20 ก.ค. เวลา 02:02 • การศึกษา

วันนี้ วัน อาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันหมุนธรรมจักรครั้งแรกของพระพุทธเจ้า

ทรงแสดงอริยสัจ 4 โดยกล่าวถึง
เส้นทางสุดโต่ง 2 เส้นทาง
การหมกมุ่นกับความสุขทางกาม หรือ
กามสุขัลลิกานุโยค
(กา-มะ-สุ-ขัน-ลิ-กา-นุ-โยก)
และ สุดโต่งอีกฝั่งคือ การทำกายให้ลำบาก ทรมานร่างกายให้เหน็ดเหนื่อย หรือ อัตตถิลมถานุโยค (อัด-ตะ-กิ-ละ-มะ-ถา-นุ-โยค)
ซึ่งทางสุดโต่งทั้งสองนี้ เป็นของชาวบ้านไม่ใช่ของพระอริยะ
แล้วจึงทรงแสดงทางสายกลางคือ อริยมรรคมีองค์ 8 อันได้แก่
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง
สัมมาสังกัปปะ ความคิดที่ถูกต้อง
สัมมาวาจา มีวาจาที่ถูกต้อง
สัมมากัมมันตะ มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง
สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง
สัมมาวายามะ ความเพียรที่ถูกต้อง
สัมมาสติ มีสติที่ถูกต้อง
สัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่นที่ถูกต้อง
จากนั้นทรงแสดงว่า
1 . ทุกข์ : อุปทาน ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 คือ ตัวทุกขอริยสัจ ไม่ใช่ตัวขันธ์ 5 หรือ ตัวจิต (การทรมานร่างกายจึงไม่มีประโยชน์อันใด)
2. สมุทัย เหตุของการเกิดทุกข์ คือ ตัณหา หมายถึง ความทะยานอยาก และเพลิดเพลินในอารมณ์
ตัณหา ยังแบ่งเป็นสามประเภท ได้แก่
กามตัณหา คือความอยากทางกาม คือ ทางสัมผัสทั้ง 5 ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ภวตัณหา คือ ความอยากในภพ อยากเป็นอมตะ อยากคงอยู่ตลอดไป อยากเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ยังไม่อยากนิพพาน เป็นต้น
วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากในภพ เช่น ไม่อยากเกิดแล้ว อยากไปจากร่างกายนี้ อยากนิพพาน อยากดับตัวตนตัวเอง
เป็นอันว่าแม้แต่ “ความอยากนิพพาน”
เอง ก็นับเป็นตัณหา หรือ ตัวสมุทัยเหมือนกัน
กระบวนการของสมุทัยมีรายละเอียดใน “ปฏิจจสมุปบาท” แต่ยังไม่ทรงแสดงในปฐมเทศนา
3. นิโรธ ความดับของตัณหา ก็คือการดับของสมุทัย เป็นความหมายเดียวกับ “นิพพาน” (ไวพจน์)
4. มรรคมีองค์ 8 (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) หนทางดับ“เหตุแห่งทุกข์” ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ย่อเหลือ 3 :ศีล สมาธิ ปัญญา
การให้เกิดมรรคมาจากการปฏิบัติ สติปัฏฐาน 4 เป็นทางสายเอก เพื่อเจริญ วิปัสนาญาณ เท่านั้นจึงจะเกิดมรรคจากภาวนามยปัญญา
การแสดงธรรมครั้งนี้ส่องสว่างไปยังเทวดา 6 ชั้น ไปถึงพรหมโลก ยกเว้น อสัญญีสัตตาพรหม (พรหมไร้จิตมีแต่กาย) และ อรูปพรหม (ไม่มีกายมีแต่จิต) ที่มีสภาพรับรู้อะไรไม่ได้แล้ว แน่นนิ่งเสวยวิบากจากฌานแบบนั้น
เจริญในธรรม
โฆษณา