19 ก.ค. เวลา 07:00 • ธุรกิจ

เรื่องเล่าก่อน Success ของแบรนด์แจ่วฮ้อนกึ่งสำเร็จรูป ‘ยกซด’ หม้อไฟสไตล์อีสานที่โตไกลระดับโลก

ก่อนเข้าสู่เนื้อหาเชิงธุรกิจ เราอยากหยิบยกประสบการณ์ชีวิตส่วนหนึ่งของ คุณธนจักร เมืองจันทร์ หรือ คุณหนุ่ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยกซด 1988 จำกัด ผู้ช่ำชองในธุรกิจร้านอาหาร ก่อนผันตัวมาเป็นเจ้าของโรงงานผลิตสินค้าอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี ภายใต้แบรนด์ ‘ยกซด’
ด้วยแนวคิดที่ต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมหม้อไฟแบบอีสาน หรือ ‘แจ่วฮ้อน’ ให้คนทั่วไปได้รู้จักรสชาติแท้จริงของอาหารบ้านเกิดจังหวัดมหาสารคาม ที่มีความม่วน (สนุกสนาน) ความฮัก (รัก) และความคึดฮอด (คิดถึง) ผสมผสานเข้ากันได้อย่างลงตัว
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ เขาผ่านความล้มเหลว และฮึดสู้ เพื่อลุกขึ้นใหม่ บทความนี้ จึงอยากนำเสนอประสบการณ์การต่อสู้ ฝ่าฟันอุปสรรคอย่างไม่ย่อท้อ เป็นแง่คิดสำหรับคนที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ โดยไม่ท้อถอย และอดทน รอคอย จนถึงวันที่ประสบความสำเร็จ
‘ล้มแล้วต้องลุก ไม่ฮึดสู้ก็แพ้’
คุณธนจักร เล่าว่า ช่วงที่แย่ที่สุด คือการทำร้านอาหารในกรุงเทพฯ ที่ใกล้ปิดกิจการ โดยเป็นร้านขนาด 50 ตารางเมตร มีที่นั่ง 3 โต๊ะ และพนักงานเพียง 2 คน คือเขา และคุณป้าแม่ครัว จึงเริ่มด้วยการเป็นทั้งผู้จัดการและผู้ใช้แรงงาน ทำทุกอย่าง ตั้งแต่งานทั่วไปในร้าน ช่วยงานในครัว เสิร์ฟและส่งอาหารให้ลูกค้า ไปจนถึงเดินแจกใบปลิวให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่พักอาศัยในคอนโดมีเนียม ขนาด 800 ห้อง ที่ตั้งอยู่ละแวกใกล้เคียง
จากร้านที่เกือบจะต้องปิดตัว เขาใช้เวลาต่อสู้ ฝ่าฟันอุปสรรคอยู่ประมาณ 5 เดือน จึงเริ่มมองเห็นทิศทางไปต่อได้ จึงค่อย ๆ รับสมัครพนักงานเข้ามาช่วยงาน เพิ่มโต๊ะรองรับลูกค้าให้มากขึ้น เขาทำแบบนี้อยู่ 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใช้พลังงานแบบเกินขีดจำกัด จนร่างกายเริ่มส่งสัญญาณ
วันหนึ่งระหว่างออกไปส่งอาหารตามปกติ เขารู้สึกเหมือนขยับขาไม่ได้ จนล้มลง โชคดีมีคนช่วยนำส่งโรงพยาบาล หลังจากนั้นเดินไม่ได้ แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากข้อเข่าอักเสบ ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล และนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา 2 ปี ทำให้ร่างกายซูบผอม เงินเก็บก็หมดไปกับการรักษาตัว เงินใหม่ก็ไม่มีเพราะทำงานไม่ได้ ตอนนั้นแทบหมดแรงสู้
กระทั่งวันหนึ่ง เกิดความคิดว่า ไม่อยากนอนเป็นผักอยู่บนเตียงอีกต่อไป หรือร่างกายได้พักมาระยะหนึ่ง หรือจริง ๆ แล้วอยากจะหนีไปให้พ้น ๆ จากเตียงที่กำลังสูบเวลาชีวิตไปทีละน้อย เขาไม่แน่ใจในความคิดตัวเอง แต่ก็เกิดแรงฮึด ค่อย ๆ ขยับตัวลงจากเตียง โดยใช้ไม้ค้ำช่วยพยุง และตัดสินใจปลีกวิเวกไปอยู่เกาะ 3 เดือน
เพื่อสลัดตัวเองจากการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน มาเป็นการรักษาทางเลือก ทั้งการนวดเส้นและยาแผนโบราณ จนร่างกายเริ่มดีขึ้นทีละน้อย พร้อมยอมทำใจให้รับสภาพร่างกายที่เป็นอยู่ได้มากขึ้น
เขาลุกขึ้นยืนอีกครั้งแม้ร่างกายจะไม่เต็มร้อย เพื่อกลับมากรุงเทพฯ และเริ่มต้นเส้นทางธุรกิจที่เป็นของตนเองอีกครั้ง เริ่มจากทำร้านน้ำปั่น พอมีกำไรระยะหนึ่งก็ปล่อยขายต่อ ไปลงทุนร้านบะหมี่ ร้านราดหน้า และเมื่อมีกำไรก็ปล่อยขายต่ออีก ทำแบบนี้อยู่สักพักใหญ่ ๆ เพราะต้องการโตแบบก้าวกระโดด
จนมาถึงจุดหักเหอีกครั้งเมื่อตัดสินใจขายร้านทั้งหมดที่กรุงเทพฯ มาตั้ง ‘แจ่วฮ้อนยกซด’ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งใจว่าจะทำแบบเดิมคือทำร้านไประยะหนึ่ง เมื่อมีกำไรก็ขายเพื่อหาเงินก้อนมาสร้างธุรกิจส่วนตัว วางแผนว่าจะตั้งโรงงานผลิตอาหารในลักษณะน้ำซุปแจ่วฮ้อนเพื่อจำหน่าย
แต่คาดการณ์ผิด ด้วยทำเลในต่างจังหวัดไม่สามารถขายได้ราคาเหมือนในกรุงเทพฯ สุดท้ายต้องตัดใจขายร้านในราคาทุน หลังจากทำไปได้ 3 ปี ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ด้วยความเชื่อใจจึงไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายให้ชัดเจน จึงทำให้สูญเสียร้านไปฟรี ๆ โดยไม่ได้เงินสักบาท ตอนนั้นเขาเหลือแค่กระทะเพียง 2 ใบที่นำมาจากร้าน‘แจ่วฮ้อนยกซด’ ที่เขาเคยเป็นเจ้าของ
แต่ดูเหมือนไม่มีอุปสรรคใดจะหยุดเขาได้อีก คุณหนุ่มเริ่มต้นใหม่ด้วยกระทะ 2 ใบ ใช้พื้นที่ในโรงจอดรถดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตน้ำซุปขนาดกะทัดรัด มีแรงงานแค่ 2 คน คือตัวเขาเองและคุณป้าแม่ครัวคนเดิม เคี่ยวน้ำซุปแจ่วฮ้อนกันเอง แม้ตอนนั้นยังไม่เห็นภาพความสำเร็จใด ๆ แต่คุณหนุ่มเชื่อว่า หากอดทน รอคอย และมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ต้องทำ ความสำเร็จจะมาถึงในสักวัน
สร้างแบรนด์ ‘ยกซด’ แจ่วฮ้อนสไตล์อีสานของแทร่
ผมกับคุณปอย(แฟน) และป้าแม่ครัวคนเดิม พร้อมกระทะ 2 ใบ กับแนวคิดพัฒนาสินค้าในรูปแบบน้ำซุปแจ่วฮ้อนกึ่งสำเร็จรูปบรรจุซอง ส่งต่อรสชาติหม้อไฟสไตล์อีสานแท้ ๆ ซึ่งคนภาคอื่น อาจไม่คุ้นเคยนัก ถึงขนาดแยกความแตกต่างระหว่างแจ่วฮ้อนกับจิ้มจุ่มไม่ออก จนบางครั้งยังเข้าใจว่าเป็นชนิดเดียวกัน
คุณหนุ่มอธิบายว่า แจ่วฮ้อน เป็นหม้อไฟที่ใส่น้ำซุปผสมสมุนไพรพื้นบ้านและเครื่องเทศ อาทิ ตะไคร้ หอม กระเทียม ข่า พริกสด ต้มในน้ำจนเดือดจะได้ไอระเหยของน้ำซุปที่มีกลิ่นของสมุนไพร และเครื่องเทศ ก่อนจะเติมเนื้อสัตว์ ผัก ลงไป กินคู่กับน้ำจิ้มแจ่ว ส่วน จิ้มจุ่ม คือน้ำซุปกระดูกใส่รากผักชีและเครื่องปรุงรส ต้มหรือลวกผักและเนื้อสัตว์กินคู่กับน้ำจิ้ม
