24 ก.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

The Libet Experiment พิสูจน์เจตจำนงอิสระในห้องทดลอง

เหลืออีกตอนเดียว ต่อให้จบเลยก็แล้วกัน
เท่าที่ผ่านมา เรามักคุยเรื่องเจตจำนงอิสระตามความคิดเห็นมากกว่าแสดงหลักฐาน
เอ๊ะ! เรื่องเจตจำนงอิสระแสดงหลักฐานได้ด้วยหรือ? พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์จริงหรือ? เป็นไปไม่ได้
เป็นไปแล้ว
นักวิทยาศาสตร์นักคิดนักปรัชญาพูดเรื่องเจตจำนงอิสระมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่การทดลองที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ น่าจะเป็น The Libet Experiment ในทศวรรษ 1980
เบนจามิน ลิเบต (Benjamin Libet) นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ทำการทดลองโดยให้กลุ่มตัวอย่างลองทำอะไรตามใจตน นั่นคือให้กดปุ่มหรือขยับข้อมือเมื่อไรก็ตามที่อยากกดปุ่มหรือขยับ ขณะเดียวกันผู้ทดลองจะมองนาฬิกาจับเวลาพิเศษเรือนหนึ่ง เพื่อบันทึกเวลาที่ตัดสินใจขยับข้อมือ
ลิเบตแปะอิเล็กโทรด EEG หลายชิ้นบนหัวของผู้ถูกทดลองเพื่อวัดค่ากิจกรรมของนิวรอนในสมองคอร์เท็กซ์ ส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับจิตสำนึกของคน
ผลที่พบคือสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวมีความตื่นตัวอยู่เรียบร้อยแล้ว จิตใต้สำนึกทำงานก่อนจิตสำนึกของเรา (หรือพูดง่าย ๆ คือเรา ‘ตัดสินใจ’ มาก่อนตัดสินใจจริง ๆ) ราว 300-500 millisecond (ประมาณครึ่งวินาที) เรียกว่า Readiness Potential
นี่แปลว่าก่อนที่เราจะคิดทำอะไรด้วยเจตจำนงอิสระ การตัดสินใจเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในจิตใต้สำนึก แต่เราเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเราตัดสินใจเอง
1
ผลการทดลองนี้ถูกใช้เป็นหลักฐานว่าเจตจำนงอิสระไม่มีจริง มันเป็นภาพลวงตาของมนุษย์ เราคิดไปเองว่าเรามีเจตจำนงอิสระ
นักวิทยาศาสตร์หลายคนโต้แย้งว่า มันเป็นการทดลองที่ไม่สมบูรณ์แบบ ยังมีช่องโหว่
ดังนั้นผ่านไปร่วมสามสิบปี ก็มีคนทดลองซ้ำ
ในปี 2007 นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยา จอห์น ดิแลน เฮนส์ แห่งมหาวิทยาลัยโรงพยาบาล Charite Universitatsmedizin ที่เบอร์ลิน เยอรมนี ทดลองงานของลิเบตอีกครั้ง คราวนี้เปลี่ยนมาใช้เครื่องมือ fMRI (Functional Magnetic Resonance Imaging) ที่เหนือกว่า EEG
1
เขาให้คนถูกทดลองกดปุ่มทางซ้ายมือและขวามือ ขณะที่ตามองดูตัวอักษรที่ปรากฏต่อเนื่องบนจอ
ผลที่ได้มาก็ตรงกับงานวิจัยของลิเบต แต่ได้เวลายาวกว่า นั่นคือระยะห่างของจิตใต้สำนึกกับจิตสำนึกต่างกันถึง 7 วินาทีก่อนที่จิตสำนึกจะตัดสินใจ
เขาประเมินว่าการทดลองนี้มีความแม่นยำราว 60 เปอร์เซ็นต์
แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนแย้งว่าการทำงานของสมองที่ทำนายการตัดสินใจยังไม่ได้บอกว่าไม่มีเจตจำนงอิสระ แม้จิตใต้สำนึกจะบอกมา จิตสำนึกก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้
นอกจากนี้ก็มีคนแย้งว่าเจตจำนงอิสระไม่ใช่ภาพลวงตา เพราะสามารถแก้ไขจิตใต้สำนึกของเราได้
หากมีหลักฐานพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยว่าเจตจำนงอิสระไม่มีจริง ก็อาจคล้ายกับการพบหลักฐานชี้ว่าความยุติธรรมไม่มีจริง หรือชาติหน้าไม่มีจริง มันทำร้ายสังคมได้ เนื่องจากเจตจำนงอิสระเป็นรากฐานของสังคม
ถ้ามีข้อพิสูจน์ชัดแจ้งว่าเจตจำนงอิสระไม่มีจริง เราอาจสติแตกเพราะเห็นว่าโลกกำลังดำเนินไปตามหลัก Fatalism ความเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปตามชะตากรรมของมัน อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
1
ผลที่อาจเกิดขึ้นคือ เราอาจเข้าสู่สภาวะท้อแท้ เห็นว่าเราไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง ทำให้ไม่มีความสุข
ทว่าความเชื่อเรื่องเจตจำนงอิสระก็เหมือนความเชื่อเรื่องความยุติธรรม ถึงเรารู้ว่าความยุติธรรมไม่มีอยู่จริงในโลก ก็ไม่ได้ทำให้เราต้องจับปืนไปยิงใคร เพราะทุกเรื่องในโลกมีผลที่ตามมา
1
เช่นกันสมมุติว่าโลกไม่มีเจตจำนงอิสระ ก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องใช้ชีวิตตามยถากรรม
ลองมองไปรอบตัวเรา จะพบว่ามีคนมากมายที่มีความสุขในชีวิต สุขหรือทุกข์อยู่ที่ทัศนคติในการใช้ชีวิต ไม่ได้ขึ้นกับว่าเหตุการณ์ในชีวิตของเราถูกกำหนดมาก่อนหรือไม่
1
เราอาจตัดสินใจโดยอิงจาก cause ที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุขไม่ได้ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง เราจะมองโลกเปลี่ยนไป
ต่อให้เราไม่มีเจตจำนงอิสระจริง ๆ เราก็ยังสามารถ ‘เลือก’ ที่จะเชื่อว่า มนุษย์เรามีเจตจำนงอิสระ ด้วยเหตุผลว่าความเชื่อเรื่อง free will เป็นการใช้ชีวิตแบบด้านบวก ถ้า free will ไม่มีจริง ก็ไม่มีอะไรเสียหาย ถ้ามันมีจริง เราก็ใช้มันมาตลอดชีวิตแล้ว
อย่าลืมว่าต่อให้การตัดสินใจใด ๆ ของเราเกิดจากจิตใต้สำนึกจริง มันก็ยังเป็นจิตใต้สำนึกของเราเอง ไม่ใช่ของคนอื่น มันทำงานมากับเราตั้งแต่เกิด เรายังเป็นเรา เพียงแต่กลไกการทำงานบางอย่างอาจไม่ตรงกับที่เราเคยคิดเคยเชื่อ
มนุษย์เราทุกคนเป็นผลรวมของเหตุการณ์และปัจจัยต่าง ๆ นับไม่ถ้วน ที่สะสมจนกลายมาเป็นตัวเราในวันนี้ นี่ไม่ใช่ชะตากรรม มันเป็นเช่นนั้นเอง
จบแล้ว
โฆษณา