19 ก.ค. 2024 เวลา 13:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จะแก้ปัญหาวิกฤตเงินกีบได้อย่างไร

ข่าวที่ดังมากที่เกี่ยวกับประเทศลาวในตอนนี้คือ การเกิดขึ้นของแคมเปญแบนเงินบาทและเงินดอลลาร์
ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์อะไรทำให้เกิดแคมเปญนี้ขึ้น หากบอกว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจลาวกำลังตกต่ำอย่างมาก ก็ไม่น่าจะใช่ เนื่องจากเศรษฐกิจลาวไม่ใช่เพิ่งตกต่ำ แต่เริ่มตกต่ำมาตั้งแต่หลังโควิดแล้ว และค่าเงินกีบที่อ่อนลง ก็ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มอ่อน แต่อ่อนอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว
ณ วันที่เขียนอยู่นี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบแลกเงินบาทเป็นทางการอยู่ที่ 610 กีบต่อบาท ย้อนหลังไป 1 ปี คือ 18 ก.ค. 2023 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 560 กีบต่อบาท ย้อนหลังไป 2 ปี ณ เดือนเดียวกันในปี 2022 อยู่ที่ 410 กีบต่อบาท และหากย้อนหลังไป 3 ปี ณ วันที่ 18 ก.ค. 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าเงินกีบยังนิ่งอยู่ก่อนที่จะเริ่มวิกฤตทางการเงินในช่วงปลายปี 2021 ในวันนั้น ค่าเงินกีบอยู่ที่ 280 กีบต่อบาท ซึ่งหมายความว่า 3 ปีผ่านไป เงินกีบอ่อนค่าลงมากถึง 120%
คำถามคือ ในความเป็นจริง ค่าเงินกีบอ่อนตัวมานานต่อเนื่องถึง 3 ปีแล้ว และช่วงที่อ่อนค่ามากที่สุดไม่ใช่ปัจจุบันแต่เป็นช่วงระหว่างปี 2021 – 2022 และ 2022 – 2023 ซึ่งอ่อนค่ามากถึง 46% และ 37% ตามลำดับ ในขณะช่วงตั้งแต่กลางปีก่อนถึงขณะนี้ ถ้าอ้างอิงจากอัตราทางการก็อ่อนค่าลงเพียง 10% แล้วทำไมจึงเพิ่งมาเกิดเรื่องในตอนนี้
เท่าที่เช็คข่าวดู ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจของลาวที่เริ่มกระทบทางอารมณ์ของผู้คนและข้ามมากระทบกับไทยดูเหมือนจะเริ่มที่เหตุการณ์ปลดผู้ว่าแบงค์ชาติ นายบุญเหลือ สินไซวอละวง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ซึ่งถูกปลดด้วยสาเหตุใด ยังไม่สามารถหาได้สาเหตุได้อย่างแน่ชัด และยังไม่ชัดเจนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การจุดกระแส #SaveLaoKip ได้อย่างไร หรือจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ แต่เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังการปลดผู้ว่าแบงค์ชาติ ผมจึงตั้งขอสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะเกี่ยวกันบ้าง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
สาเหตุที่ตั้งข้อสันนิษฐานไปอย่างนั้นเพราะมีข่าวหนึ่งที่เป็นตัวเชื่อม ข่าวดังกล่าวคือ การอ่อนค่าของค่าเงินกีบในตลาดมืดโดยข้อมูลจากหลายแหล่งให้ข้อมูลตรงกันว่า แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการจะอยู่ที่ 610 กีบต่อบาท แต่หากไปแลกเปลี่ยนในตลาดมืด ค่ากีบอ่อนลงไปถึง 7xx – 9xx กีบ กล่าวคือเมื่อนำบาทไปแลกกีบ จะได้ 7xx กีบ แต่เมื่อนำมาแลกบาทกลับคืน จะต้องใช้ถึง 9xx กีบ
นอกจากนี้ ยังบอกด้วยว่า หากนำบาทไปแลกกีบในธนาคาร จะได้ 610 กีบตามเรททางการ แต่พอนำกีบไปแลกบาท กลับพบว่าธนาคารมีแลกให้อย่างจำกัด
ด้วยข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ผมจึงใช้เป็นข้อสันนิษฐานว่า สถานการณ์ดังกล่าวนี้เองที่นำไปสู่แคมเปญ #SaveLaoKip และลุกลามไปสู่การประกาศแบนเงินบาทของร้านค้าบางแห่งตามที่ปรากฎในโลกโซเชียล
คำถามคือ 1. ทำไมค่าเงินกีบของลาวจึงอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และ 2. ทำไมไม่สามารถนำไปแลกเงินต่างประเทศในระบบธนาคารปกติได้
