18 ก.ค. เวลา 11:44 • ธุรกิจ

ทำไมการ”ดูแล” ตอนซัลท์ จึงจำเป็น ?

ที่มาของโพสต์นี้ คือรุ่นน้องโทรมายืมเงิน
เพราะควักเนื้อดูแลคอยซัลท์ไปสองแสนกว่าบาท
จนเงินส่วนตัวที่ไว้ใช้จ่ายในบ้านใกล้หมด
ไปขอยืมเมีย แสดงความบริสุทธิ์ใจ เอาบิลไปให้ดู
ปรากฎว่าโดนเมียด่า เพราะมีค่าดื่มน้องๆเพียบ 555
เมียเลยเข้าใจว่าเพราะอยากเที่ยวเองด้วย งอน
1
…บ้านแทบแตก ไอ้คู่นี้เพิ่งอยู่ด้วยกันไม่นาน
เข้าใจว่าน่าจะเป็นงานแรกที่เมียเจอสภาพนี้….
คำถาม และมุมมองจากคนนอกวงการส่วนมาก
คือ มันจำเป็นแค่ไหน ที่จะต้องเลี้ยงคอนซัลท์
คนส่วนมากมองว่ามันไม่เห็นจำเป็นต้องจ่ายเรื่องพวกนี้
บางคนมองว่าเลี้ยงเพราะมีเจตนาซิกแซก ทุจริต ไปโน่น
โลกมันไม่สวยขนาดนั้นหรอกครับ…อย่าด่าถ้าไม่รู้
…สำหรับผมเอง เป็นทั้งคนไปเสนอ ดีลงานคอนซัลท์
และตัวเองก็เคยอยู่ในฐานะตอนซัลท์ ก็พูดได้เต็มปาก…
…มันจำเป็นต้องจ่ายครับ ถ้าจะเอางาน และไม่ใช่จ่ายกัน
ในเฉพาะกรณีต้องการสิทธิพิเศษ….
คอนซัลท์ หรือ ภาษาไทยเรียกเต็มๆว่า ที่ปรึกษาโครงการ
ภาษาเรียกสั้นๆในวงการคือ คอน
ผมจะเรียกในบทความตามนี้นะ
เรามักพบบุคคลกลุ่มนี้ ในงานขนาดใหญ่
ระดับ 30 ล้านขึ้นไป อาจมาคนเดียวหรือเป็นกลุ่มก็ได้
( เป็นกลุ่มคือมีหลายฝ่าย อันนี้ยิ่งจ่ายหนัก คุยมากรอบ)
ตามปกติแล้วเจ้าของเงินทำโครงการ
มักไม่ได้มีความรู้ทางเทคนิค ในระดับที่ละเอียด
ก็เลยต้องจ้างคนพวกนี้
ในการดูแลโครงการ รวมถึงคัดเลือกผู้ที่จะมารับงาน
มีทั้งในงานเอกชน และภาครัฐ ที่มีมูลค่าสูง
ซึ่งการดูแลคนกลุ่มนี้ สำหรับผู้เสนองาน
มันไม่ใช่การดูแล เพราะต้องการเอาใจหรือสิทธิพิเศษใดๆ
หรือเพื่อให้ตัวเองเหนือกว่าคนอื่นเสมอไป
อย่างที่มุมมอง ของบุคคลภายนอกเข้าใจ
แต่การดูแลนั้น ในสายตาคอน พวกเขามักมองว่า
มันแสดงถึงความพร้อมแค่ไหน ของบุคคลที่จะมารับผิดชอบ
ในโครงการของพวกเขาให้ตลอดรอดฝั่งได้
ในกรณีงาน 50-60 ล้าน การทำงานปกติแล้ว
ซอยงวดออกมา อย่างน้อยๆ คุณต้องมีสำรองในงวดที่ใหญ่
ที่สุดช่วงงานสถาปัตยกรรม ประมาณ 30 % ของมูลค่า
โครงการช่วงนั้น
ดังนั้น การที่คอนซัลท์จัดหนักเสมอ เวลาที่ต้องคุยงาน
ในมุมหนึ่ง มันคือการวัดความมั่นคงทางการเงิน
ของผู้เสนอตัวรับงานนั่นเอง
…มื้อละแสนจ่ายไม่ได้ แล้วเวลาทำงาน
ต้องจ่ายทีหลายล้าน มันก็ย่อมไม่ได้เช่นกัน…
…นี่คือตรรกะ ที่ตอนซัลท์เขามอง…
…และไม่ใช่เป็นแค่คอนซัลท์ไทยนะ
ฝั่งเอเชียนี่เป็นแบบนี้หมด หรือแม้แต่ฝรั่ง ก็เอาเหมือนกัน
เพราะทุกคนรู้ว่า ทุกบริษัท สมควรมีงบจัดเลี้ยงส่วนนี้….
