปลง” ได้ตามลิ้งค์นี้นะครับ
โฆษณา