ผมคิดว่า คำตอบของคำถามที่ 2 นำไปสู่คำตอบของคำถามที่ 1
ถ้าวิเคราะห์จากข้อมูลตามข่าว ซึ่งระบุว่าลาวมีภาระที่ต้องส่งคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยสำหรับหนี้ต่างประเทศเดือนละ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ลาวมีเงินสำรองระหว่างประเทศในปัจจุบันเพียง 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ลาวจำเป็นต้องขอเลื่อนชำระหนี้มาแล้วถึงสองครั้ง และก็คงต้องขอเลื่อนต่อไปจนกว่าจะหาช่องทางให้เงินไหลเข้ามากกว่าเงินไหลออกได้ ซึ่งตัวเลขนี้จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามเวลา
แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ลาวขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก และผมเดาว่าคงเป็นที่มาของการที่ธนาคารพาณิชย์ (ซึ่งก็คือ outlet ของธนาคารกลาง) ไม่มีเงินตราต่างประเทศให้แลก
เนื่องจากสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ค่าเงินสกุลใดก็ตามในโลกนี้ ไม่เว้นแต่ค่าเงินของประเทศมหาอำนาจจะยังคงดำรงอยู่ได้ ก็คือ ความเชื่อมั่น โดยความเชื่อมั่นดังกล่าวก็คือ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เค้าถือเงินสกุลนั้นไปหาธนาคารกลางแล้วขอแลกเป็นสินทรัพย์ที่สัญญากันไว้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเข้ามาตอนไหน และไม่ว่าจะขอแลกด้วยจำนวนเท่าไร เมื่อนั้น ความเชื่อมั่นในเงินสกุลนั้นจะมี แต่เมื่อใดก็ตาม ถ้าไม่สามารถทำได้ตามที่สัญญาไว้ ความเชื่อมั่นจะหายไปในทันทีเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์ที่คนไม่สามารถนำกีบไปแลกเป็นบาทหรือดอลลาร์จากธนาคารพาณิชย์ได้ในจำนวนที่ต้องการจึงนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นในสกุลเงินกีบในทันที
เมื่อไม่สามารถแลกที่ธนาคารได้ ก็ต้องหาแลกที่อื่น แน่นอนว่า คนที่ถือบาทไว้ในมือ เมื่อมีคนเอากีบมาขอแลก ก็ต้องกังวลเป็นปกติว่า เมื่อได้กีบมาแล้ว ตนจะเอาไปแลกกลับเป็นบาทได้หรือไม่ และถ้าได้ จะได้เหมือนที่ทางการประกาศไว้หรือไม่ ซึ่งคำตอบเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า ไม่ได้
เพื่อป้องกันความเสี่ยง คนที่มีบาทอยู่ในมือจึงต้องขออัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น คือแทนที่จะรับแลก 1 บาทกับ 610 กีบ ก็ต้องขอจำนวนกีบเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเอง เช่น 900 กีบ และในทางกลับกัน เนื่องจากไม่มีใครอยากถือกีบอยู่ในมือนาน ก็เสนอขายกีบในราคาที่ถูกกว่าอัตราที่ทางการกำหนด เช่น 700 กีบ แล้วเหลือ 200 กีบไว้เป็นมาร์จิ้น ซึ่งผสมกันอยู่ระหว่าง ต้นทุนเงิน ต้นทุนแรงงาน และค่าความเสี่ยง โดยอัตราซื้อ อัตราขาย และมาร์จิ้นจะเป็นเท่าไรนั้น ถูกกำหนดโดยกลไกตลาดและขาใหญ่ (ถ้ามี)
ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภค ประชาชนทั่วไปก็คงไม่ลำบาก แต่เผอิญอัตราแลกเปลี่ยนนี้ไปกระทบโดยตรงกับราคาสินค้าในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันเชื้อเพลิงและอาหาร ซึ่งลาวนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนลาวทุกคนจึงมีรายได้ที่แท้จริงลดลงในทันที และด้วยเหตุดังกล่าวนี้ก้ทำให้อัตราเงินเฟ้อไปเร็วกว่าอัตราการอ่อนตัวลงของค่าเงินในระบบ
มีทางออกระยะสั้นทางเดียวในตอนนี้ที่จะแก้วิกฤตนี้ได้ คือ การทำให้ค่าเงินกีบนิ่ง
สถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้มี 2 วิธี คือ
