20 ก.ค. เวลา 15:23 • สุขภาพ

ปรากฏการณ์ Music-evoked memories เมื่อแผลใจกลับมาใหม่ในบทเพลง

เคยมั้ย เวลาเราเดินไปตามท้องถนน ห้างร้าน เดินผ่านงานแสดงดนตรี แล้วมีเพลงลอยเข้ามาในหู เพลงที่เราไม่คาดคิดว่าจะได้ยิน
แล้วภาพความทรงจำเก่าๆก็ลอยขึ้นมา ค่ำคืนที่มีความสุขหรือแสนเศร้า ที่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน ก็เรียกน้ำตา และพาเราย้อนกลับไปถึงคืนวันเหล่านั้นได้ในเสี้ยววินาที
ว่าแต่สมองของเราเป็นอะไร ถึงชอบให้เราเจ็บปวด ทนทุกข์ทรมาณกับความทรงจำเก่าที่เราแทบไม่ได้คิดถึงมันแล้ว สิ่งที่อธิบายภาวะดังกล่าวของสมองเรา คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Music-evoked memories"
ก่อนอื่นต้องขออธิบายตัวละครสำคัญในกลไกของ Music-evoked memories
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำงานของสมองของเรา
ตัวแรกคือ ฮิบโปแคมปัส (Hippocampus) เป็นส่วนประกอบที่อยู่ลึกเข้าไปในสมองของมนุษย์ รูปร่างโค้งคล้ายม้าน้ำ อยู่ที่กลีบสมองด้านข้าง เป็นส่วนหนึ่งของ Hippocampal Formation
ฮิบโปแคมปัสมีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่เกี่ยวกับ ความจำ การเรียนรู้ และการสำรวจและการรับรู้สถานที่ โดยรับข้อมูลจากสมอง (Cerebral Cortex) ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับสมองส่วนดังกล่าว มักพบควาามเชื่อมโยงกับโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer)
อีกตัวละครที่มีบทบาทสำคัญคือ อะมิกดาลา (Amygdala) อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับ ฮิบโปแคมปัส รูปร่างคล้ายเม็ดอัลมอนด์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่ด้านล่างของแต่ละซีกของสมอง ภายใน limbic system มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ และความจำ และเกี่ยวข้องกับ ความเครียด การตอบโต้ของร่างกายที่จะสู้หรือถอย เมื่อเผชิญกับสิ่งคุกคาม
โดยปกติแล้ว เมื่อมีเรื่องราวต่างๆผ่านเข้ามาให้เราจดจำ ฮิบโปแคมปัสจะทำหน้าที่สร้างกระแสประสาทชั่วคราว เรียกว่า "ความจำระยะสั้น" แต่เมื่อมีอิทธิพลเชิงอารมณ์เข้ามามีบทบาท เช่น อารมณ์ที่รุนแรง เสียงเพลง หรือสิ่งกระตุ้นที่มีผลต่ออารมณ์อื่นๆ อะมิกดาลาจะมีบทบาทเสริมกับฮิบโปแคมปัส โดยเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆในรูปโมเลกุลโปรตีนขนาดเล็ก นำไปเก็บไว้บริเวณสมองส่วนหน้า(Cerebral cortex) เรียกว่า "ความจำระยะยาว" (ถ้าใครเคยดูการ์ตูนเรื่อง Inside out ให้นึกภาพความจำเป็นลูกแก้วๆ แบบนั้น)
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำให้ในช่วงเวลาที่เลวร้าย ช่วงเวลาที่มีความสุข หรือการสร้างเทคนิคช่วยจำที่มีเพลงหรืออารมณ์ตลกเข้ามาช่วยจึงสร้างความจำระยะยาวได้ดี ในทางกลับกัน การผ่านประสบการณ์ที่เลวร้าย ก็ทำให้ผู้ที่ประสบมีภาวะป่วยทางจิต เช่น โรค PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) หรือ ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ เป็นต้น
จากกลไกที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อเราได้ยินเพลงที่เราอาจเคยฟังในช่วงเวลาที่มีประสบการ์ร่วมบางอย่าง หรือเป็นเพลงในช่วงเวลาเดียวกัน หรือสร้างบริบทที่คล้ายคลึงกัน จะยิ่งทำให้สมองดึงภาพเหตุการณ์จากความทรงจำระยะยาวที่เก็บไว้ออกมา
ดังนั้นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพลงอีก สมองของเราจึงเปิดสวิตซ์ความจำนั้นให้ออกมาอีกครั้ง สมองส่วน Hippocampusและส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น ส่วน Prefrontal cortex และส่วน Precuneus จะร่วมกัน ดึงความจำนี้ออกมาให้เห็น พร้อมกับประสานให้ amygdala สร้างอารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นขึ้นมาอีกครั้ง
ยิ่งถ้าเพลงที่ดีและมีพลังมาก ทั้งทำนองที่สื่ออารมณ์และความหมายของเพลง จะยิ่งตอกย้ำการดึงเหตุการณ์ขึ้นมา และยิ่งฝังความจำนั้นให้ผูกกับอารมณ์ยิ่งขึ้น
ถึงแม้ภาวะดังกล่าวจะไม่อันตรายและเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากใครมีความเสี่ยงที่จิตใจจะจมดิ่งและไม่สามารถหลุดจากความเจ็บป่วยทางจิตใจได้ ลองปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ การใช้ยาและการใช้จิตบำบัดอาจทำให้เรารับมือกับความทรงจำที่เจ็บปวดได้ดียิ่งขึ้น ขอให้รู้ไว้ว่าไม่มีใครต้องต่อสู้เพียงลำพัง ขอเพียงคุณเรียนรู้ที่จะเปิดใจ ให้ทั้งตนเองที่แบกรับมันอยู่ และให้คนอื่นได้มีส่วนช่วยในการช่วยเหลือดูแลคุณ
อ้างอิง
โฆษณา