แนวคิดทำแจ่วฮ้อนในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูป บรรจุซอง คุณหนุ่ม มองว่า จะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ดีกว่าทำร้านอาหาร เริ่มจากการคิดค้น ทดลองสูตรอยู่ประมาณ 1 ปี ตลอดจนปรับปรุงข้อผิดพลาด และนำข้อเสนอแนะจากลูกค้ามาพัฒนาสินค้าต่อ จนได้รสชาติที่ดีที่สุด ก่อนทำเป็นแบบบรรจุซองวางจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ ‘ยกซด’
ต่อมาเมื่อปี 2563 ได้ Matching กับ แม็คโคร {บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)} โดยมีความเห็นตรงกันว่ากระแสหม้อร้อนแบบกึ่งสำเร็จรูปกำลังเป็นที่นิยมจากพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งแจ่วฮ้อนในลักษณะอาหารกึ่งสำเร็จรูปยังเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีในตลาด แม็คโครเลยให้โจทย์มาว่าอยากได้เป็น ‘พริกแกงแจ่วฮ้อน’ เพื่อวางจำหน่ายในแม็คโคร
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการนำวัฒนธรรมแจ่วฮ้อนหม้อไฟสไตล์อีสาน วางจำหน่ายในไฮเปอร์มาร์เก็ตครั้งแรกในประเทศไทย
***( Hypermarket คือ ธุรกิจร้านค้าปลีกที่ผสานระหว่างห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าด้วยกัน)
แตกไลน์สินค้า ขยายช่องทางจำหน่าย
หลังจากที่ ‘พริกแกงแจ่วฮ้อน’ แบรนด์ ‘ยกซด’ ออกวางจำหน่าย ยอดขายค่อย ๆ เติบโตขึ้น คุณหนุ่มตัดสินใจแตกไลน์สินค้าเพิ่มขึ้นอีก 3 รายการ คือ น้ำซุปแจ่วฮ้อนพร้อมน้ำจิ้ม น้ำซุปแจ่วฮ้อนเข้มข้น และแจ่วฮ้อนซุปก้อน
ภายหลังที่วางจำหน่ายสินค้าในแม็คโคร ก็เริ่มขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าไปร้านโมเดิร์นเทรด อาทิ โลตัส, บิ๊กซี, ซีเจ รวมทั้งการวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ ร้านค้าส่ง และร้านโชห่วยแบบดั้งเดิมอีกด้วย โดยในร้านสะดวกซื้อ สินค้าซุปก้อนแบรนด์ ‘ยกซด’ จะวางจำหน่ายในชั้นวางเดียวกับซุปก้อนเจ้าตลาด
ขณะที่ปัจจุบัน ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดเปลี่ยนไป แบรนด์ ‘ยกซด’ จึงพัฒนาสินค้าเพิ่มในกลุ่มซอส เช่น ซอสผัดกะเพรา ซอสผัดกระเทียมพริกไทย ซอสผัดไทย สูตรไม่ต้องใช้น้ำมัน โดยมีทั้งขนาดเล็กเหมาะกับการทำกับข้าวในครัวเรือน และขนาดใหญ่เหมาะสำหรับกลุ่มร้านอาหาร เพื่อออกวางจำหน่ายอีกด้วย
คุณหนุ่ม บอกว่า จากแนวคิดดั้งเดิมที่อยากให้คนรู้จักแจ่วฮ้อน ได้พัฒนามาเป็นกลุ่มสินค้าอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) ยังสามารถแตกไลน์สินค้าไปได้อีกหลากหลาย ภายใต้สินค้าแบรนด์ ยกซด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น ในอนาคตอันใกล้ วางแผนจะพัฒนากลุ่มสินค้าแบบพร้อมกิน (Ready to Eat) ที่ทำให้เข้าถึงพฤติกรรมการกินอาหารของคนเมืองสมัยนี้ด้วย รวมถึงตลาดต่างประเทศที่ให้ความสนใจในอาหารกลุ่มนี้
คุณหนุ่ม ยังบอกอีกว่า ดูรวม ๆ ตลาดนับว่าไปได้ดี แต่ก็มีหลายอย่างที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น ช่องทางการตลาดที่คิดไว้ว่าช่องทางนี้น่าจะมีกระแสการตอบรับที่ดี แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ก็ต้องย้อนกลับมาคิดใหม่เพื่อหาเหตุปัจจัยว่าทำไมถึงไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ เช่น เดิมมีสินค้าหลักที่ขายผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต แต่พอนำสินค้าอีก 3 รายการที่แตกไลน์มาใหม่ไปขายผ่านช่องทางเดียวกัน กลับไม่ได้ผลตามที่คาดหวังไว้
“เห็นได้ชัดว่าสินค้าที่เพิ่มเข้าไป อาจไม่เหมาะกับช่องทางการจำหน่ายลักษณะเดียวกัน สินค้าบางชนิดเหมาะกับช่องทางการจำหน่ายเฉพาะเพียงบางช่องทางเท่านั้น ไม่สามารถเหมารวมขายในช่องทางเดียวกันได้ทั้งหมด ดังนั้นการหาช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสมสำหรับสินค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ”
แตกต่าง เพื่อแข่งขันได้ในตลาดที่มีรายใหญ่
แจ่วฮ้อน ซุปก้อน ราคา 24 บาท คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คุณหนุ่ม ได้พัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างจากสินค้าอื่น ๆ ในตลาดโดยใช้กรรมวิธีเฉพาะ ด้วยการเคี่ยวน้ำซุปจากเครื่องแกงสมุนไพรจนเกิดกลิ่นและคุณสมบัติเฉพาะของน้ำซุปแจ่วฮ้อนสไตล์อีสานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งง่าย และหลากหลาย จะปรุงเป็นน้ำซุป ทำเมนูแจ่วฮ้อน หรือทำเป็นแกงอ่อมก็ได้ ซึ่งกรรมวิธีผลิตลักษณะนี้ทำให้ผู้ผลิตซุปก้อนรายใหญ่แม้จะทำได้ แต่หากต้องผลิตมาก ๆ
อาจจะผลิตได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุน ส่วนนี้จึงเป็นข้อดีที่ทำให้สินค้าเราแตกต่าง และแข่งขันในตลาดได้ แม้ตลาดนี้ส่วนแบ่งตลาดไม่มาก แต่เราพยายามหาช่องว่างเพื่อให้สินค้าแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่เดิม และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
กระนั้น ปัจจุบัน ตลาดสำหรับน้ำซุปแจ่วฮ้อน และซุปก้อนมีผู้เล่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมองว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ดี เพราะทำให้ตลาดขยายตัวมากขึ้น ผู้คนได้รู้จักแจ่วฮ้อนมากขึ้น ขณะที่การแตกไลน์ธุรกิจอาจจะต้องพิจารณาถึงการเติบโตของสินค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภค สิ่งสำคัญคือการพยายามพัฒนาช่องทางการจำหน่าย และการตอบโจทย์การบริโภคกลุ่มต่าง ๆ ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมถึงการแตกไลน์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหลักเพื่อจะสามารถจำหน่ายคู่กันได้ด้วย
ตลาดกลุ่มซอส และไอเดียแฟรนไชส์
คุณหนุ่ม บอกว่า สินค้าแรกคือเครื่องแกงแจ่วฮ้อน ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อวางจำหน่ายในร้านและซูเปอร์มาร์เก็ต ให้ผู้คนได้รู้จักแจ่วฮ้อน พอเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว จึงสร้างแบรนด์ ‘ยกซด’ ขึ้นมา