1. ต้องทำให้ประชาชนและทุกคนในระบบเศรษฐกิจกลับมาเชื่อมั่นในค่าเงินกีบโดยเร็ว ซึ่งยากมาก วิธีออกแคมเปญ # SaveLaoKip ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ลาวเลือกใช้ เพียงแต่ถ้าลุกลามกลายเป็นการต่อต้านประเทศอื่น อาจจะกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
2. ผูกค่าเงินไว้กับเงินสกุลหลักของโลกไปเลย เพราะการทำแบบนี้จะทำให้ค่าเงินกีบนิ่งทันที เดิมทีตอนที่ผมคิดของผมคนเดียว ผมคิดเล่นๆ ว่า เพื่อไม่ต้องกังวลกับค่าเงินอ่อนแล้วไปส่งผลต่อเงินเฟ้อ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ เปลี่ยนมาใช้เงินบาทให้หมดประเทศไปเลย เพราะอย่างไรเสียลาวก็ใช้เงินบาทเป็นสกุลหลักสกุลหนึ่งอยู่แล้ว ทั้งรายได้จำนวนมากของประเทศก็เป็นเงินบาท รายจ่ายจำนวนมากก็เป็นบาท และที่หมุนเวียนกันในประเทศจำนวนมากก็เป็นบาท
แต่พอได้ฟัง อาจารย์ปิติ ศรีแสงนาม ให้สัมภาษณ์แล้ว ก็เห็นด้วยกับอาจารย์ว่าให้ผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐ เพราะพอมานั่งคิดอีกที ถ้าหันมาใช้บาทแทนเลยหรือแม้แต่ผูกกับบาทก็จะทำให้ลาวเสียศักดิ์ศรีและอีกอย่าง การผูกกับสกุลที่ไม่ใช่สกุลหลักของโลกแม้จะค้าขายด้วยมาก เช่น บาท จะกลายเป็นว่า ลาวมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและนโยบายของประเทศไทยแทน
อย่างไรก็ตาม นโยบาย fix ค่าเงินนี้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อลาวต้องมีเงินตราต่างประเทศที่พร้อมจะให้คนที่ต้องการเอากีบมาแลก แลกได้ไม่จำกัด ไม่ว่าเวลาไหน เท่าไร ถ้าทำแบบนี้ได้ ไม่นาน ความเชื่อมั่นจะกลับมาทันที
แต่ปัญหาคือ จะหาเงินจากไหน
นักวิชาการหลายท่านในประเทศไทยเสนอให้ใช้เงินของกองทุนที่ตั้งขึ้นมาภายใต้ Chiangmai Initiative ซึ่งมีเงินในกองทุนอยู่ 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่เกินพอสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างลาว และในกรณี worst case ถ้าคนลาวเอากีบมาแลกเป็นดอลลาร์หรือบาทจนกีบหมดประเทศ ก็ไม่เป็นไร ก็ dollarize ไปเลย เหมือนกับที่ Javier Milei ประธานาธิบดีของอาร์เจนติน่าอยากจะทำ เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้กับอาร์เจนติน่า ซึ่งประเทศลาวทำได้ง่ายกว่ามาก
แต่ในความเป็นจริงคงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะด้วยความเคยชินของคนและข้อจำกัดหลายอย่าง จะทำให้ในที่สุด การตื่นแลกเงินกีบเป็นดอลลาร์จะหยุดลงและกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และเมื่อถึงเวลานั้น หลังจากความเชื่อมั่นในเงินกีบกลับมาแล้ว เพื่อให้สกุลเงินที่หมุนเวียนในประเทศเหลือแต่เพียงกีบอย่างเดียวเป็นหลัก รัฐบาลลาวก็สามารถออกกฎหมายบังคับให้ผู้ที่ได้เงินต่างประเทศเมื่อนำเงินเข้ามาในลาว ต้องนำมาแลกเงินกีบทันที่หรือภายในเวลาที่กำหนด ดังเช่นที่หลายประเทศเคยทำในอดีต รวมทั้งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ระบบนี้มีข้อเสียคือ ต่อไปภายภาคหน้า หากลาวต้องการใช้นโยบายการเงินเพื่อบริหารจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศจะทำไม่ได้ เพราะปริมาณเงินที่หมุนเวียนในประเทศจะขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของเฟดหรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลง ปริมาณเงินในระบบจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเฟดทั้งสิ้น
ดังนั้น เมื่อสถานการณ์กลับคืนเป็นปกติแล้ว ลาวก็ค่อยๆ เปลี่ยนระบบปริวรรตเงินตรากลับมาเป็นแบบลอยตัว พร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจซึ่งในระยะยาว เป็นทางเดียวที่จะทำให้ทุกประเทศอยู่รอด
ไม่เว้นแม้แต่ไทย ที่กำลังเป็นกบต้มอยู่ในขณะนี้
โฆษณา