19 ก.ค. เวลา 13:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ประกันสังคม กบข. กอช. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

มนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ ข้าราชการ...ใครมีสิทธิ์อะไรบ้าง?
เคยได้ยินหลากหลายชื่อพวกนี้แล้วงงหรือไม่ว่าแต่ละอย่างคืออะไร เรามีสิทธิ์ไหมนะ 🤨
วันนี้ #เด็กการเงิน ขอนำสิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้มาอธิบาย ให้ทุกคนได้รู้จัก แต่ต้องบอกก่อนว่าโพสต์นี้เป็นเพียงภาพ overview เท่านั้นให้เห็นในภาพรวม หลังจากนี้เราจะมีโพสต์เจาะลึกให้อีก
มาเริ่มทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันนะ
🙋ถ้าใครที่เป็นมนุษย์เงินเดือน แน่นอนว่าเราต้องรู้จักประกันสังคม มาตรา 33 กันอย่างเเน่นอน เพราะเราถูกหักจากเงินเดือนไป 5% สูงสุด 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเราจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และชราภาพ (เงินบำเหน็จ/บำนาญ)
🙋ถัดมาคือประกันสังคม มาตรา 39 ซึ่งผู้ที่จะอยู่ในมาตรานี้ได้ ต้องเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน
และต้องไม่เป็นผู้รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพอยู่
พูดง่ายๆ ว่าถ้าเราเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ก็ควรรู้มาตรา 39 ควบคู่ไว้ เผื่อเราออกจากงานหรือเกษียณตอนอายุ 55 หรือ 60 ปี เราะจะได้มีความคุ้มครองต่างๆ ต่อ โดยผู้ที่สมัครมาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินเดือนละ 432 บาท ซึ่งเราจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ (เงินบำเหน็จ/บำนาญ)
⏳ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ขึ้นกับนโยบายของแต่ละบริษัทว่าจะมีให้พนักงานหรือไม่ แต่ส่วนมากจะมีเพื่อเป็นเงินไว้ใช้หลังเกษียณ โดยพนักงานมีสิทธิ์เลือกว่าจะส่งเงินสะสมเท่าไรในช่วง 2%-15% หรือขึ้นอยู่กับที่บริษัทให้เลือก นอกจากนี้ยังมีเงินสมทบของบริษัทให้อีก และนำไปลงทุน หากเราทำงานครบตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด เงินสมทบของบริษัทก็จะเป็นของพนักงาน
ส่วนมากพนักงานบริษัทจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพควบคู่ไปกับประกันสังคม (จริงๆ ไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่มักมาคู่กัน พนักงานจะถูกหักเงินสองส่วนนี้ทุกเดือน)
ข้อควรรู้คือหากเราลาออกจากงานแล้ว เราสามารถเลือกคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมได้ ระหว่างรอย้ายงานใหม่ หรือหากยังขาดทุนอยู่ก็คงไว้ได้เช่นกัน แต่จะเสียค่าธรรมเนียมรายปี
🙋‍♂️สำหรับผู้ที่เป็นฟรีแลนซ์ มีอาชีพอิสระ หรือเป็นแรงงานนอกระบบ อายุ 15-65 ปี สามารถสมัครประกันสังคม มาตรา 40 ได้ แต่ในมาตรา 40 นี้เราจะได้เป็นเงินทดแทนในกรณีต่างๆ แทน
(ต่างจากสิทธิประโยชน์ของมาตรา 33 และ 39 เช่น กรณีเจ็บป่วย มาตรา 33 และ 39 จะได้รับสิทธิรักษาพยาบาล แต่มาตรา 40 จะได้รับเงินทดแทนในกรณีเจ็บป่วยแทน)
มาตรา 40 มี 3 ทางเลือกในการส่งเงิน และก็ได้เงินทดแทนในกรณีที่ต่างกันดังนี้
ทางเลือกที่ 1 ส่งเงินเดือนละ 70 บาท
ได้เงินทดแทน 3 กรณี ได้แก่
1) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
2) ทุพพลภาพ
3) เสียชีวิต
ทางเลือกที่ 2 ส่งเงินเดือนละ 100 บาท
ได้เงินทดแทน 4 กรณี ได้แก่
1) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
2) ทุพพลภาพ
3) เสียชีวิต
4) ชราภาพ (บำเหน็จ)
ทางเลือกที่ 3 ส่งเงินเดือนละ 300 บาท
ได้เงินทดแทน 5 กรณี ได้แก่
1) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
2) ทุพพลภาพ
3) เสียชีวิต
4) ชราภาพ (บำเหน็จ)
5) สงเคราะห์บุตร
ทั้งนี้มาตรา 40 ยังใช้สิทธิการรักษาพยาบาลแบบบัตรทองหรือเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลางได้ปกติ
🙋‍♀️ส่วนใครที่เป็นข้าราชการ ก็จะไม่ต้องส่งเงินประกันสังคม เนื่องจากมีสิทธิรักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ข้าราชการก็จะมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ กบข. ที่จะมีการหักเงินเข้ากองทุน 3%-15% ต่อเดือนเพื่อเป็นเงินยามเกษียณควบคู่ไปกับเงินบำเหน็จหรือบำนาญ (มองส่วนนี้เป็นเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานบริษัทเอกชน)
⏳ปิดท้ายที่กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ถูกตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมให้กับประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบหรือฟรีแลนซ์อายุ 15-60 ปีที่ไม่มีสวัสดิการบำนาญใดๆ ให้มีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ทั้งนี้ผู้ที่เป็นข้าราชการบำนาญอายุ 50-60 ปีก็สามารถสมัครได้เช่นกัน สำหรับรายละเอียดการส่งเงิน และจะได้เงินหลังเกษียณเท่าไรบ้าง รอติดตามโพสต์ถัดๆ ไปนะคร้าบบ 🙂
LINETODAY 👉https://today.line.me/th/v2/publisher/10240
โฆษณา