ซึ่งภายใต้แบรนด์นี้ ไม่ได้มีเฉพาะแจ่วฮ้อน แต่ยังรวมถึงสินค้าอื่น ๆ ด้วย อาทิ การเพิ่มไลน์สินค้าเพื่อตอบสนองให้สามารถขายคู่กับสินค้าหลักคือแจ่วฮ้อน อาทิ น้ำจิ้ม ซอสกะเพรา ซอสกระเทียม รวมถึงซอสแบบอื่น ๆ ที่ถูกปากคนไทย สินค้าเหล่านี้ จะช่วยต่อยอดและเพิ่มช่องทางรายได้ให้แก่ธุรกิจ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายขยายธุรกิจแนวคิดยกซดกระทะเหล็ก เป็นลักษณะแฟรนไชส์ร้านข้าวกะเพราที่อยากพัฒนาขึ้นเพื่อจำหน่ายสินค้ากลุ่มซอสที่แตกไลน์ขึ้นใหม่
ส่งต่อรสชาติแจ่วฮ้อนไปตลาดต่างแดน
สำหรับตลาดต่างประเทศ ล่าสุดได้คู่ค้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) ในเกาหลีใต้ กระบวนการผลิตจึงต้องพัฒนากระบวนการผลิต ให้ได้มาตรฐานตามที่เขากำหนด รวมถึงเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออกไปประเทศอื่น ๆ อีกด้วย ที่ผ่านมามีการนำสินค้าไปต่างประเทศลักษณะกองทัพมด
โดยมีตัวแทนที่นำสินค้าไปจำหน่ายแบบล็อตเล็ก ๆ รวมถึงได้เจรจากับผู้จัดจำหน่ายสินค้าในอเมริกาและยุโรป เพื่อนำสินค้าแบรนด์ยกซดไปจำหน่ายแบบล็อตใหญ่อีกด้วย ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามกฎระเบียบของประเทศปลายทาง ซึ่งนับเป็นการขยายช่องทางจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่า
ส่งเสริม เพิ่มรายได้เกษตรกร
สำหรับวัตุดิบสมุนไพรและเครื่องเทศที่ใช้ในโรงงานผลิตของแบรนด์ยกซด ได้รับซื้อตรงจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา คุณหนุ่ม ตั้งใจพัฒนาธุรกิจที่เติบโตพร้อมกับสร้างรายได้ให้เกษตรกร ปัจจุบันได้มีการขยายการรับซื้อวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของยอดขาย
โดยได้วางแผนปริมาณรับซื้อซึ่งคำนวณจากปริมาณวัตถุดิบก่อนจะเข้าไปพบปะพูดคุยความต้องการวัตถุดิบจากเกษตรกร เพื่อให้การรับซื้อและการผลิตมีความสอดคล้องกัน ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ในด้านการผลิตวัตถุดิบเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ต้องการผ่านความร่วมมือกับหัวหน้ากลุ่มเครือข่ายเกษตรในพื้นที่ เพื่อยกระดับสินค้าและให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามส่วนนี้ยังต้องพัฒนาและขยายผลไปเรื่อย ๆ ในอีกหลายพื้นที่
เน้นการตลาดเพื่อสร้าง Brand
คุณหนุ่ม มองว่า เป้าหมายหลักในช่วงเวลานี้ คือ สร้างแบรนด์ยกซดให้รับรู้เป็นวงกว้างมากขึ้น (Brand Awareness) ที่ผ่านมามีการทำการตลาดในช่องทางโซเชียลมีเดีย อาทิ TikTok, Facebook ในลักษณะแนะนำสินค้าภายใต้แบรนด์ยกซด รวมถึงให้ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ของแบรนด์
