23 ก.ค. เวลา 02:30 • ธุรกิจ

กรณีศึกษา ซีรีส์วายไทย ธุรกิจเม็ดเงินสะพัด ที่มีโมเดลคล้ายวงการ K-POP

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “ซีรีส์วาย” กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างชื่อเสียงและเม็ดเงินมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์-ซีรีส์ไทย และนักแสดงหน้าใหม่จำนวนมาก
1
แถมยังส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทยได้รับผลดีไปด้วย เนื่องจากกลุ่มแฟนคลับซีรีส์วายในต่างประเทศอย่าง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือฟิลิปปินส์ ต่างก็บินเข้ามาไทยเพื่อติดตามนักแสดงที่พวกเขาชื่นชอบ
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ
สำหรับคนที่ไม่รู้จัก ซีรีส์วาย (Y) เป็นคำศัพท์ที่มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น ย่อมาจากคำว่า Yaoi ใช้ในวงการนิยายและการ์ตูน ถ่ายทอดความสัมพันธ์ ความรักระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย เกิดขึ้นครั้งแรกในยุค 1970
ส่วนในประเทศไทย ซีรีส์วายเรื่องแรก ๆ ที่จุดประกายให้คนหันมาสนใจเรื่องราวตัวละครชายรักชาย เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2014 กับซีรีส์เรื่อง “Lovesick The Series” แสดงโดย คุณไวท์-ณวัชร์ และคุณกัปตัน-ชลธร
1
จากนั้นการนำเสนอความรักในรูปแบบชายรักชาย ก็เริ่มมีพื้นที่ในสื่อปรากฏให้เห็นมากขึ้น
จนมาถึงความสำเร็จของซีรีส์ “เพราะเราคู่กัน 2gether The Series” ในค.ศ. 2020 ที่เกิดตำนานคู่จิ้นไบร์ท-วิน ที่มีกระแสโด่งดังไปถึงต่างประเทศ และยังคงความปังมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน ซีรีส์วายเป็นตลาดที่เม็ดเงินสะพัด สร้างรายได้ไม่รู้จบ เพราะเมื่อซีรีส์จบ ยังมีธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย เช่น ธุรกิจโฆษณา อิเวนต์ ท่องเที่ยว และแบรนด์ต่าง ๆ
เพราะด้วยชื่อเสียง และฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นนี้ เราจะเห็นแบรนด์หรูระดับโลกที่มาจ้างนักแสดงที่ประสบความสำเร็จจากซีรีส์วาย มาเป็น Brand Ambassador กันทีละราย ตัวอย่างเช่น
1
คุณวิน เมธวิน กับแบรนด์ Prada
คุณไบร์ท วชิรวิชญ์ กับแบรนด์ Burberry
คุณพีพี กฤษฏ์ กับแบรนด์ Balenciaga
หรืออีกตัวอย่างของธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์อย่าง ป้ายโฆษณาในกรุงเทพฯ ที่มีราคาเช่าตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้าน ก็มีกลุ่มแฟนคลับมาซื้อป้ายโฆษณาทำโปรเจกต์ให้ศิลปินในโอกาสต่าง ๆ
ยังไม่รวมธุรกิจสินค้า Official หรือแฟนกูดส์ (Goods) สินค้าเกี่ยวกับศิลปินที่ค่ายทำออกมาขาย เช่น ตุ๊กตา เสื้อผ้า กระเป๋า แท่งไฟ ซึ่งราคาก็ไม่ใช่เบา ๆ เลย
เห็นได้ชัดว่ากลุ่มแฟนคลับเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และพร้อมจะสนับสนุนนักแสดงที่พวกเขาชื่นชอบไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร
2
ตอนนี้ สื่อต่างประเทศก็คาดการณ์ว่าซีรีส์วายจากไทย พร้อมที่จะแข่งขันกับซีรีส์จากเกาหลีใต้ ในการแย่งชิงผู้ชมในเอเชียและทั่วโลก
