18 ก.ค. เวลา 07:53 • ไลฟ์สไตล์

เทคนิคเลือกบัตรเครดิตให้ตรงใจและคุ้มค่า

ธีรพัฒน์ มีอำพล นักวางแผนการเงิน CFP®
“บัตรเครดิต” ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นอกจากจะใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการได้แทนเงินสดแล้ว ยังให้สิทธิประโยชน์และเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้จ่ายให้กับผู้ถือบัตร หรือบัตรบางใบยังมอบสิทธิประโยชน์พิเศษอื่น ๆ เช่น บริการเลขาส่วนตัว บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน ที่จอดรถ การใช้บริการรถรับส่งสนามบิน สิทธิในการเข้าใช้ห้องพักรับรองที่สนามบิน ความคุ้มครองด้านการเดินทางเมื่อไปต่างประเทศ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ก่อนทำบัตรเครดิตควรให้ความสำคัญกับการเลือก "บัตรเครดิต" เพราะหากรู้จักใช้และเข้าใจบัตร จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ตรงจุด ช่วยให้การหยิบใช้บัตรเครดิตในแต่ละครั้งมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
✅ 1.บัตรเครดิตกลุ่มได้เครดิตเงินคืน
บัตรเครดิตเงินคืน (Cashback) จะให้เงินคืนกับผู้ถือบัตรทุกครั้งเมื่อมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ตรงกับเงื่อนไขของบัตรเครดิต โดยจะคืนเงินเข้ามาในบัญชีเครดิต ซึ่งจำนวนเงินคืนก็จะแตกต่างไปตามเงื่อนไขของบัตรแต่ละใบ จะมีทั้งแบบที่ได้เครดิตเงินคืนทุกยอดการใช้จ่าย หรือได้เครดิตเงินคืน เมื่อรูดใช้จ่ายในหมวดค่าใช้จ่ายที่กำหนด ทำให้สามารถประหยัดเงินได้บางส่วนจากการใช้จ่ายตามปกติ
บัตรเครดิตเงินคืนแต่ละใบจะมีร้านค้าที่เข้าร่วมรายการแตกต่างกันไป เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้จ่ายในหมวดรายการนั้น ๆ เป็นประจำ เช่น รับเงินคืน 5% เมื่อซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต รับเงินคืน 3% เมื่อใช้จ่ายที่สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น บัตรเครดิตเงินคืนถือเป็นบัตรเครดิตที่ไม่ซับซ้อน และเข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะใช้จ่ายแล้วได้เงินคืนทันที
ซึ่งผู้ที่สนใจบัตรเครดิตในกลุ่มนี้ แนะนำให้ลองสังเกตว่ามีการใช้จ่ายในกลุ่มไหนมากเป็นพิเศษ แล้วเลือกบัตรเครดิตที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากที่สุด เพราะแต่ละบัตรเครดิตแต่ละใบ มีเปอร์เซ็นต์เงินคืนในแต่ละหมวดไม่เท่ากัน การเลือกบัตรที่ตรงกับไลฟ์สไตล์จะทำให้ได้เครดิตเงินคืนที่คุ้มค่าที่สุด
✅ 2.บัตรเครดิตกลุ่มสะสมคะแนน
บัตรเครดิตสะสมคะแนน (Rewards Credit Card) เป็นบัตรที่เน้นการสะสมคะแนนจากยอดการใช้จ่าย แล้วจึงนำคะแนนที่ได้ไปแลกเป็นของรางวัลพิเศษ ส่วนลดของสินค้าและบริการต่าง ๆ หรือจะแลกเป็นเครดิตเงินคืนก็ได้เช่นกัน ซึ่งเงื่อนไขในการสะสมคะแนนขึ้นอยู่กับบัตรเครดิตใบนั้น ๆ บางบัตรอยู่ที่ 25 บาท ต่อ 1 คะแนน หรือบางบัตรอาจจะ 20 บาท ต่อ 1 คะแนน การคิดคำนวณความคุ้มค่า หรือผลตอบแทน หากได้รับ 1 คะแนน จากการใช้จ่ายผ่านบัตร 25 บาท และนำคะแนนไปแลกเป็นส่วนลด
โดยปกติอัตราการแลกคะแนนโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 1,000 คะแนน เท่ากับ 100 บาท หรือหากคิดเป็นจำนวนเงิน คือ 100 บาท ต่อทุกการใช้จ่าย 25,000 บาท ดังนั้นจะคิดเป็นผลตอบแทน 0.4%
