Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไฉไลเป็นบ้า
•
ติดตาม
21 ก.ค. 2024 เวลา 12:05 • ประวัติศาสตร์
“ลาวลำปาง” ในเวียงเถิน เมืองโบราณจากบันทึกประวัติศาสตร์
เสน่ห์ของ อ.เถิน ที่คนลำปางก็อาจจะพอรู้มาบ้างคือเป็นเมืองโบราณเคยมีชุมชนตั้งรกราก เชื่อกันว่าน่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 1 พันปี
ความน่าสนใจของเวียงเถินในทางประวัติศาสตร์มีหลายประเด็น อย่างแรกคือ หลังขุดพบคูน้ำคันดิน ที่มีการแบ่งพื้นที่ต่างๆเป็นสัดส่วน หรือที่เราเรียกว่าการวางผังเมือง
ซึ่งผังเมืองนี้เองทำให้นักโบราณคดีสามารถคาดเดาช่วงเวลาที่เวียงเถินดำรงอยู่ได้
หนังสือ “ล้านนาประเทศ” ของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ให้ความรู้ว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 ผังเมืองในสมัยทวารวดี มีการแบ่งผังเมืองออกเป็นชั้นนอกและชั้นใน เนื่องจากพัฒนาการของสังคมมนุษย์มีความซับซ้อนมากขึ้น ผังเมืองชั้นในมักเป็นเขตประกอบพิธีกรรมทางศานา หรือเป็นที่อาศัยของเจ้าเมือง
ในขณะที่ผังเมืองแบบสี่เหลี่ยมที่มีคูน้ำคูดินล้อมรอบ ได้รับอิทธิพลจากขอมราวพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ซึ่งยึดจากคติเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของโลก และจะต้องมีศาสนสถานสำคัญอยู่กลางเวียง
ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีผังเมืองเวียงเถินที่เป็นคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีลักษณะของเวียงอยู่ถึงสามแห่ง ได้แก่ เวียงเถิน อยู่ศูนย์กลาง แล้วมี #เวียงป้อม กับ #เวียงเป็ง เป็นบริวาร
หนังสือล้านนาประเทศ ยังอธิบายคำว่า “เวียง” ซึ่งเป็นภาษาล้านนา มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าเมือง โดยหลาย ๆ เวียงอาจอยู่ในระยะห่างจากกันไม่มาก และขึ้นตรงต่อเวียงใหญ่เวียงหนึ่งที่เป็นศูนย์กลาง
บรรดาเมืองใหญ่ๆในล้านนา เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และเชียงแสน ก็มักจะพบเวียงบริวารอยู่ใกล้ ๆ เช่นกัน
หลายๆเวียงรวมกันจะเรียกว่า “นคร”
เวียงเถินจึงไม่ใช่แค่ชุมชนที่เคยมีคนอาศัยเท่านั้น แต่เป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งในอาณาจักรล้านนา
ในการขุดค้นสำรวจของนักโบราณคดีที่ “วัดเวียง” พบว่ากำแพงเดิมนั้นทำมาจากดิน เมื่อนำผังเมืองมาเทียบแล้วก็ทำให้ทราบว่าวัดเวียงเคยเป็นจุดศูนย์กลางของเวียงเถินมาก่อน
ทั้งกำแพงของวัดที่เห็นอยู่ในปัจจุบันและกำแพงที่วัดสร้างด้วยดินสองชั้น รวมถึงคูเมืองหรือที่เรียกว่า “คือเมือง” ล้อมรอบอีกชั้นหนึ่งในเมือง
ด้วยความเป็นเวียงนี่เองจึงทำให้มีสถานที่ต่างๆเช่น บ้านเวียง วัดท่าเวียง เวียงมอก ฯลฯ ปรากฏอยู่ใน อ.เถิน มาจนถึงปัจจุบัน
จากข้อมูลของ อ.ศรีศักร กับหลักฐานต่างๆที่พบใน อ.เถิน (ผู้เขียน-แอดมิน) คิดว่าผังเมืองเวียงเถินน่าจะได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรขอมโบราณ ราวๆพุทธศตวรรษที่ 10 จึงมีความเป็นไปได้ว่าเวียงเถินถูกสร้างขึ้นหลังจากที่ขอมเรืองอำนาจ ระหว่าง พ.ศ.1000-1500 หรือไม่น้อยกว่า 1,000 ปีที่แล้ว
#ตำนานเวียงเถิน
เล่าต่อๆกันมามีพระภิกษุเดินไป “ม่อนงัวนอน” และได้ไปขุดพบหลามคำแผ่นหนึ่งจารึกเป็นอักษร ขอม เมื่อนำมาให้ครูบาอาทิตย์อ่านดูจึงรู้ว่ามีพระธาตุอยู่ 3แห่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้กะปันนะไว้ จึงได้ชักชวนกันค้นหาและพบพระธาตุเจดีย์ 3 แห่งดังกล่าว จึงได้ช่วยกันบูรณะซ่อมแซมจนเป็นปูชนียสถานที่สำคัญสืบมา ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง เมืองนี้มีชื่อว่า “เมืองสังฆะเติ๋น”
คำว่า ”เติ๋น” แปลว่า เตือน หรือบอกให้คล้ายกับว่า พระสงฆ์เตือน คือพระสงฆ์ปกครองบ้านเมืองนั้นเอง ใครคิดจะทำอะไรต้องปรึกษาพระสงฆ์ก่อน ถ้าพระสงฆ์อนุญาตจึงจะทำได้ ถ้าพระสงฆ์ไม่อนุญาตก็กระทำไม่ได้