อีกทั้งมองว่า ซีรีส์วายคือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย เช่นเดียวกับกระแส K-POP ของเกาหลีใต้
ซึ่งหากเราลองวิเคราะห์ดู จะพบว่าทั้ง K-POP และซีรีส์วาย ก็มี 3 สิ่งหลักที่เหมือนกัน
1. การสนับสนุนของค่าย/บริษัท
2. การสนับสนุนของแฟนคลับ
3. การสนับสนุนของรัฐบาล
เริ่มจากค่ายที่มักจะจัดอิเวนต์ โปรโมต ปล่อยคอนเทนต์ในออนไลน์ จัด Fan Meeting ให้แฟนคลับได้ใกล้ชิดกับนักแสดง
ต่อมาคือแฟนคลับ โดยกลุ่มแฟนคลับซีรีส์วายจะมีพฤติกรรมที่คล้ายกับแฟนคลับ K-POP หรือค่อนไปทางอุทิศตนให้กับนักแสดง ไอดอลในดวงใจ
แฟนคลับกลุ่มนี้จะติดตามไปทุก ๆ อิเวนต์ที่นักแสดงไป ตลอดจนการไปรับส่งนักแสดงที่สนามบิน
ตามอุดหนุนซื้อสินค้าทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับนักแสดงที่พวกเขาชื่นชอบอย่างเต็มกำลัง คอยซัปพอร์ตส่งของ และผลักดันนักแสดงของพวกเขาเต็มที่
ไม่ใช่แค่แฟนคลับไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแฟนคลับที่มีกำลังซื้อสูงอย่างแม่จีนด้วย..
โดยนักแสดงที่ดังจากซีรีส์วายอย่าง คุณบิวกิ้น พุฒิพงศ์ ก็เป็นคนไทยคนแรกที่จัด Solo Concert ระดับสเตเดียมในจีน ซึ่งน่าจะกวาดรายได้ให้ Billkin Entertainment ไปไม่น้อย
สุดท้ายคือแรงสนับสนุนจากรัฐบาล อย่างที่รู้กันว่าความสำเร็จของ K-POP ส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเกาหลีใต้อย่างเป็นระบบ
ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเปิดกว้างในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ยิ่งมีเรื่องสมรสเท่าเทียม ก็ทำให้ซีรีส์วายสามารถทำได้อย่างเปิดเผย ไม่มีอะไรปิดกั้น
อีกทั้ง กระทรวงพาณิชย์ ก็มีการร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตซีรีส์วาย นำเสนอสินค้าไทย สถานที่ท่องเที่ยว และวัฒนธรรม ผ่านเนื้อหาซีรีส์ สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ใหม่ครั้งนี้ ส่งเสริมสินค้าไทยสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ ต้องบอกว่าซีรีส์วาย ไม่ได้ถ่ายทอดเพียงความสัมพันธ์ของชายรักชายเท่านั้น เพราะในซีรีส์วายยังรวมถึงซีรีส์ยูริ (Yuri) หรือความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง
ซึ่งซีรีส์ยูริในประเทศไทย ก็มาแรงไม่แพ้กัน หลังการประสบความสำเร็จของซีรีส์ “ทฤษฎีสีชมพู GAP The Series” ที่ส่งนักแสดงหน้าใหม่อย่าง คุณฟรีน-สโรชา และคุณเบ็คกี้-รีเบคก้า โด่งดังเป็นพลุแตก
ปัจจุบันแม้แต่สถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่อย่างช่อง 3 ก็หันมาลงแข่งตลาดยูริ ด้วยการส่งดาราดาวรุ่งอย่าง คุณหลิงหลิง-ศิริลักษณ์ และคุณออม-กรณ์นภัส กับซีรีส์ “ใจซ่อนรัก”
มาถึงตรงนี้จะได้ว่า ซีรีส์วาย-ยูริ สามารถสร้างมูลค่าให้ธุรกิจหนังกลับมาสร้างกำไรมหาศาล แถมยังแผ่เม็ดเงินขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ได้เป็นกอบเป็นกำ
คงต้องดูกันต่อว่าซอฟต์พาวเวอร์นี้จะไปได้ไกลแค่ไหน และจะมีหมัดเด็ดอะไรมาโกยคะแนนความนิยมจากผู้ชมทั่วโลก
ใครจะรู้ว่า วันหนึ่งซีรีส์วายจากไทย
อาจจะมีฐานผู้ชมและกระแสตอบรับ
เทียบชั้นซีรีส์เกาหลีดัง ๆ ก็เป็นได้..
โฆษณา