18 ก.ค. เวลา 23:30 • ปรัชญา

#เห็นความเป็นจริง #เห็นยังไง?

#ก็เห็นไตรลักษณ์นี่แหละ
#เห็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น #ตั้งอยู่ #ดับไป
#เห็นสภาวธรรมที่ไม่เที่ยง #เป็นทุกข์
เป็นสภาวะที่บีบคั้น แล้วก็ทนอยู่ไม่ได้
ต้องเสื่อมสลายไป บังคับบัญชาอะไรไม่ได้
เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน
ความเป็นตัวตน เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า
"อุปาทาน" ความหลงยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจริง ๆ แล้ว
ตัวตนนี่ไม่มีหรอก แต่ว่ามันเกิดจากอุปาทาน
ความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ทำให้เกิดความเห็นผิด
ที่เรียกว่าสักกายทิฏฐินั่นเองนะ
ความเข้าใจผิดว่ามีตัวเรามีของเราต่าง ๆ
#การจะถอดถอนสักกายทิฏฐิ
#ก็ต้องเกิดการเห็นตามความเป็นจริง
เห็นสิ่งต่างๆ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ก็จะค่อยๆ ถอนความเห็นผิดออกไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
ที่สะสมมาในขันธสันดาน
ความเห็นผิดที่เรียกว่า ทิฏฐานุสัย
เป็นอนุสัยกิเลสที่ฝังลึกอยู่ข้างใน
ก็ต้องค่อย ๆ ถอนออก
เมื่อเกิดการเห็นตามความเป็นจริงอยู่เนือง ๆ
ก็จะเป็นการเพาะบ่มสัมมาทิฏฐิ ให้เติบโตขึ้น
เบื้องต้นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น แค่ทำความเข้าใจ
แต่พอปฏิบัติไป เดินตามมรรคไปเรื่อย ๆ
เกิดสัมมาสติ เกิดสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่น
จนเห็นตามความเป็นจริงอยู่เนือง ๆ ถอนความเห็นผิด
ก็จะทำให้สัมมาทิฏฐินี่เติบโตขึ้น
ต้องค่อย ๆ พัฒนาเพาะบ่มอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ
#การเห็นที่ถูกต้อง #ก็คือเห็นความเป็นจริง
เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ซึ่งสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
รวมแล้วก็คือ "รูปนาม" เป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งขึ้นมา
ก็เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์
คือความไม่เที่ยงความเป็นทุกข์
ความเป็นอนัตตาต่าง ๆ ก็เห็นอย่างนี้อยู่เนือง ๆ นะ
ตั้งแต่ระดับวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน
มีสติ มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่นก็เริ่มเห็นแล้ว
ความรู้สึกอาการต่าง ๆ ทางกายทางใจ
พอฝึกไปมาก ๆ ก็เริ่มทันการกระทบ
.. ตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณ ก็เริ่มเห็นรูป
เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ ก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็เสื่อมสลายไป
.. เสียงที่มากระทบ เกิดการรับรู้ เสียงก็ไม่เที่ยง
เกิดแล้วก็ดับไป วิญญาณ โสตวิญญาณเข้ามารู้ ก็ดับไป
.. กลิ่นกระทบ แล้วก็ดับไป
.. อาหารแตะลิ้น เกิดความรู้สึกกระทบ แล้วก็ดับไป
.. สัมผัสทางกายเกิดมากระทบ แล้วก็ดับไป
มันมีแต่สิ่งที่เกิดดับ ตั้งแต่ระดับพื้น ๆ
วิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ก็รับรู้ความเกิดดับ
ความเสื่อมสลายไปของรูปนาม ของสภาวะต่าง ๆ
พอเกิดผัสสะ การกระทบ
จิตใจมีการกระเพื่อมหวั่นไหว ก็รู้เท่าทัน
แต่ถ้าฝึกไปมาก ๆ กำลังจิตมีความตั้งมั่นมาก
ทีนี้บางทีก็เริ่มหยุดที่ผัสสะเลย
หยุดแค่การกระทบ การเห็น
การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส
ใหม่ ๆ นี่ก็ไหลไปเยอะ
ก็เห็นความปรุงแต่ง การก่อตัวของจิตใจ
เกิดความทุกข์ ความบีบคั้นต่าง ๆ