ต่อมาเหลือเพียงคำว่า “เถิน”เพียงคำเดียว
#ภูมิศาสตร์เมืองหน้าด่าน
อ.เถิน ตั้งอยู่ทางใต้ของตัวเมืองลำปางเชื่อมต่อเขตปกครองมากมาย ทั้งอำเภอร่วมจังหวัดลำปาง จ.แพร่ ,สุโขทัย ,ตาก และลำพูน
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองเถินเป็นชุมทางสำคัญที่สามารถไปยังหัวเมืองอื่น ๆ ได้สะดวก และกลายมาเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนา
จากตัวเมืองเถินลัดเลาะตามแม่น้ำวังมุ่งสู่ทิศเหนือจะเดินทางไปถึงเมืองลำปาง
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีเส้นทางข้ามช่องเขาผ่าน ลำน้ำลี้ สามารถติดต่อชุมชนในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ได้
ส่วนเส้นทางการค้าโบราณจากเมืองเถินที่ติดต่อกับสุโขทัยผ่าน ลำน้ำแม่มอก ทางทิศใต้
และมีลำน้ำอีกหนึ่งสายที่ใช้เป็นเส้นทางไปเมืองแพร่ ชื่อ ห้วยแม่ปะ
ลำน้ำวังที่ไหลลงมาจากเมืองลำปาง ซึ่งจะไปบรรจบกับลำน้ำปิงในเขต อ.บ้านตาก จ.ตาก
การเป็นชุมทางการคมนาคมสมัยโบราณมีส่วนให้เมืองเถินกลายเป็นเมืองสำคัญทั้งแง่ยุทธศาสตร์และการติดต่อค้าขายกับหัวเมืองทั้งหลายในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิง วัง และยม ซึ่งตัวเมืองเถินตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำวังที่ไหลลงมาจากเมืองลำปาง ซึ่งจะไปบรรจบกับลำน้ำปิงในเขต อ.บ้านตาก จ.ตาก
ในด้านเศรษฐกิจ เมืองเถินเติบโตจากที่ตั้งระหว่างอาณาจักรการค้าทางบกที่สำคัญคือ ล้านนา และสุโขทัย บริเวณนี้จึงเป็นจุดแลกเปลี่ยนไหลเวียนสินค้าที่สำคัญ
ในยุคสมัยหนึ่งเมืองเถินเป็นที่รู้จักจากสินค้ามีชื่อเสียงที่เรียกว่า แก้วโป่งข่าม ซึ่งเชื่อว่าเป็นหินแก้วผลึกศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนในท้องถิ่นมักขุดมาขายเพื่อเจียระไนเป็นหัวแหวน ความนิยมในหินธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นแก้วผลึกนี้ปรากฏตั้งแต่สมัยล้านนา เห็นได้จากวัฒนธรรมการสร้างพระพุทธรูปรูปจากแก้วผลึก เช่น พระแก้วมรกต พระแก้วขาว เป็นต้น
ข้อสันนิษฐานของแอดมิน คาดว่าสมัยที่เวียงเถินยังรุ่งเรืองอยู่ได้มีการสร้างกำแพงเวียงไว้ที่บ้านหอรบ ซึ่งปัจจุบันยังคงเหลือหลักฐานกำแพงให้เราได้เห็นอยู่
#เมืองเถินในเหตุเสียกรุงครั้งที่1
มีบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งพม่ายกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ พม่าได้มาบูรณะวัดเวียง โดยเกณฑ์พวกญวนมาเป็นช่างสร้างวิหารให้ใหญ่กว่าเดิมรวมทั้งอุโบสถและซุ้มประตู
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ยกทัพมา และสามารถขับไล่พม่าให้ถอยกลับไป วัดเวียงจึงเป็นวัดร้างอีกครั้งหนึ่ง
ตลอดเวลาที่มีศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า เมืองเถินโดยเฉพาะที่วัดเวียงนั้นกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามีต้นไม้ขึ้นปกคลุมจนมองไม่ออกว่ามีพระธาตุบรรจุอยู่
ประวัติศาสตร์ล้านนาบันทึกช่วงนี้ว่า ครูบาอาทิตย์ได้ธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่เมืองร้าง ( วัดเวียง ) นำญาติบ้านเดียวกับท่านคือ บ้านปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง มาตั้งบ้านเรือนใกล้ๆวัด ช่วยกันบูรณะดูเป็นวัดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2192
การบูรณะครั้งนั้นทำให้วัดเวียง มีลักษณะคล้ายวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดปงยางคก และวัดไหล่หิน
#ลาวลำปาง
จะเห็นได้ว่าชื่อของเวียงเถินหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง ก่อนจะถูกบันทึกอีกครั้งในคราวที่ลำปางอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรหงสาวดี
ช่วงนี้เองที่มีคำว่า “ลาวลำปาง” ซึ่งหมายถึงชาวเมืองเถินที่มีเชื้อสายลำปางผสมกับคนพม่า ดังปรากฏว่าพบหลักฐานทางวัฒนธรรมพม่าใน อ.เถิน ปัจจัยหนึ่งเกิดจากล้านนาถูกพม่าปกครองอยู่เป็นเวลานาน ถูกใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพในห้วงสงครามอยู่เสมอ
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าในเวลาต่อมาเมืองเถินจะได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรที่เข้ามายึดครองล้านนาทั้ง อยุธยาและพม่า
ในการสงครามระหว่างอยุธยากับพม่าหรือสงครามที่เกี่ยวข้องกับล้านนา บริเวณเมืองเถินจะเป็นเส้นทางเดินทัพหลัก ในยุคสมัยที่เกิดสงครามต่อเนื่อง เช่น สงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 ประชาชนที่เดือดร้อนจากภัยสงครามในเมืองจึงมักอพยพหนีไปอยู่ตามป่าเขา ปล่อยให้เมืองเถินเป็นเมืองร้างอยู่ระยะเวลาหนึ่ง
#เมืองเถินหลังเสียกรุงครั้งที่2
ประวัติศาสตร์ล้านนาและพงศาวดาร มีบันทึกที่ค่อนข้างตรงกันว่า หลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 เจ้านายเชื้อเจ้าเจ็ดตน มีเจ้ากาวิละเป็นผู้นำสวามิภักดิ์พระเจ้าตากสินมหาราช ระดมพลที่เมืองเถิน ทยอยตีหัวเมืองล้านนาใต้อำนาจพม่าจากใต้ขึ้นเหนือไปถึงเชียงใหม่ สถาปนาล้านนาภายใต้อำนาจกรุงธนบุรีแทนที่พม่า
สมัยกรุงเทพฯ แผ่นดินรัชกาลที่ 1 หลังสถาปนาพระเจ้ากาวิละเป็นพระเจ้าเชียงใหม่จึงกวาดต้อนผู้คนที่เคยเทครัวครั้งหนีภัยสงครามให้กลับมาอยู่อาศัยบริเวณเมืองเถินทำให้กลับมาเป็นหัวเมืองชุมทางที่พลุกพล่านอีกครั้ง
#เมืองเถินในสมัยรัชกาลที่1
หลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว สยามกับพม่ายังมีศึกสงครามอยู่เนืองๆ พงศาวดารบันทึกไว้ว่า พ.ศ. 2345 รัชกาลที่1และ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพมาขับไล่พม่าที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเสด็จมาถึงเมืองเถิน กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราช หรือวังหน้า ก็ทรงพระประชวรโรคนิ่ว ต้องประทับรักษาพระองค์โดยมีกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทรงพยาบาลพระอาการอยู่
ต่อมาเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล เพื่อทรงพยาบาลสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจนกระทั่งพระอาการประชวรกำเริบและได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุขในหมุ่พระวิมาน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 พระชนมายุ 60 พรรษา
นั่นคือเรื่องราวของเมืองเถินที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
#ตำนานความเชื่อจากสังฆะเติ๋น
มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาใน อ.เถิน หลังจากครูบาอาทิตย์พบพระธาตุทั้ง 3 แล้ว คือ
“เดือนห้าเป็ง (เพ็ญ) เหนือ ให้สรงน้ำพระธาตุเจ้าวัดเวียง
เดือนเจ็ดปีใหม่พญาวันให้พากันไป สรงน้ำพระธาตุวัดอุมลอง
พอถึงเดือนแปดเป็ง (เพ็ญ) ให้พากันไปสรงน้ำพระธาตุเจ้าวัดดอยป่าตาล
และให้พากันบำรุงรักษากราบไหว้ทั้งสามวัด บ้านเมืองจัดรุ่งเรืองตลอดทั้งฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าจักงอกงาม
หากพากันเพิกเฉยเสียบ้านเมืองจะแห้งแล้งข้าวกล้าในนาจะ เหี่ยวแห้งฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล”
และนี่คือเรื่องราวเวียงเถินที่ทางแอดมินพอจะรวบรวมข้อมูลที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์จากหลายๆแห่ง ตั้งแต่สมัยโบราณกว่าจะมาเป็น อ.เถิน ในปัจจุบันนี้
ปล. หากผิดพลาดตรงไหนหรือบกพร่องในการหาข้อมูล ไม่ได้ให้เครดิตภาพมาอ้างอิงต้องขออภัยเป็นอย่างสูงครับ
#ข้อมูลอ้างอิง
https://www.silpa-mag.com/history/article_35818
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย