21 ก.ค. เวลา 01:00 • ยานยนต์

ตลาดรถยนต์ไทยหดตัวอย่างหนัก

"5 เดือนแรกของปี ตลาดรถยนต์ไทยหดตัวอย่างหนัก ttb analytics มองสาเหตุของการหดตัวมาจาก ‘ภาคอุปสงค์เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง’ (อีกแล้ว) ยอดขายรถยนต์ในไทยคงไม่สามารถกลับไปจุดเดิมที่เคยบูมได้ในเร็ว ๆ นี้"
ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะตลาดรถยนต์หดตัว จากบทวิเคราะห์ของ ttb analytic กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ 5 เดือนแรกของปี พ.ศ.2567 หดตัวถึง 23.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และมีแนวโน้มว่ายอดขายรถยนต์ทั้งปี 2567 จะหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 15 ปี โดย สาเหตุของการหดตัวว่ามาจาก ‘ภาคอุปสงค์กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ประกอบไปด้วย
1.ตลาดรถยนต์ในประเทศอิ่มตัว 2.การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค 3.โครงสร้างประชากรไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ 4.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง และ 5.หนี้ครัวเรือนสูงที่เพิ่มข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ โดยรายละเอียดแต่ละด้าน สรุปได้ดังนี้
1.ตลาดรถยนต์ในประเทศอิ่มตัว ปัจจุบันมีรถยนต์วิ่งบนท้องถนนทั่วไปประเทศเกือบ 20 ล้านคัน และเมื่อคิดเป็นสัดส่วนรถยนต์ต่อจำนวนประชากรจะอยู่ที่ 277 คัน ต่อประชากรไทย 1,000 คน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนามจะอยู่ที่ 50 คัน, ฟิลิปินส์ 38 คัน, อินโดนีเซีย 78 คัน ต่อประชากร 1,000 คน จะเห็นว่าตัวเลขของไทยสูงมาก
และเมื่อมองที่อายุการใช้งานรถยนต์ 1 คัน ‘คนไทยจะใช้เฉลี่ย 12 ปี’ ในขณะที่ประเทศอื่นจะใช้ประมาณ 6-8 ปี สถิติดังกล่าวสะท้อนว่าโอกาสที่คนไทยจะซื้อรถยนต์ใหม่เพื่อหมุนเวียนคันเก่าค่อนข้างต่ำ
2.พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป การบุกตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนทำให้ ‘มาตรฐานการตั้งราคารถใหม่ในตลาดมีแนวโน้มลดลง’ ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ในขณะที่บางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์ออกไปจนกว่าจะเจอราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ
ประกอบกับทัศนคติของคนยุคใหม่ที่หันมา ‘เช่า’ แทนการซื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตและลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะตามมา
3.โครงสร้างประชากรไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ สัดส่วนประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อรถยนต์ อายุ 25-49 มีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2553 กลุ่มนี้มีสัดส่วน 40% ของประชากรไทย แต่ในปี พ.ศ.2566 เหลือ 35.2% และในปี 2573 คาดว่าจะยังลดลงต่อเหลือเพียง 33.2% สวนทางกับตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายในการซื้อรถยนต์
4.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง ปัจจุบันการลงทุนโดยรวมในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ภาคการผลิตและส่งออกกำลังเผชิญปัญหาโครงสร้างที่รุนแรงขึ้น สินค้าราคาถูกจากจีนบุกตลาดกระทบความสามารถในการแข่งขังของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลงในระยะยาว ‘บั่นทอนการเติบโตของรายได้และกำลังซื้อของภาคครัวเรือน’
5. หนี้ครัวเรือนสูงที่เพิ่มข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ ณ ตอนนี้หนี้ครัวเรือนไทยสูงถึง 91.3% ของ GDP สูงเกินกว่าระดับเหมาะสมที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 80% ของ GDP ท่ามกลางความพยายามแก้หนี้ครัวเรือนที่สูงนั้นทำให้สถาบันทางการเงินมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น
[สถานการณ์ปัจจุบัน-อนาคต ของรถยนต์ EV ในไทยเป็นอย่างไรบ้าง]
ข้อมูลจากสถาบันยานยนต์ พบว่าไตรมาสแรกของปี 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสม 29,714 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 41.15%
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทั้งรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV&PHEV) จะมีส่วนแบ่งตลาดในไทยเพิ่มขึ้นไปสู่ 15%-31% ตามลำดับ และการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งการตลาดก็จะไปกดดันต่อปริมาณการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันในไทยเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2573 (6 ปีข้างหน้า) การผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในไทยจะเหลือส่วนแบ่งการผลิต 71% โดยสัดส่วนที่เหลือคือรถยนต์ไฟฟ้า
ฉะนั้นธุรกิจที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในประเทศไทยมากกว่า 350 ราย จะได้รับผลกระทบตามมาแน่นอน
โฆษณา