23 ก.ค. เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ALICE คนที่รายได้ไม่พอใช้ แถมไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะไม่ถือว่ายากจน

เคยไหม เวลาที่รัฐบาลประกาศแจกเงินเยียวยา แบบมีกำหนดเงื่อนไข เช่น เพดานเงินเดือน หรือจำนวนเงินฝากที่ถือครอง
เราผู้ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่แม้จะมีรายได้ไม่สูงมาก จนแทบไม่พอใช้ หรือไม่มีเงินเก็บ
แต่กลับไม่เข้าเกณฑ์ได้รับเงิน ตามที่ภาครัฐตั้งเอาไว้
ถ้าหากเราเคยเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ เท่ากับว่า เราเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ALICE”
แล้ว ALICE คืออะไร และมีที่มาจากไหน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
คำว่า ALICE มีที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยย่อมาจาก Asset Limited, Income Constrained, Employed ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีสินทรัพย์และรายได้ที่จำกัด
โดยถ้าจะให้อธิบายแบบง่าย ๆ ALICE ก็คือคนที่ไม่ได้ถึงกับยากจน โดยยังมีรายได้อยู่บ้าง แต่ก็มากกว่าคำว่ายากจนไม่มากนัก ซึ่งก็อาจยังไม่เพียงพอต่อรายจ่าย
แม้จะมีเงินใช้ชนิดเดือนชนเดือน แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการหรือความช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ
เนื่องจากรายได้ที่มีนั้น เกินกว่าที่รัฐตั้งเกณฑ์ไว้แล้วนั่นเอง
โดยในสหรัฐอเมริกา คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ส่วนใหญ่ก็คือคนที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เช่น พนักงานขาย พนักงานร้านอาหาร พนักงานแคเชียร์ พนักงานบริการลูกค้า พนักงานทำความสะอาด และพนักงานต้อนรับ
2
ซึ่งจากการสำรวจตามครัวเรือนในสหรัฐฯ จะพบว่าคนในกลุ่ม ALICE จะมีอยู่ประมาณ 37 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 29% ของประเทศ
และถ้าเรากลับมามองที่ประเทศไทย หากวัดจากนิยามของ ALICE ว่าเป็นครอบครัวที่มีรายได้ไม่พอต่อรายจ่าย แต่ก็ไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ จะพบว่าตรงกับครอบครัวที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาท แต่น้อยกว่า 50,000 บาท
 
ซึ่งครอบครัวที่เข้าข่าย ก็มีถึง 17.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 73% ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด เลยทีเดียว
6
นอกจากนี้ หากยึดตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งจะเรียกภาวะที่ครอบครัวเหล่านี้ประสบอยู่ว่า “ความยากจนแฝง” หรือหมายถึง ครอบครัวที่ถึงแม้จะไม่ได้เข้านิยามว่ามีความยากจนโดยตรง แต่ก็มี “ความยากจนแฝง” อยู่
ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ เช่น นาย A ที่มีรายได้สำหรับใช้จ่าย มากกว่าเกณฑ์ความยากจนตามที่รัฐกำหนด จึงไม่ถูกนับว่าเป็นคนยากจน และไม่เข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ
แต่เนื่องจาก นาย A เป็นคนที่เข้ามาทำงานในตัวเมือง ซึ่งมักมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง หรือแม้แต่ค่าอาหาร ที่มักจะมีราคาแพง
นาย A จึงเหลือเงินเก็บเพียงนิดเดียวในแต่ละเดือน หรือในบางเดือนอาจไม่พอใช้ จนต้องอดมื้อกินมื้อเลยก็มี
กรณีเช่นนี้ นาย A จึงถือว่าเป็นบุคคลที่มี “ความยากจนแฝง” อยู่ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนยากจนตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนดก็ตาม
หรืออีกกรณีหนึ่ง คือครอบครัวที่มีลูก 2 คน ทำให้ต้องหมดเงิน ไปกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ค่าอาหาร ค่าเรียนหนังสือ จนอาจเหลือเงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
1
กรณีแบบนี้ ก็ถือว่าครอบครัวนี้ กำลังประสบกับภาวะความยากจนแฝงอยู่เช่นเดียวกัน
ทั้ง 2 กลุ่มที่ยกตัวอย่างไปนี้ ก็จะเหมือนเป็นคนกลุ่ม ALICE ที่มักถูกมองข้าม ไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ
3
ทั้งที่จริง ๆ แล้วรายได้ของคนกลุ่มนี้ ก็ไม่ได้เพียงพอสำหรับรายจ่ายในครัวเรือนเลย
จากการสำรวจพบว่า ครัวเรือนที่มีความยากจนแฝงอยู่แบบนี้ มีอยู่ประมาณ 2.9 ล้านครัวเรือน ทั่วประเทศไทย
โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีความยากจนแฝงมากที่สุด
ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา เมื่อรายได้ไม่พอใช้ และไม่ได้รับความช่วยเหลือ ก็คือ การกู้หนี้ยืมสิน
เพราะเมื่อคนเหล่านี้ มีรายได้ไม่เพียงพอ ก็จะไม่มีเงินออมเก็บไว้ ทำให้เมื่อมีเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินกะทันหัน อย่างเช่น ค่ารักษาพยาบาล
คนกลุ่มนี้ ก็มักจะใช้วิธีการกู้เงิน ซึ่งส่วนมาก ก็มักเป็นการกู้นอกระบบ และทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน ที่มีดอกเบี้ยมหาโหดตามมา
มาถึงตรงนี้ เราก็สามารถพอสรุปได้ว่า “ALICE” เป็นเหมือนกลุ่มคนชนชั้นกลางระดับล่าง ที่บางคนแม้จะขยันและทำงานอย่างหนัก
แต่ก็มีรายได้ไม่เพียงพอ และไม่มีสิทธิ์ในการได้รับสวัสดิการหรือความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะรายได้ไม่เข้าข่าย “ความยากจน”
ซึ่งคนกลุ่มนี้ ถ้าโชคดีอย่างมาก ก็สามารถหารายได้เพื่อตอบสนองความจำเป็นในปัจจุบันได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ส่วนเกินเพื่อการลงทุน หรือการเก็บออมสำหรับอนาคตได้เลย..
โฆษณา