21 ก.ค. เวลา 05:45 • สุขภาพ

เจาะลึก “ปากกาลดน้ำหนัก” ได้ผลจริงหรือไม่? เผยกลไก-ข้อห้าม

หนึ่งในทางเลือกเพื่อการลดน้ำหนักที่หลายคนมองว่าง่ายและได้ผลกว่าการออกกำลังกาย คือ “ปากกาลดน้ำหนัก” แพทย์เผยข้อเท็จจริงว่าช่วยได้จริงหรือไม่? กลไกและข้อห้ามต้องหยุดอ่าน!
ความอ้วน นอกจากเป็นต้นตอของโรคเรื้อรังบางชนิดแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ลดทอนความมั่นใจของสาวๆ หนุ่ม ๆที่ต้องการมีสุขภาพ บุคลิกภาพที่ดี จึงเป็นเหตุพยายามหาวิธีการต่าง ๆ เช่น เข้าคอร์สลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน ฉีดยาสลายไขมันส่วนเกิน ดูดไขมัน ผ่าตัดลดขนาดพุงและรอบเอว ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ รวมไปถึงการใช้ยาลดน้ำหนักชนิดต่างๆ เช่น ยากดการหิวที่สมอง ยายับยั้งเอนไซม์ย่อยไขมัน เป็นต้น อีกหนึ่งทางเลือก คือ ปากกาลดน้ำหนัก วันนี้เราจะมาไขคำตอบกันว่า ปากกาลดน้ำหนัก สามารถช่วยได้จริงๆ หรือไม่?
ปากกาลดน้ำหนัก
ปากกาลดน้ำหนักคืออะไร?
คงไม่มีใครคิดว่า นักข่าวคนหนึ่งที่ทำรายการเกี่ยวกับกิ้งก่ายักษ์ Gila monster ซึ่งเป็นกิ้งก่าพื้นเมืองในอเมริกาตอนใต้และสามารถพบได้ตามทะเลทรายในหลายประเทศ จะถูกกัดจนมีภาวะตับอักเสบ คลื่นไส้อาเจียน กินข้าวไม่ลง นำไปสู่การค้นพบว่า น้ำลายกิ้งก่ามีสาร Exendin-4 ที่มีสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับ human GLP-1 หรือกลุ่มฮอร์โมนในทางเดินอาหารที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
ในช่วงแรกจึงพัฒนาออกมาในรูปของยาสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งมีความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยที่ไม่ทำให้น้ำตาลตกหรือวูบ สามารถลดน้ำตาลสะสมหรือ HbA1C ได้ ในผู้ที่ชอบกินหวานบ่อย และทำให้น้ำหนักของผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะอ้วนลดลงได้ อย่างน้อย 10%
และในปี ค.ศ.2014 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้รับรองยาตัวใหม่ที่ชื่อ liraglutide ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังโดยฉีดวันละครั้ง ไว้ใช้สำหรับลดน้ำหนักควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย จากข้อมูลของการศึกษาทางคลินิกพบว่าการรักษาด้วย liraglutide 3.0 มก. สามารถลดน้ำหนักตัวในผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./ตร.ม. (obesity) ได้ทั้งในรายที่เป็นเบาหวานและไม่เป็นเบาหวาน
และในผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 27 กก./ตร.ม. (overweight) ร่วมกับมีโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดผิดปกติ เป็นต้น หลังจากที่ได้รับยา 20 สัปดาห์ โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่พบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับยากินอาหารได้น้อยลง โดยไม่ส่งผลกดการทำงานของสมองหรือทำให้ติดยาแต่อย่างใด
ยาในปากกาลดน้ำหนัก
ยา liraglutide ถูกพัฒนาออกมาในรูปของปากกาพร้อมเข็มขนาดเล็กมาก ไว้ฉีดที่ท้อง ต้นขาหรือต้นแขนของคนไข้ เพื่อใช้ลดน้ำหนักในระยะยาว จากการทดลองเทียบกับยาหลอก ในอาสาสมัคร 3,731 คน ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน และมีดัชนีมวลกาย มากกว่า 30 กก./ตร.ม. (obesity) และในผู้ที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 27 กก./ตร.ม. (overweight) ร่วมกับมีโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดผิดปกติ
หลังเสร็จสิ้นการทดลอง 56 สัปดาห์พบว่า น้ำหนักผู้ทดลองที่ได้รับยา ลดลงมากกว่า 10% หรืออย่างน้อย 5%ในช่วง 2 เดือนแรก อีกทั้งยังทำให้รอบเอวของผู้ทดลองลดลง 8.2 เซนติเมตร และหลังจากหยุดการใช้ยาพบว่ายามีผลทำให้น้ำหนักกลับมาเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1.9% เท่านั้น
กลไกการออกฤทธิ์ของยา
ยาชนิดนี้มีความคล้ายกับฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ในร่างกาย หลังจากยาเข้าสู่กระแสเลือด
  • ส่งสัญญาณลดความอยากอาหารไปที่สมอง ทำให้หิวน้อยลง
  • ลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ช่วยให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานขึ้น จึงทานอาหารได้น้อยลง
  • กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินมาช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด โดยไม่ทำให้น้ำตาลตกหรือวูบ เพราะยาจะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อเรากินอาหารเข้าไปแล้วเท่านั้น
อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ้าง
คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูก แต่อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน และผู้ใช้ยาจะสามารถปรับตัวกับยาได้เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์
ข้อห้ามปากกาลดน้ำหนัก
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์ โรคไทรอยด์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด
  • ผู้ที่เป็นโรคตับหรือไต
ทั้งนี้ปากกาลดน้ำหนักเป็นเพียงแค่แนวทางหนึ่งในการช่วยลดน้ำหนัก เหนือสิ่งอื่นใด คือ การควบคุมอาหาร รับประทานแต่ของที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก ไม่เครียด จะช่วยส่งเสริมให้เป้าหมายของการลดน้ำหนักให้สำเร็จไวขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV บันเทิง : https://www.facebook.com/PPTVHD36Entertainment
โฆษณา