แต่อีกช่องทางการตลาดหนึ่งที่ตั้งใจจะพัฒนาขึ้นใหม่ในแพลตฟอร์ม TikTok โดยเน้นด้านการสอนปรุงอาหารด้วยเคล็ดลับในครัวที่ไม่ค่อยมีใครเปิดเผย พร้อมเทคนิคการนำผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ยกซด ไปปรุงให้ได้รสชาติถูกปากผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลจากแบรนด์ ตลอดจนสามารถนำไปพัฒนาเป็นอาชีพหรือปรับใช้ในร้านอาหารของตนเองได้ด้วย
สำหรับการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า นับเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มยอดขาย โดยปัจจุบันแบรนด์มีสินค้าหลักคือแจ่วฮ้อน และสินค้ารองที่เป็นกลุ่มซอส น้ำจิ้ม ขายคู่กัน ส่งเสริมกันได้ (Marketing Arm) แต่หัวใจสำคัญ อยู่ตรงที่ว่า เมื่อสินค้าเข้าตลาดแล้ว จะทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้จักเราและเลือกซื้อเรา และเมื่อนำไปใช้แล้วทำอย่างไรถึงจะให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าของเราซ้ำอีก
“เราคาดหวังว่าจะให้สินค้ายกซดเป็นสินค้าที่คนทั่วไปซื้อไว้ใช้ในครัวเรือน หรือทุกครั้งที่มีปาร์ตี้กันเราอยากให้สินค้าของเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เพราะอย่างที่ผมเล่าให้ฟังช่วงแรกว่า เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสินค้าเรา คือมีความม่วน (สนุกสนาน) นี่เป็นโจทย์ที่เราคิดว่าจำเป็นต้องใช้พรีเซนเตอร์ หรือการทำ Personal Brand”
ล่าสุดแบรนด์ยกซดได้ คุณลำไย ไหทองคำ ศิลปินที่มีความสนุก สดใส ร่าเริง ตรงกับแนวคิดแบรนด์มาเป็นพรีเซนเตอร์ รวมถึงกำลังพิจารณาเรื่องการโปรโมทสินค้าภายใต้แบรนด์ยกซดในช่วงเวลาทัวร์คอนเสิร์ตของคุณลำไย ในฐานะ Brand Ambassador อีกด้วย
Key Success สำหรับ SME การพัฒนาสินค้าโดยเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จำเป็นต้องเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า และค้นหาช่องว่างในตลาดสำหรับสินค้าให้เจอ สินค้าต้องแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่เดิมในตลาดเพื่อจุดยืน (Positioning) ของสินค้าที่ชัดเจน สำหรับสินค้าที่เป็นอาหาร รสชาติ และราคาที่ผู้บริโภคสามารถจ่ายได้ก็เป็นปัจจัยหลักที่ต้องคิดตั้งแต่ต้นด้วย ดังนั้นการพัฒนาสินค้าแต่ละรายการ จึงไม่ควรรีบร้อน แต่ต้องผ่านการคิด วิเคราะห์ อย่างมีแบบแผน แม้ตอนต้นเราอาจจะคิดใหญ่ แต่ตอนทำอาจเริ่มจากทำเล็ก ๆ ก่อนก็ได้
“สำหรับคนที่กำลังมองหาอาชีพใหม่ หรืออยากทำธุรกิจส่วนตัว จากบทเรียนสอนผมว่า อย่าเพิ่งทิ้งสิ่งที่เราชำนาญอยู่เดิม เพราะปัจจุบันนี้ การจะอยู่รอดในการทำธุรกิจเป็นเรื่องยาก บางครั้งต้องอดทน และรอคอย เพราะการเติบโตอาจไม่ได้เห็นผลในระยะเวลาสั้น ๆ อาจต้องถามตัวเองตั้งแต่วันแรกเลยว่า เราจะอดทนรอได้แค่ไหน เพื่อไปสู่เป้าหมายของตัวเอง” คุณหนุ่ม กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่:
โฆษณา