19 ก.ค. เวลา 03:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทิศทางการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนและการกำกับดูแลกิจการ

โดย ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ปัจจุบันนอกจากการแข่งขันกันทางธุรกิจแล้ว ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญและรับมือกับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งด้านสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และปัจจัยด้านความยั่งยืน (Sustainability หรือ ESG Risks) รวมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
ความเสี่ยงเหล่านี้ทำให้ภาคธุรกิจต้องมีการวางแผนรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ การบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย ให้เข้าใจถึงแผนธุรกิจและการดำเนินการในการมือความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
สำหรับภูมิทัศน์การจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนในระดับสากล หน่วยงานกำกับดูแลมีการออกกฎเกณฑ์และข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินการและการเปิดเผยข้อมูลของภาคธุรกิจตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนโดย International Sustainability Standards Board (ISSB)* ข้อบังคับว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD)** ของสหภาพยุโรป (European Union: EU)
รวมถึงกฎหมาย Corporate Sustainability Due Diligence Directive: CSDDD ที่กำหนดให้บริษัทมีการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจและเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
หากมองในมิติของบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ซึ่งในหลักการกำกับดูแลกิจการ (G20/OECD Principles of Corporate Governance 2023) ฉบับล่าสุดของ Organisation for Economic Cooperation and Development (OECD)*** กล่าวว่า
คณะกรรมการมีหน้าที่ในการจัดทำทบทวน ประเมินนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงด้านความยั่งยืน และมีหน้าที่กำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีกลไกการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพที่นำไปสู่ความน่าเชื่อถือของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน
บทบาทของคณะกรรมการ ในบทความ “Sustainability and ESG oversight: The corporate director’s guide” ของ PwC**** ยังกล่าวรวมถึง การทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมความพร้อมสำหรับการรวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเปิดเผย การดูแล Data gaps เพื่อรองรับการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น พลวัตของแรงงาน (Workforce dynamics) การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกิจกรรมของธุรกิจ (Incorporating new technologies)
การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของข้อกำหนดสำหรับการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับสากลที่มีจำนวนและความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งบางบริษัทอาจจะมีหลายข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติตามเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย (Compliance Risk) ตามมา เป็นต้น
ขณะที่บริบทของการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน อีกประเด็นที่มีการกล่าวถึงในระดับสากล คือ การรับรองข้อมูลด้านความยั่งยืน (Assurance) เพื่อให้ข้อมูลมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือและช่วยลดปัญหา greenwashing ได้
ซึ่งประเด็นนี้ได้ถูกเพิ่มใน G20/OECD Principles of Corporate Governance 2023 เช่นกัน โดย OECD ได้เสนอแนะให้หน่วยงานกำกับหรือองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย พิจารณาออกข้อกำหนดหรือแนวปฏิบัติที่ดีให้คณะกรรมการต้องมีความเข้าใจในนโยบายและกระบวนการการดำเนินการของบริษัทอย่างชัดเจน ตลอดจนกำกับดูแลให้มีระบบการควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อให้ข้อมูลที่เปิดเผยมีความถูกต้องและครบถ้วน
รวมทั้งการจัดให้มีการรับรองข้อมูลด้านความยั่งยืนโดยหน่วยงานรับรองภายนอก (External assurance) ซึ่งสามารถทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะแรกอาจเริ่มด้วยการกำหนดให้มีการรับรองข้อมูลเพียงบางประเภท เช่น ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในระยะยาวการรับรองข้อมูลความยั่งยืนควรเทียบเคียงได้กับแนวทางการรับรองรายงานทางการเงิน
การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีความถูกต้องครบถ้วนตามบริบทการดำเนินธุรกิจ และสามารถตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญได้นั้น ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเกิดความตระหนักและปรับตัว
โดยคำนึงถึงความสำคัญของการจัดให้มีโครงสร้างการกำกับดูแลที่เหมาะสม มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำองค์กร ขณะที่ฝ่ายจัดการและพนักงาน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าควรตระหนักถึงความเสี่ยงและโอกาสด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างความร่วมมือที่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง
ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนานโยบายเพื่อตลาดทุนที่ยั่งยืน เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของ บจ. ให้สอดรับกับทิศทางสากล ควบคู่ไปกับการออกมาตรการและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการในบริบทที่เน้นและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเช่นกัน
* เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของ International Financial Reporting Standards (IFRS) Foundation โดยสามารถอ่านรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
ในบทความ “IFRS มาตรฐานการรายงานข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ภาคธุรกิจในตลาดทุนควรรู้” ได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2566/250866.pdf
** มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 โดย CSRD จะเป็นข้อกำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่เผยแพร่รายงานการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
เพื่อประเมินผลประกอบการที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน
*** OECD (2023), G20/OECD Principles of Corporate Governance 2023 หรือสามารถอ่านเพิ่มเติมในบทความ G20/OECD Principles of Corporate
Governance 2023: กรอบการกำกับดูแลกิจการสากลที่เน้นความสำคัญของความยั่งยืน ได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2567/230567.pdf
**** Sustainability and ESG oversight: The corporate director’s guide, PwC
โฆษณา