หากคิดเป็นผลตอบแทนออกมาแล้วจะเห็นว่าไม่คุ้มค่าเท่ากับบัตรเครดิตประเภทเงินคืน แต่บัตรกลุ่มนี้มักมีจุดเด่นเพิ่มเติม เช่น หากเราใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตในบางรายการตามเงื่อนไขที่บัตรกำหนด จะทำให้เราได้รับคะแนนพิเศษ 2 - 5 เท่า ก็จะทำให้ได้คะแนนสะสมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น หากใช้จ่ายในรายการที่กำหนดและเลือกใช้บัตรที่ได้รับคะแนนสะสมพิเศษเพิ่มเติม 4 เท่า จะทำให้ได้รับคะแนนสะสมจำนวนมาก จากนั้นนำคะแนนสะสมมาแลกในช่วงที่มีโปรโมชั่นร่วมกับทางร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้า เช่น การใช้คะแนนเท่ายอดซื้อ แลกรับส่วนลด 15% จะทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจาก 0.4% เป็น 2.4% ซึ่งให้ผลตอบแทนที่มากกว่าบัตรเครดิตประเภทเงินคืน
บัตรเครดิตในกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับคนที่ชอบซื้อของในห้างสรรพสินค้าหรือทานข้าวในร้านอาหาร ซึ่งมักจะมีการจัดโปรโมชั่นร่วมกับห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารอยู่บ่อย ๆ สามารถนำคะแนนสะสมไปแลกเป็นส่วนลด โดยในบางครั้งมีโปรโมชั่นให้ส่วนลดถึง 15 - 20% เมื่อใช้คะแนนสะสมเท่ายอดซื้อ ซึ่งจะทำให้มีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
✅ 3.บัตรเครดิตกลุ่มสะสมไมล์
บัตรในกลุ่มนี้จะเป็นบัตรที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น เป็นบัตรเครดิตที่เน้นสะสมคะแนนจากการใช้จ่าย และเมื่อมีคะแนนมากพอ จะทำการโอนคะแนนจากบัตรเครดิตไปแลกเป็นไมล์สายการบิน จากนั้นจึงนำไมล์สายการบินไปแลกตั๋วเครื่องบิน การใช้งานบัตรเครดิตกลุ่มสะสมไมล์จึงมีความซับซ้อนกว่าปกติ เพราะต้องเข้าใจวิธีการใช้ไมล์แลกตั๋วเครื่องบิน ของแต่ละสายการบิน และเส้นทางการบินที่คุ้มค่าในการแลกไมล์
การเลือกบัตรเครดิตในกลุ่มนี้ ต้องเลือกบัตรที่คุ้มค่า พิจารณาจากความยากง่ายในการได้ไมล์สะสม ต้องใช้จ่ายผ่านบัตรกี่บาทถึงจะได้รับ 1 ไมล์สะสม เช่น ใบแรก 15 บาท/คะแนน 1.2 คะแนน/ไมล์สะสม หรือเท่ากับ 18 บาท/ไมล์สะสม ใบที่สอง 25 บาท/คะแนน 2 คะแนน/ไมล์สะสม หรือเท่ากับ 50 บาท/ไมล์สะสม ดังนั้นควรเลือกใช้ใบแรก เพราะมีอัตราการแลกไมล์ที่ต่ำกว่า
บัตรเครดิตในกลุ่มสะสมไมล์แต่ละบัตรจะมีสายการบินพันธมิตรแตกต่างกัน บางบัตรอาจจะมีตัวเลือกในการโอนคะแนนไปได้หลากหลายสายการบิน ซึ่งแต่ละสายการบินก็มีเส้นทางการบิน อัตราการแลกไมล์ในแต่ละเส้นทาง ค่าธรรมเนียมในการแลกตั๋วเครื่องบินที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาประกอบ
บัตรเครดิตแบบสะสมไมล์ เหมาะกับผู้ที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว ชอบเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อย ๆ ความคุ้มค่าในการแลกไมล์ คือ การแลกตั๋วเครื่องบินในชั้น Business Class หรือ First Class ซึ่งปกติมีราคาแพง ทำให้คิดผลตอบแทนออกมาแล้วคุ้มค่ามากที่สุด
เพราะการแลกตั๋วเครื่องบินชั้น Business Class ไป - กลับ 1 ที่นั่ง ในเส้นทาง กรุงเทพ - โตเกียว จะต้องมียอดใช้จ่ายประมาณ 1,250,000 บาท ดังนั้นหากเรามียอดใช้จ่ายผ่านบัตรไม่มาก กว่าจะได้คะแนนพอที่จะแลกไมล์ครบในเส้นทางที่ต้องการอาจจะใช้เวลานานหลายปี ซึ่งบัตรเครดิตแบบเงินคืน หรือแบบสะสมคะแนนอาจจะเหมาะสมมากกว่า
💡 ตัวอย่าง การใช้บัตรเครดิตสะสมไมล์
ตั๋วเครื่องบินไปกลับ Business Class สายการบิน EVA Air เส้นทาง กรุงเทพ - โตเกียว ใช้ไมล์จำนวน 50,000 ไมล์ หากคิดตามมูลค่า 55,000 บาท และหักค่าธรรมเนียมในการแลกตั๋วเครื่องบินประมาณ 7,000 บาท ดังนั้น 50,000 ไมล์ จะมีมูลค่าเทียบเท่า 48,000 บาท
หากใช้บัตรใบที่มีอัตรา 12.5 บาท/คะแนน 2 คะแนน/ไมล์สะสม หรือเท่ากับ 25 บาท/ไมล์สะสม ดังนั้น 50,000 ไมล์ เท่ากับต้องใช้จ่าย 1,250,000 บาท เพื่อแลกตั๋วเครื่องบินที่มีมูลค่า 48,000 บาท เท่ากับผลตอบแทนที่ 3.84% ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนของบัตรเครดิตแบบเงินคืนหรือแบบสะสมคะแนน
