21 ก.ค. เวลา 13:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เจาะลึกสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ (บำเหน็จ/บำนาญ) ของประกันสังคม มาตรา 39

เมื่อวาน #เด็กการเงิน ได้เจาะลึกสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ (บำเหน็จ/บำนาญ) ของ ม.33 ไปแล้ว วันนี้ขอมาเจาะลึกของ ม.39 กันต่อ
เราจะได้บำเหน็จหรือบำนาญของ ม.39 นั้นก็ขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่เราส่งเงินมา และถ้าเราเลือกรับประโยชน์ส่วนนี้แล้ว เราจะเสียสิทธิรักษาพยาบาลไป แต่เราสามารถหันไปใช้สิทธิบัตรทองได้เช่นกัน
📌📌 ม.39
สำหรับผู้ที่เคยมี ม.33 ที่ส่งเงินมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน แล้วลาออกจากงาน หากต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมต่อ สามารถสมัครประกันสังคม ม.39 ต่อได้ภายใน 6 เดือน หลังออกจากงานโดยต้องส่งเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน (5,184 บาทต่อปี) และได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณี ได้แก่
1) เจ็บป่วย
2) ทุพพลภาพ
3) เสียชีวิต
4) คลอดบุตร
5) สงเคราะห์บุตร
6) ชราภาพ (บำเหน็จ/บำนาญ)
🌟 กรณีชราภาพคือเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพของประกันสังคม กล่าวคือไม่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลและอื่นๆ แล้ว แต่จะได้รับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญแทน แล้วแต่กรณี
📍ม.39 จะคิดที่ฐานเงิน 4,800 บาทเท่านั้น แต่หาก 60 เดือนสุดท้ายมีทั้ง ม.33 และ ม.39 ทางประกันสังคมจะเฉลี่ยให้ ซึ่งกรณีชราภาพของ ม.39 มี 3 กรณีดังนี้
กรณีที่ 1️⃣ จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเกิน 15 ปี (เกิน 180 เดือน) มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเมื่อความเป็นผู้ประกันตกสิ้นสุดลง (ลาออก) (ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนนั้นจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม)
กรณีนี้จะได้รับเงินเกษียณจากประกันสังคมเป็นเงิน “บำนาญ” (ได้รับเงินรายเดือนใช้ตลอดชีวิต)
โดยจะได้เป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (คิดที่ฐาน 4,800 บาท หรือถ้าหากมีช่วงเวลาที่จ่าย ม.33 ด้วย ก็นำมาคำนวณร่วมด้วยตามฐานจริง)
ขอคิดที่ฐาน 4,800 บาท จะได้บำนาญต่อเดือนเท่ากับ 20%x4,800 = 960 บาท
แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินเกษียณเพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน (ถ้ามีเศษเกินจะถูกปัดทิ้งเสมอ เช่น ถ้าสะสมมา 20 ปี 9 เดือน ก็คิดแค่ 20 ปี)
ดังนั้น ถ้าหากจ่ายมา 20 ปี (จ่ายเพิ่มมา 5 ปี เงินเกษียณจะเพิ่มอีก 1.5%x5) และคิดที่ฐาน 4,800 บาท จะได้บำนาญต่อเดือนเท่ากับ [20%+(1.5%x5)]x4,800 = 1,320 บาท
ถ้าหากจ่ายมา 25 ปี จะได้บำนาญ 1,680 บาทต่อเดือน
ถ้าหากจ่ายมา 30 ปี จะได้บำนาญ 2,040 บาทต่อเดือน
กรณีที่ 2️⃣ จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเกิน 1 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี | ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (ลาออก) | อายุครบ 55 ปี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต (เกิน 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน ซึ่งระยะเวลาจะต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ได้)
กรณีนี้จะได้รับเงินเกษียณจากประกันสังคมเป็นเงิน “บำเหน็จ” (ได้รับเงินก้อนครั้งเดียว)
บำเหน็จที่จะได้รับจะเท่ากับเงินสมทบที่จ่ายรวมกับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
กรณีที่ 3️⃣ จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน | ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (ลาออก) | อายุครบ 55 ปี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
กรณีนี้จะได้รับเงินเกษียณจากประกันสังคมเป็นเงิน “บำเหน็จ” (ได้รับเงินก้อนครั้งเดียว)
บำเหน็จที่จะได้รับจะเท่ากับเงินสมทบที่จ่ายไป
นอกจากนี้ประกันสังคมทุกมาตราสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้
🎯เราหวังว่าทุกคนคงหายข้องใจกันเเล้วว่าเงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปทุกเดือนนั้นมีประโยชน์หรือไม่ เมื่อดูตัวเลขที่เราจะได้รับแล้วนั้นก็ไม่น้อยเลยนะ ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันเราได้ เงินนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่าลืมบริหารจัดการเงินในส่วนอื่นด้วย จะได้เกษียณอย่างมีความสุข
📍ทั้งนี้หากลาออกจากประกันสังคมเพื่อรับเงินชราภาพ จะทำให้เราเสียสิทธิการรักษาพยาบาล ทำให้เราต้องไปใช้สิทธิบัตรทอง หรือประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุของตนเองแทน หากไม่มีที่กล่าวมานี้ ก็ต้องออกค่ารักษาพยาบาลเอง
📍หากตัดสินใจลาออกจากกองทุน ต้องติดต่อประกันสังคมเพื่อขอรับผลประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์การขอรับบำเหน็จ บำนาญ
📱ประกันสังคมก็มีแอพพลิเคชัน SSO Connect ให้ทุกคนโหลดมาเพื่อติดตามดูข้อมูลเงินสมทบของเรา และเรื่องอื่นๆได้ด้วย
LINETODAY 👉https://today.line.me/th/v2/publisher/10240
โฆษณา