…เรื่องน่าตลกคือ ยิ่งเป็นบริษัทเล็ก หรือทีมที่เสนองานในนาม
บุคคล หรือกลุ่มบุคคล ก็จะยิ่งโดนนัก เพราะคอนยิ่งต้องการพิสูจน์ความมั่นคง ในส่วนนี้นั่นเอง…
ถามว่า ก็แค่ข้ออ้างของคอน ที่อยากกินฟรีไหม
อันนี้คงต้องตอบว่า บางครั้งก็ใช่ บางครั้งก็ไม่ใช่
แต่ส่วนมากคือไม่ใช่
ไอ้ที่หลอกกินฟรีน่ะมี อันนี้ผู้เสนองานต้องมองเหลี่ยม
ให้ออก คงต้องอาศัยประสบการณ์แหละ
เราอาจบอกว่าในความเป็นจริงแล้ว
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเราคุยกันได้ทุกเรื่อง ผ่านโทรศัพท์
แต่ก็อย่างที่ผมบอก คอนเขาก็รู้ว่าคุยโทรศัพท์หรือ
กระทั่งประชุมออนไลน์ได้
แต่ที่เขาไม่ทำ โดยเฉพาะขั้นตอนของการคัดเลือกนั้น
เขามีวัตถุประสงค์อย่างที่ผมบอก
คือต้องการดูความมั่นคงทางการเงิน
ของผู้เสนองานเป็นหลัก
ส่วนการคุยโทรศัพท์นั้นทำกันเมื่อได้งานกันแล้วมากกว่า
ถึงตรงนั้น การดูแลจะน้อยลงมาก ต่างคนต่างทำหน้าที่
และการดูแลนั้น เป็นจิตวิทยาแบบหนึ่ง
เพื่อบังคับให้ ผู้เสนองานนั้น ไม่ทิ้งงานกลางคัน
ในกรณีที่ได้งานไปแล้ว
เพราะคงไม่มีใครต้องการจ่ายส่วนนี้ไปฟรีๆ
(งานใหญ่ๆ บางที ดูแลกันหลายล้านครับ)
เราลองนึกสภาพผู้รับเหมารายย่อยที่มีข่าวทิ้งงานบ่อยๆ
สิครับ ว่าทำไมเขากล้าทิ้ง
ก็เพราะเขาไม่ได้จ่ายอะไรแบบนี้ไง
เบิกงวดสองงวดหนีเลย เหมือนได้เงินฟรีๆ
ระบบดูแล มันสร้างข้อผูกมัดในลักษณะว่า
คุณจ่ายแล้ว ถ้างานไม่จบ คุณก็ไม่ได้ส่วนนี้คืน
มันค่อนข้างตัดปัญหาการทิ้งงานได้มากจริงๆ
มากกว่าข้อผูกมัดทางกฎหมายเสียอีก
เพราะในทางกฎหมายแล้ว การทิ้งงาน จะใหญ่ จะเล็ก
ก็ให้ผลเหมือนกัน การฟัองร้องกินเวลานาน จนหมุนเงิน
มาคืนได้ หรือรับสภาพหนี้ แล้วผ่อนชำระได้
คนเลยไม่ค่อยกลัวกัน
หากไม่ให้ผู้เสนองาน มีรายจ่ายที่ต้องได้คืนมาเลย
เป็นก้อนใหญ่ๆ ที่จะได้รับเมื่องานจบ
มันก็อาจทำให้เขากล้าทิ้งงานได้ในภายหลัง
…นี่คือเหตุผลทั้งหมด ว่าทำไม การดูแลตอนซัลท์จึงจำเป็น
ในสายงานก่อสร้าง ทั้งในส่วนสร้างตัวตึก รวมไปถึง
งานระบบไฟฟ้า ประปาต่างๆ ในโครงการใหญ่ๆทุกงาน….