แต่พอฝึกไปมาก ๆ ก็เริ่มหยุดได้
หยุดก็ไม่ใช่ว่าเราไปกำหนดหยุดนะ
#มันเป็นไปตามพัฒนาการของสติปัญญานั่นเอง
เกิดผัสสะ การกระทบ
หรือไหลไปเกิดเวทนาความรู้สึกสบาย ไม่สบาย เฉย ๆ
ถ้ากำลังกิเลสมากกว่านั้น ก็เกิดเป็นตัณหา
ความบีบเค้น เกิดความทะยานอยาก
เกิดอุปาทานเข้าไปยึด จากนั้นก็เกิดภพ
เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมา
ก็เป็นที่ตั้งของความทุกข์เลย
บางครั้งกิเลสอนุสัยบางเรื่องมีกำลังมาก
มันก็ดัน ๆ ดัน บางเรื่องนี่มันดันออกมาแรง
กำลังไม่อยู่เลย ก็รู้เท่าทัน
บางครั้งไม่ไหวก็พิจารณาโดยแยบคาย
แต่ถ้าฝึกขัดเกลาไปมาก ๆ
แล้วนี่ก็จะค่อย ๆ เบาบางไป
ค่อย ๆ ชำระไป ก็ฝึกแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
สัมมาทิฏฐิก็ค่อย ๆ เพาะบ่มเจริญขึ้น
เมื่อสัมมาทิฏฐิมีกำลังดีขึ้น เพาะบ่มดีขึ้น
เริ่มเห็นตามความเป็นจริง
ก็ส่งผลให้สัมมาสังกัปปะ ก็มีกำลังขึ้น
ดำริที่จะออกจากกาม ก็จะมีกำลังขึ้น
เห็นคุณค่าของเนกขัมมะ ดำริในความไม่มุ่งร้าย
ดำริในความไม่พยาบาท
ศีลก็บริสุทธิ์ขึ้น สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ก็บริสุทธิ์ขึ้น
สัมมาวายามะ ความเพียรก็เพียรละอกุศล
เพียรเจริญกุศล ตรงนี้ก็เจริญขึ้น
เพราะว่าจิตที่เป็นกุศลก็มีกำลังยิ่ง ๆ ขึ้นไป
สิ่งที่เป็นกุศลก็เติบโตขึ้น
สัมมาสติก็จะลึกซึ้งไปเรื่อย ๆ
สัมมาสตินี่มีระดับตั้งแต่ที่เราเรียนรู้กัน
ระดับพื้น ๆ ที่เรียกว่า การพิจารณากายในกาย
ตั้งแต่ลมหายใจก็เป็นกายอันหนึ่ง
พอฝึก ๆ ไป การพิจารณากายในกาย
ก็เริ่มหยั่งเข้าสู่สิ่งที่เป็นปรมัตถธรรม
เป็นระดับสภาวธรรม ที่หลุดจากสมมติบัญญัติ
เป็นความรู้สึก แล้วก็มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติ ละความพอใจ ไม่พอใจในโลก
ทีนี้การรู้สภาวธรรมก็เป็นกลางมากขึ้น
เริ่มไม่เกิดความพอใจไม่พอใจ
วิถีจิตก็เป็นกลางมากขึ้น เมื่อลึกซึ้งลงไป
ก็เข้าถึงระดับที่เรียกว่า
.. พิจารณากาย ที่เป็นกายภายในบ้าง
.. พิจารณากาย ที่เป็นกายภายนอกบ้าง
.. พิจารณากาย ทั้งภายในและภายนอกบ้าง
.. พิจารณาธรรม ถึงความเกิดขึ้น ภายในกายบ้าง
.. พิจารณาธรรม ถึงความเสื่อมไป ภายในกายบ้าง
.. พิจารณาธรรม ถึงความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปภายในกายบ้าง
ตรงนี้ก็เป็นระดับวิปัสสนาแล้ว
สติปัฏฐานก็จะลึกซึ้งลงไป เปลี่ยนจากการฝึกสติ
ก็กลายเป็นวิปัสสนาเลย
ก็ควบคู่กับสิ่งที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ
ความตั้งมั่นที่ถูกต้อง จิตตั้งมั่น
บางครั้งก็เป็นสมาธิ บางครั้งก็เป็นวิปัสสนา
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า..
สมถะ และ วิปัสสนา ชื่อว่าเข้าคู่กันได้อย่างแน่นแฟ้น
ตอนแรกนี่อาศัยสตินะ ฝึกสติ แล้วก็ฝึกสมาธิ
เหมือนขาสองข้างควบคู่กันไป แต่พอฝึกไปมาก ๆ
จะขึ้นถึงระดับที่เป็นวิปัสสนาแล้ว
ก็จะเป็นวิปัสสนาควบคู่กับสมถะ
ควบคู่กันไปนั่นเอง
ก็ต้องเพาะบ่มอย่างงี้
เพาะบ่มอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้บริบูรณ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ
แต่ละข้อจะค่อย ๆ ถูกเติมเต็มขึ้น
เติมเต็มขึ้น ค่อย ๆ เพาะบ่มขึ้นไป
ตรงนี้มันก็จะค่อย ๆ
ถอดถอนออกไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ
ความโลภ ความโกรธ
ความหลงก็ค่อย ๆ เบาบางลงไป
พัฒนาการก็จะค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ นั่นเองนะ
.
.
ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
ค่ำวันที่ 26 ตุลาคม 2566
โฆษณา