19 ก.ค. เวลา 09:00 • ธุรกิจ

ไทยจะกลายเป็น Hub EV อันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 5 ของโลกได้จริงไหม?

หากเดินหน้าโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
นับตั้งแต่ปี 2019 -2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 506% ตั้งแต่นโยบายระดับภูมิภาค ไปจนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปัจจัยหนุนที่ทำให้ตลาด EV มาสู่จุดนี้ เกิดจากรัฐบาลหลายประเทศ มีเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าผ่านสิ่งจูงใจทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ
แนวโน้มยอดขาย EV ทั่วโลกในปี 2024
ABI Research คาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีการจำหน่าย EV 16.84 ล้านคันทั่วโลก เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) อย่างไรก็ตาม การเติบโตของยอดขาย EV ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการเติบโตของยอดขายที่เคยเพิ่มขึ้น 31% ในปี 2566 และในอัตรา 60% ในปี 2565 แต่ ”จีน” ยังคงเป็นแชมป์ผู้ครองตลาด EV ต่อไป โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของจีนจะเติบโต 23% ในปี 2567 แซงหน้าการเติบโตของยอดขายทั่วโลก
การวิเคราะห์ตลาดของ ABI Research ยังระบุอีกว่า การซื้อ EV สัดส่วน 2 ใน 3 ทั่วโลก จะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ รวมทั้งส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียแปซิฟิกจะมี 55% ของตลาดทั้งหมด ภายในปี 2573
ทั้งนี้ การที่เอเชียแปซิฟิก เป็นตลาด EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากการที่รัฐบาลจีนมุ่งเน้นอุตสาหกรรม EV ของจีน จนกลายเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุด จะเห็นว่าประเทศจีน เป็นที่ตั้งของผู้นำตลาด EV รายใหม่ ยกตัวอย่างเช่น BYD เป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ครองส่วนแบ่งตลาด EV ของประเทศถึง 35% โดยบริษัทที่ตั้งอยู่ในเซินเจิ้น ประเทศจีน มีข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุปทานอย่างมาก และมีศักยภาพเหนือกว่าคู่แข่ง ทำให้สามารถเสนอราคาที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคได้
ตลาดอีวีของไทย
ในส่วนประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) แม้จะยังเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยการผลิตรถยนต์ BEV ในปี 2567 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 3,048.48 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ซึ่งการเติบโตของการผลิตในไทย เป็นไปในทิศทางเดียวกับการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง สวนทางกับการจำหน่ายรถยนต์สันดาป
ทั้งนี้ จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสะสม ณ วันที่ 31 พ.ค. 67 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 219.28 เมื่อเทียบกับ 31 พ.ค. 66 สะท้อนถึงความพร้อมของไทยในการเปิดรับการใช้รถยนต์เทคโนโลยีใหม่ เช่นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะยังไม่มีผลมากในมิติของการส่งออก เนื่องจากอยู่ในระยะเริ่มต้นของการผลิต
แต่จากนโยบายส่งเสริมการผลิต EV “30@30” จะช่วยให้เกิดการผลิตและ การใช้ยานยนต์ EV เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการสร้างระบบนิเวศและสิ่งอำนวยความสะดวก เหมาะสม เพื่อรองรับการเติบโตของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าของไทยในอนาคต และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ และความพร้อมของไทยในภาพรวม
หัวใจสำคัญคือแบตเตอรี
การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีวีให้ไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่เพียงแค่ส่งเสริมการลงทุนผลิตรถอีวีในประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาความสมบูรณ์ของ Ecosystem ในซัพพลายเชน EV ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำด้วย โดยเฉพาะในชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของอีวี อย่าง “แบตเตอรี” ที่คิดเป็นต้นทุนสัดส่วน 40% ของการผลิต
โดยปัจจุบัน ไทยยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงงานแบตเตอรี ตลอดการสำรวจแหล่งแร่ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรีอย่างแร่ลิเธียมใน จ.พัทลุง หรือโซเดียมไอออนที่ใช้แร่ที่เป็นผลพลอยได้จากเหมืองโพแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งยังคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร
แต่มีอีกแนวทางหนึ่งที่ไทยจะสามารถสร้างความสมบูรณ์ของ Ecosystem ได้ นั่นคือ การพัฒนาโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี เพราะแบตเตอรีเป็นหัวใจสำคัญของอีวี ดังนั้น การนำแบตเตอรีกลับมาใช้ใหม่จะช่วยลด ต้นทุนการผลิตแบตเตอรีได้ถึงร้อยละ 70 ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ การรีไซเคิลแบตเตอรีและวัสดุที่ใช้อย่างเหมาะสม จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงช่วยเพิ่มอัตราอัตราการฟื้นตัวของแร่ธาตุในธรรมชาติ เนื่องจากการรีไซเคิลแบตเตอรี จะช่วยลดปริมาณการขุดใช้แร่ธาตุที่จำเป็น เช่น ลิเทียม โคบอลต์ และนิกเกิล นั่นจึงเป็นแรงจูงใจให้ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชั้นนำต่าง ๆ ของโลก หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ การรีไซเคิลแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
สอดคล้องกับมุมมองของ “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ยอมรับว่า การที่ไทยจะเป็นฮับ EV โลกนั้น จะต้องมีทุกอย่างให้ครบทั้งระบบ วงจร ซึ่งนั่นรวมไปถึงแบตเตอรีรถ EV ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนต้นน้ำ คือ การผลิตเซลล์แบตเตอรี และต้องมีการรีไซเคิลแบต แต่การรีไซเคิลต้องไม่กระทบกับสังคมและประชาชน
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้นำเสนอแนวคิดต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอให้เกิดการจัดตั้งศูนย์การจัดการแบตเตอรี ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC) โดยมอบให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนา เพื่อเป็นจุดดึงดูดการลงทุน
ซึ่งหากตรวจสอบข้อมูลจะพบว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัท ประกาศแผนการลงทุนโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรีในไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA ) ซึ่งมุ่งสร้างอีโคซิสเต็มของ EV ประกอบด้วย โรงงานผลิตแบตเตอรี, โรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้า, สถานีชาร์จ EV, การเดินรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ EA มีแผนตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรีบนนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค
โดยศึกษาถึงรูปแบบการรีไซเคิล 3 แนวทาง คือ 1.รูปแบบ Physical ที่เป็นการแยกชิ้นส่วนแบตเตอรี แล้วส่งต่อไปรีไซเคิลในต่างประเทศ แต่ติดปัญหาที่จีนห้ามนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ 2. รูปแบบ Chemical เป็นการแยกสารเคมีเพื่อส่งออกไปรีไซเคิลในต่างประเทศ ซึ่งจีนอนุญาตให้รีไซเคิลได้ และ 3. รูปแบบการแยกโลหะประกอบแบตเตอรี เช่น ลิเทียม นิกเกิลและโคบอลต์
ขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Total Environmental Solutions Company Limited (TES) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี ระหว่าง ปตท. โดยมีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) และ บริษัท โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ จำกัด (TES) ที่มุ่งแสวงหาโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีและศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรีในประเทศไทย
สนับสนุนการดำเนินธุรกิจแบตเตอรีครบวงจรในอนาคต พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีรีไซเคิล มาส่งเสริมธุรกิจด้านพลังงานสะอาดที่เกี่ยวข้องให้แก่กลุ่ม ปตท. เพราะมองว่าการลงทุนนี้ช่วยเสริมศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน แล้วยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย
เช่นเดียวกับ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด (VOLVO) ซึ่งเมื่อปี 2565 ทำสถิติยอดจำหน่ายรถในไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% (Pure Electric) ถึง 56% ที่เหลือเป็นรถยนต์ประเภทปลั๊กอินไฮบริด
ทางบริษัทฯ เตรียมลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิล และซ่อมแบตเตอรีรถยนต์ EV เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทั้งในไทยและเอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในครึ่งหลังของปี 2567 นี้ ทั้งนี้โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรีรถ EV ของวอลโว่ในไทย ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ของวอลโว่ทั่วโลกต่อจากสวีเดน จีน และสหรัฐอเมริกา
ตัวแม่มาเอง โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี
การลงทุนรีไซเคิลในโลกมีความคืบหน้าในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาด EV เบอร์ 1 นั้น ทางรัฐบาลจีนได้กำหนดนโยบาย ให้คำแนะนำในการแยกชิ้นส่วน และทดสอบกำลังไฟแบตเตอรี อย่างมีมาตรฐาน พร้อมผลักดันให้มีแพลตฟอร์มสำหรับติดตามวงจรชีวิตของแบตเตอรีภายในประเทศ รวมถึง ให้ผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกับบริษัทรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน
จีนมองว่าการวางระบบการรีไซเคิล จะช่วยให้จีนสามารถรักษาตำแหน่ง “ความเป็นผู้นำของโลกในตลาด EV”ได้ เพราะผู้ผลิตรถยนต์จะสามารถลดต้นทุนลงจากการรีไซเคิลแบตเตอรี ทั้งยังสามารถรักษาแหล่งทรัพยากรที่มั่นคงต่อไป เนื่องจากปัจจุบัน จีนต้องนำเข้าลิเทียมมากกว่าร้อยละ 50 และต้องนำเข้าโคบอลต์ และนิกเกิลมากกว่าร้อยละ 90
นอกจากนี้ การจัดระเบียบการรีไซเคิลแบตเตอรี จะช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์จีน ทำการตลาดรถยนต์ในต่างประเทศได้ดีขึ้น เนื่องจากสหภาพยุโรปได้กำหนดปริมาณขั้นต่ำของปริมาณแร่ในรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่าย ว่าจะต้องมีตะกั่ว ร้อยละ 85 โคบอลต์ ร้อยละ 16 ลิเทียม และนิกเกิลอย่างละร้อยละ 6 พร้อมทั้งต้องมีแบตเตอรีพาสปอร์ต และ คิวอาร์โค้ดภายในปี 2570 เพื่อให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้
แน่นอนว่า ผลจากการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรีของจีน ย่อมแผ่ขยายมาสู่ประเทศไทยด้วย เพราะปัจจุบันมีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนผลิตรถอีวีในไทยมากถึง 7 แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น
NETA, GWM, MG, Chery, Chanan, AION และน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดไลน์การผลิตอย่าง BYD ดังนั้น ไม่วายที่นโยบายจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และมีส่วนเสริมให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง ขยับขึ้นสู่การเป็น Hub EV ในภูมิภาคอาเซียน และในโลกได้ในไม่ช้า
โฆษณา