เมื่อเลือกแล้วว่าบัตรเครดิตกลุ่มไหนเหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้จ่าย ก็จะได้เลือกบัตรเครดิตมาใช้ได้อย่างเหมาะสม
💡 อย่าลืมเช็กค่าธรรมเนียม
บัตรเครดิตมักมีการคิดค่าธรรมเนียม 2 ประเภท คือ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งค่าธรรมเนียมก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของบัตรและผู้ออกบัตร หากไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมก็ให้เลือกเปิดบัตรเครดิตประเภทที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า บัตรเครดิตบางใบสามารถขอยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีเมื่อผู้ถือบัตรมีการใช้จ่ายครบตามเงื่อนไขที่กำหนด ลองเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมรายปีที่ต้องเสียกับสิทธิประโยชน์ของบัตรที่ได้รับว่าอยู่ในอัตราที่รับได้ คุ้มกว่าค่าธรรมเนียมที่เสียไปหรือไม่
โดยทั่วไปค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมมักจะสูงกว่าค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตทั่วไป แต่อาจจะคุ้มค่าหากเราได้ใช้สิทธิประโยชน์นั้น ๆ เช่น บริการรถรับส่งสนามบิน สิทธิในการเข้าใช้ห้องพักรับรองที่สนามบิน เป็นต้น
💡 ดูข้อจำกัดการใช้บัตร
บัตรเครดิตของบางธนาคารจะมีข้อยกเว้น ไม่ได้รับคะแนนสะสมหรือเครดิตเงินคืน เมื่อใช้จ่ายในประเทศที่กำหนด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงข้อยกเว้นของแต่ละบัตรเครดิตในบางหมวดสินค้าจะไม่ได้รับคะแนนสะสม เช่น ค่าประกัน ค่าสาธารณูปโภค หน่วยงานราชการ เป็นต้น นอกจากนี้บัตรเครดิตบางใบ ยังมีข้อจำกัดการให้คะแนนสูงสุด จำกัดยอดเงินคืนในแต่ละหมวดการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เราเสียผลประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย
โดยสรุปแล้ว แต่ละคนมีไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ดังนั้น ไม่มีบัตรเครดิตใบไหนดีที่สุด เลือกให้เหมาะกับตัวเอง ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ทุกด้านของเราให้มากที่สุด การเลือกบัตรเครดิตที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ จะทำให้เราได้รับสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตที่ตรงจุด และคุ้มค่าสำหรับทุกการใช้จ่าย
การมีบัตรเครดิตหลายใบ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด หากมีวินัยทางการเงิน หลังจากใช้บัตรเครดิตแล้ว ควรชำระให้ตรงเวลาและเต็มจำนวน เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียดอกเบี้ย เพราะหากชำระเพียงบางส่วนหรือชำระไม่ตรงตามกำหนดเวลา นอกจากจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงแล้ว ผู้ออกบัตรจะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่รูดใช้จ่าย หากใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวังและขาดการวางแผนการจัดการที่ดี อาจจะทำให้ยอดหนี้ถูกสะสมเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ และมีปัญหาทางการเงินตามมาในอนาคต
เป้าหมายชีวิตสำเร็จได้ด้วย นักวางแผนการเงิน CFP®
ติดตามข่าวสารสมาคมฯ ผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่
📌 LINE Official Account https://page.line.me/cfpthailand
📌 Spotify Podcast https://spoti.fi/45kkuIV
📌 Apple Podcast https://apple.co/3QwZ4UJ
โฆษณา