21 ก.ค. 2024 เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

หนุนพลังงานสะอาดดึงดูดนักลงทุนใน EEC ก้าวสู่ Net Zero ในปี 2065

EEC รวมพลังภาคี ภาครัฐ-เอกชน สนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสร้างโครงข่ายจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาด ในพื้นที่ EEC เสริมแรงจูงใจนักลงทุนเพื่อการพัฒนายั่งยืน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ลงนาม MOU โครงการศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับผู้ประกอบกิจการในเขต EEC ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนและสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ EEC
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ EEC กล่าวว่า การลงนามฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนที่จะร่วมกันศึกษาแนวทางสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับพื้นที่ EEC ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ โดยจะศึกษาและพิจารณาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เช่น ระเบียบการขออนุญาตการตั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้า การขอใช้ที่ดินในการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการศึกษาถึงต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า การประเมินต้นทุนและผลประโยชน์เชิงสังคม เพื่อเป็นต้นแบบให้เกิดการคำนวนต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในพื้นที่อื่น ๆ เป็นต้น
เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้กับพื้นที่ EEC สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด ผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม รองรับให้เกิดการลงทุนนวัตกรรมใหม่ สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาในภาพรวมให้ก้าวสู่พื้นที่ Net Zero Carbon Emission ภายในปี 2065 สร้างการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชุมชนและพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่ EEC ต่อไป.....นายจุฬากล่าว
นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบในการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด เพื่อรองรับและดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น กฟภ.จึงดำเนินการต่าง ๆ เพื่อสอดรับ ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายไฟฟ้าให้รองรับแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด การร่วมขับเคลื่อนนโนบายการให้บริการไฟฟ้าสีเขียว
หนุนให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมการให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม รองรับนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าแบบเสรี เพื่อทำให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้โดยตรง
นายฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
นายฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมในการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งจากกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้า Cogeneration และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฟฟ้าสะอาดในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะใน EEC ปัจจัยหลักที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดจะต้องเปิดเสรีสำหรับการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าอย่างเสรีได้
นอกจากนี้ยังเพิ่มทางเลือกให้ผู้ซื้อไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม และราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
การศึกษาครั้งนี้ในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่มีความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาด จะช่วยให้การพัฒนาในเรื่องนี้ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อประเทศ.....นายฮาราลด์ ลิงค์กล่าว
นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย
นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) กล่าวว่า ในอนาคตพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นพลังงานหลักของระบบพลังงานโลก จะมีบทบาทที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การสร้างงานที่มั่นคง และยั่งยืน และเป็นการสร้างโลกที่สะอาดและมีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง ขณะที่เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนยังคงมีการพัฒนา และก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
การสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นและความเข้าใจของประชาชนถึงข้อดีข้อเสียของพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน และเพิ่มเสถียรภาพขึ้นมาได้เทียบเท่าหรือมากกว่าพลังงานจากฟอสซิล ทั้งนี้หมายถึงโอกาสในการลงทุนใหม่หลายล้านบาท.....นายวีระเดชกล่าว
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงกดดันให้ใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก จากมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งไทยยังมีความล่าช้าในการปรับตัวต่อสถานการณ์นี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
มูลนิธิฯ กังวลว่าหากสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป ประเทศไทยอาจสูญเสียความน่าสนใจในฐานะแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งมูลนิธิฯ และประเทศชาติต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน.....นายสุวิทย์กล่าว
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา