19 ก.ค. 2024 เวลา 09:17 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

This gelatinous meat blob could one day replace beef

สักวันหนึ่งเนื้อเจลาตินสามารถจะมาทดแทนเนื้อวัว
คุณจะรับ เนื้อไฮโดรเจล ชนิดกึ่งสุกกึ่งดิบหรือแบบสุก เพราะเหตุใด
ความก้าวหน้าครั้งใหม่ของเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ สัญญาว่า จะเพิ่มรสชาติของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยง ให้รสชาติมีความใกล้เคียงกับเนื้อจริงจากสัตว์มากขึ้น
นักวิจัยได้พัฒนา 'โครงค้ำเซลล์ชีวภาพที่เปลี่ยนรสชาติได้' ซึ่งสามารถจะปล่อยสารปรุงแต่งรสเนื้อที่อุณหภูมิของการปรุงอาหาร
ฮอง Jinkee Hong ศาสตราจารย์ ผู้ร่วมในงานวิจัยนี้ ได้ตีพิมพ์ในวารสาร เนเชอร์ คอมมูนิเคชันส์ Nature Communications ได้เน้นถึงความสำคัญของนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อ โดยได้กล่าวกับวารสาร บีบีซี ไซเอนซ์ โฟกัส BBC Science Focus ว่า "นักวิจัยหลายคน กำลังทำวิจัยเพื่อพัฒนาโครงค้ำเซลล์ชีวภาพแบบต่างๆ ที่สามารถนำเซลล์ปศุสัตว์ มาทำเป็นโครงสร้างเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง เพื่อจะให้เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมีลักษณะเป็น 3 มิติเหมือนกับเนื้อจริง "
จนถึงขณะนี้ ฮอง ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามในการทำวิจัยพัฒนา มักจะมุ่งเน้นไปที่สิ่งจำเป็นทางชีวภาพเพื่อเพาะเลี้ยงให้ได้เป็นเนื้อสัตว์ แต่นักวิจัย ได้ละเลยสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ เช่น รสชาติ เนื้อสัมผัส “เนื่องจากเนื้อเยื่อเพาะเลี้ยงที่เสร็จสมบูรณ์แบบ ควรจะเป็นอาหาร
เราจึงเชื่อว่า ควรจะมีการวิจัยหรือพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อจะควบคุมคุณสมบัติของเนื้อเยื่อที่เพาะเลี้ยงขึ้นมา โดยการประเมินทางประสาทสัมผัสของอาหาร โดยใช้ประสาทสัมผัสของมนุษย์ในการสัมผัสกับอาหาร เช่น การชิม ดูด้วยตา การดมกลิ่น และสัมผัสด้วยมือ”
โครงค้ำเซลล์ชีวภาพแบบใหม่ที่นำมาใช้กับเนื้อเยื่อเพาะเลี้ยง จะทำจากเจลาติน และใส่สารแต่งกลิ่น ซึ่งจะสลายตัวเมื่อถูกความร้อน และจะปล่อยรสชาติของเนื้อออกมา ในลักษณะเดียวกับการปรุงเนื้อสัตว์ทั่วไป
จากการวิเคราะห์ทางเคมี และการทดสอบด้วยจมูกอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีโนส e-nose ผลพบว่า รูปแบบรสชาติใหม่ของเนื้อเพาะเลี้ยง มีความคล้ายคลึงกับเนื้อย่างมาก
ลี Milae Lee หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวกับ บีบีซี ไซเอนซ์ โฟกัส ว่า “แน่นอนว่า มันไม่ได้เหมือนกับเนื้อสัตว์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีรสชาติ และเนื้อสัมผัสแบบเนื้อสัตว์”
“แต่เราเชื่อว่า เราสามารถทำได้ใกล้เคียงกว่านี้ในอนาคต โดยการพัฒนาโครงค้ำเซลล์ชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เหมือนกับเนื้อจริงมากขึ้น” ลี กล่าวเสริม
เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยง ถือว่าเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับโปรตีนจากสัตว์ทั่วไป หากนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างเนื้อสัตว์เทียมได้เหมือนเนื้อสัตว์จริง ฮอง กล่าวว่า จะเป็นการนำเสนออาหารที่พวกเขาชอบ แก่ผู้บริโภค โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และลดการฆ่าสัตว์
นอกจากนี้ ยังสามารถจะออกแบบเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ ให้ได้ตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค อาจทำให้เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ เป็นทางเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพในอนาคต
“เนื่องจากเนื้อที่เพาะเลี้ยง สามารถเพาะเลี้ยงได้ในห้องปฏิบัติการ คุณสมบัติและคุณลักษณะทั้งหมดของเนื้อสัตว์จึงสามารถออกแบบได้ตามความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น หากผู้บริโภคต้องการให้เนื้อสัตว์มีโปรตีนสูงแต่ไม่มีไขมัน เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยง สามารถออกแบบให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ได้” ลี กล่าว
แม้จะมีความก้าวหน้าเหล่านี้ แต่นักวิจัย ก็ตระหนักดีถึงข้อจำกัดในปัจจุบัน และความจำเป็นในการที่จะต้องทำวิจัยเพิ่มเติม
“มีนักวิจัยจำนวนมาก ที่กำลังวิจัยพัฒนาโครงสร้างของเนื้อเพาะเลี้ยง แต่ก็ยังอีกยาวไกลในการบรรลุเป้าหมายการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ ที่จะเลียนแบบเนื้อสัตว์ทั่วไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์” ฮอง กล่าว
ลี เสริมว่า การผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ยังมีต้นทุนสูงอยู่ จำเป็นต้องขยายการผลิตให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อให้เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมีความคุ้มค่ากับการผลิต และสามารถจะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้น จึงยังคงต้องใช้เวลาอีกนานในการวิจัยและพัฒนา กว่าจะได้เห็นเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง บนชั้นวางซุปเปอร์มาร์เก็ต
อย่างไรก็ตาม ทีมงานยังคงมองในแง่ดีว่า วันหนึ่งข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์จะทำให้เนื้อเพาะเลี้ยง เหมือนกับเนื้อจริงได้ “เราเชื่อว่า เราสามารถมีส่วนสำคัญ ในการพัฒนาเนื้อเพาะเลี้ยง ซึ่งในที่สุดจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก” ลี กล่าว
ผู้เขียน : Tom Howarth
แปลไทยโดย : Wichai Purisa (senior scientist)
โฆษณา