20 ก.ค. เวลา 00:35 • ความคิดเห็น

“ความลับ” เราควรปิดมันไว้ หรือเปิดเผยดี?

จำได้ไหม ตอนที่เรายังเด็ก เราชอบซุบซิบกระซิบกระซาบกับเพื่อนๆ ว่าเรามีความลับจะบอก เป็นความลับที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้ เพื่อนก็จะรู้สึกตื่นเต้นและตั้งใจฟังเรื่องนั้น ทั้งที่บางทีมันก็เป็นแค่เรื่องเล็กน้อยอย่าง “ฉันแอบกินขนมเพื่อน” “ฉันแอบชอบเพื่อนคนหนึ่ง”
พอโตขึ้นมา ความลับของเราก็เปลี่ยนไป อาจเป็นเรื่องงาน ความรัก หรือแผนการในอนาคต บางคนก็จดเรื่องราวความลับนี้ไว้ในสมุดบันทึกหรือโน้ตไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว โดยไม่เคยเปิดเผยความลับให้กับใครได้รู้
ทั้งนี้มนุษย์เรามักมีความลับก็ด้วยเพราะต้องการพื้นที่ส่วนตัว ต้องการความปลอดภัย เพราะหากข้อมูลบางอย่างถูกเปิดเผยก็อาจทำให้เกิดอันตรายหรือสร้างความเสียหายได้ บางครั้งก็เพราะต้องการสร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจในด้านการแข่งขันที่ไม่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญหลุดรอดไปถึงหูคู่แข่ง หรือบางครั้งเรื่องราวบางเรื่องเก็บเป็นความลับไว้ก็อาจช่วยรักษาความสัมพันธ์หรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นได้
ด้วยเหตุนี้เราส่วนมากจึงมักมีความลับกันไม่มากก็น้อย บางคนมีความลับหรือชอบเก็บความลับไว้เยอะมากๆ ก็อาจสร้างความเครียดเพราะต้องระวังว่าจะหลุดอยู่ตลอดเวลา หรือบางครั้งก็กังวลกลัวไปเอง ทั้งที่หากเราลองเล่าให้กับคนที่รักเรา คนที่เราไว้ใจได้ฟัง พวกเขาก็อาจให้คำปรึกษาที่ดีกับเราได้
แต่ในทางกลับกันคนที่ชอบเปิดเผยความลับให้คนอื่นรู้หมด มันก็ทำให้ข้อมูลหรือเรื่องนั้นกลายเป็นเรื่องไม่ลับอีกต่อไป ซึ่งมันอาจส่งผลเสียต่อตัวเองต่อธุรกิจการงาน จนทำให้ตัวเราไม่น่าเชื่อถือ รวมทั้งไม่มีใครไว้ใจเราอีกได้เช่นกัน
การที่เรามีความลับไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราควรรู้ว่าเรื่องไหนควรเปิดเผยกับใครบางคน เรื่องไหนควรบอกคนที่เราไว้ใจ และเรื่องไหนที่เราต้องเก็บเป็นความลับไม่บอกใคร
อาจกล่าวได้ว่าการจัดการกับความลับเป็นศิลปะอย่างหนึ่งก็เป็นได้ครับ
โฆษณา