การดูแลนั้น ส่วนมากก็คือการไปกินและดื่มนั่นแหละ
ซึ่งส่วนมาก คอนจะเป็นคนนัด และมักเลือกที่แพงๆ
ไม่จำเป็นต้องเป็นไปดื่มเหล้าอย่างเดียวนะ
ผมเองเคยเจอ เขานัดคุยที่ร้านอาหารญี่ปุ่น
ไม่มีเหล้าสักหยด แต่พวกกินแต่ของหรูราคาอลังการ
บิลออกมานี่แพงไม่ต่างกับสายกินเหล้า หรืออาจแพงกว่าด้วย
ถ้าให้ผมเลือกเจอ คอนสายดื่ม สายบ้าหญิง
กับคอนสายกินของดี ผมเลือกแบบแรกนะ มันมักถูกกว่า
เนื้อดีๆ โลละสองแสน มันแพงกว่าเหล้าขวดละหมื่น
ที่กินได้ตั้งหลายคนเยอะ
คิดง่ายๆแบบนี้แหละ ไอ้ไม่กินเหล้าเนี่ยตัวแสบ ขอบอก….
…แต่ไม่ว่าจะแบบไหน มื้อนึงก็หนักแหละ เตรียมใจได้เลย…
คนที่มักเจอปัญหาเลี้ยงคอนไม่ไหวแบบนี้มากที่สุด
มักเป็นคนที่กำลังจะขยับขยายกิจการ
จากงานระดับกลาง สู่งานที่มีมูลค่าสูงขึ้น
เขาอาจไม่มีประสบการณ์การดีลมาก่อน
เลยไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือประมาทว่าคงกินกันไม่มากทำให้สำรองเงินที่จะต้องสำรองจ่ายส่วนนี้ไว้ไม่มากพอ
ตามบริษัทใหญ่ๆ ส่วนนี้ ปีๆนึงตั้งงบหลายสิบ
หรือระดับร้อยล้านนะครับ
เหมา Blue Label หรือไวน์ดีๆ เป็นคอนเทนเนอร์
ผมก็เคยเห็นมาแล้ว ใครจะไปกับลูกค้า ไปเบิกเอา
แล้ววางใบเสร็จทีหลัง
แต่ตามปกติแล้วบริษัทก่อสร้างขนาดเล็กถึงกลาง
มักวางงบสำรองจ่ายส่วนนี้ไว้น้อย หรือบางครั้ง
ก็ไม่มีเลย เพราะเจ้าของคิดว่าจะรับผิดชอบเองไหว
แล้วค่อยไปบวกเอาในราคางาน
อย่างกรณีรุ่นน้องผมนี่ชัดเจนเลย
ปกติเขารับงานระดับไม่เกิน 20 ล้าน
แต่มันมีงานพูลวิลลางบ 60 ล้านเข้ามา เขามองเป็นโอกาสโต
ก็เลยกระโจนใส่ แบบขาดประสบการณ์
เขาคิดเพียงว่า ถ้าได้งาน เขามีสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำ
ที่จะใช้ไปขอทุนจากธนาคารได้ เพื่อนำมาดำเนินการ
คือมองแต่ที่ตัวเนื้องานโดยไม่ได้คิดถึงค่าใช้จ่ายส่วนนี้
จึงต้องควักเนื้อตัวเองมากจนเกินไป
แล้วเสียสภาพคล่องส่วนตัวจนมีปัญหา
ก็ถือเป็นบทเรียนสำหรับเขาไปครับ
ที่เขียนโพสต์นี้ขึ้นมา เพราะเห็นเขามีปัญหาในครอบครัว
และบางคนก็ไม่เข้าใจ จึงอยากชี้แจงแทน เพื่อนร่วมอาชีพ
ส่วนตัว ผมก็เคยมีปัญหาลักษณะนี้นะ
ก็เข้าใจแหละ ว่ามันสุดขนาดไหนในวงการนี้
…ซึ่งคนรอบตัวเขา สมควรอย่างยิ่ง ที่จะเข้าใจบ้าง…
…ถ้าบิลมันเป็นของจริง อ่ะนะ 555….
“เอาไงต่อดีวะพี่ ผมท้อแล้วว่ะ”
เขาถามผมแบบนั้น
…มาแล้วก็ต้องให้สุด อย่าเสียฟรี กูช่วยได้แค่นิดหน่อยนะ
ที่เหลือมึงต้องจัดการเอง มาขนาดนี้แล้ว รถเข้าลิสซิ่งได้
ก็ต้องทำแล้วล่ะ มันต้องวัด ถ้าอยากโต….
…ที่สำคัญ เคลียร์กับเมียให้รู้เรื่อง ถ้ามึงมีปัญหาทั้งในบ้าน
นอกบ้าน มึงตายแน่ ….
…ผมบอกเขาแบบนั้น ก่อนเขาวางสายไป …..
โฆษณา